ข่าว

หนักใจ "รัฐกรณ์" แนะสพฐ.สำรวจ ครูพร้อม รับมือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือไม่

15 ก.ย. 2564

ครูต้องเปลี่ยน "รัฐกรณ์" เห็นใจสพฐ.ต้องทำงานหนัก แนะสำรวจ ครูพร้อม รับมือหลักสูตรฐานสมรรถนะ เร่งสร้างความเข้าใจ นี่คือเทรนโลก แต่ไทยมองเป็นเรื่องใหม่ ทั้งที่มีมานานแล้ว หากทำสำเร็จนักเรียนได้ประโยชน์สูงสุด

จะเดินหน้าไปต่อก็ลำบาก จะถอยหลังก็ไม่ได้ นี่คือสภาพของการจัดการศึกษาตามแบบ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ในสถานศึกษาสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตามนโยบายของนางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)  เมื่อมีทั้งแรงต้าน และหนุนจากครู องค์กรครู และนักวิชาการบางกลุ่ม

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา(มรภ.นครราชสีมา) เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ พูดตรงๆ ว่าปัจจุบันเป็นแนวโน้มการศึกษาทั้งโลก เป็นเทรนของโลกทุกวันนี้ เมื่อความรู้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เรื่องของความสามารถหรือสมรรถะะเป็นสิ่งที่จำเป็นของโลก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

"เมื่อก่อนยุคใบปริญญา เรียนจบก็ยื่นใบปริญญาสมัครงานได้ แต่ปัจจุบันและอนาคตโลกเปลี่ยนไป ใบปริญญาแทบไม่มีความหมาย เมื่อองค์กร หรือหน่วยงานเวลาจะรับคนเข้าทำงาน  จะรับคนตามคุณสมบัติที่เขาต้องการ วัดจากความรู้ ความสามารถ ทักษะชีวิตที่สำคัญมีสมรรถนะตรงตามกับงานที่เขาต้องการหรือไม่" รศ.ดร.รัฐกรณ์ ระบุ

 

 

เช่นหน่วยงานต้องการรับโปรแกรมเมอร์ ไม่ใช่มีใบปริญญาอย่างเดียว แต่ทำได้ขณะเดียวกันคนไม่มีใบปริญญาแต่มีทักษะทำงานจริงได้ก็รับเข้าทำงาน ไม่ใช่แค่วุฒิปริญญาเท่านั้น"

 

 

สำหรับประเทศไทย หลายอาชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เห็นเด่นชัดเจน เช่น หลักสูตรคณะแพทย์ศาสตร์ หลักสูตรพยาบาล ฯลฯ เหล่านี้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน และมีความเสี่ยงต่อชีวิต หากไม่มีความรู้ได้มาตรฐาน มีทักษะลงมือทำ และที่สำคัญสมรรถนะต้องตรงตามหลักสูตร

 

ส่วนหลักสูตรการผลิตครู ตั้งแต่ปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงเป็นหลักสูตรครู4ปี  ซึ่งเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว นักศึกษาครูที่เรียนต้องมีความรู้ได้มาตรฐานวิชาชีพครู ต้องผ่านการฝึกทักษะอาชีพครูหรือฝึกสอนในสถานศึกษา ที่สำคัญต้องมีสมรรถนะสามารถสอนผู้เรียนได้จริง

 

ว่ากันว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะที่สพฐ.จะนำมาใช้ เน้นหัวใจสำคัญ 3 เรื่องใหญ่คือ 1.หลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก 2.หลักสูตรที่เน้นมาตรฐานและ 3.หลักสูตรที่เน้นเน้นสมรรถะ

 

 

เมื่อย้อนมองหลักสูตรปี 2551 ที่จะถูกยกเลิกไป ความจริงเป็นหลักสูตรที่ดีมาก มีการเน้นมาตรฐานแต่ละช่วงชั้น แต่ละวิชา มีตัวชี้วัด และมีการวัดเนื้อหาสาระความรู้ของเด็กเยอะไปหมด ตังชี้วัดก็สูงมาก ก็เกิดปัญหาเพราะนำมาใช้ไม่ได้จริง เมื่อเด็กต้องเรียนวิชาการเยอะไปหมด แต่ไม่มีสมรรถะตามที่โลกปัจจุบันต้องการ

 

 

เมื่อมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่เน้นเนื้อหาความรู้ แต่เน้นทักษะการทำได้  คือผู้เรียนมีทั้งความรู้  ควบคู่มีทักษะ และพฤติกรรมหรือการแสดงออกว่ามีสมรรถนะ

 

 

ปัญหาคือการที่จะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีมาใช้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการนำไปไปปฏิบัติครูพร้อมแค่ไหน มีความรู้ ความเข้าใจแค่ไหน ในการที่จะไปจัดการเรียนรู้ สพฐ.ต้องเข้าใจก่อนว่ามีครู 600,000 คน  และครูมีหลายรุ่น ช่วงวัยอายุที่แตกต่างกัน 

 

 

"ในอดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ ประกาศเน้นภาษาอังกฤษเด็กต้องสื่อสารได้ภายใน 2 ปี ซึ่งผมก็แย้งไปว่าทำไม่สำเร็จ เพราะครูแตกต่างกันมาก อีกทั้งครูบางคนอีก  3  เดือนจะเกษียณแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ครูบางคนอายุเป็นเพียงตัวเลขพร้อมปรับเปลี่ยน แบบนี้สพฐ.ก็โชคดีไปอย่าลืมว่าการบังคับให้ครูทุกคนต้องอบรม เคยล้มเหลวมาแล้วรัฐต้องสูญเงินจากคูปองการศึกษา แต่ไม่ได้อะไรกลับมา" รศ.ดร.รัฐกรณ์ ระบุ

 

 

ทางออก สพฐ.ควรสำรวจครูพร้อมหรือไม่  กลุ่มครูที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็ปล่อยไป กลุ่มครูที่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็ต้องพัฒนา อายุไม่ใช่ปัจจัย เพราะครูบางคนอายุจะ 60 ปี แล้ว แต่ความคิดความอ่าน วิธีการสอนกลายเป็นคนติดเทรนโลก แต่ครูบางคนอายุ 30 ปี กลายเป็นคนรุ่นเก่าล้าหลังก็มี

 

 

สพฐ.ต้องทำงานหนักสำรวจศักยภาพของครู เมื่อหลักสูตรเปลี่ยน ครูก็ต้องเปลี่ยน สร้างความเข้าใจว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะเมื่อนำมาใช้ได้จริงนักเรียนได้ประโยชน์ ครูต้องปรับวิธีการสอนอย่างไร ชั่วโมงการเรียนของนักเรียนต้องลดลง

 

 

“หัวใจสำคัญของการเรียนหลักสูตรฐานสมรรถนะ  เด็กเรียนวิชาการน้อนลง ไม่ใช่1,000 ชั่วโมงต่อภาคเรียน  เด็กมีเวลากิน เล่น เต้น วาดกับเพื่อนๆ มีเวลาอยู่กับครอบครัว ที่สำคัญวิชาความรู้ที่เด็กเรียนมาเชื่อมโยงกับทุกวิชา หรือบูรณาการ และต้องนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นี่คือความยากของสพฐ.และของครูว่าทำได้หรือไม่  เพราะนี่คือเทรนการศึกษาโลก แต่การศึกษาไทยมองเป็นเรื่องใหม่” รศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว