จากการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (บอร์ด กพฐ.)ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการประธานกรรมการ(ประธานบอร์ด กพฐ.)ปฏิบัติหน้าที่ประธานบอร์ด กพฐ. เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ตรีนุช” ลุ้นเปิดเรียนเต็มรูปแบบ เร่งฉีดวัคซีนให้ครูครบทุกคน
- “เยียวยา2000” พบรร.เอกชน กว่าร้อยละ 94 โอนเงินถึงมือผู้ปกครองแล้ว
- “ตรีนุช” ส่อชะลอหลักสูตรฐานสมรรถนะ แจงไม่อยากเพิ่มภาระให้ครู
รศ.ดร.เอกชัย ได้กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดกพฐ.ว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยกันถึงเรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการควบรวมหรือการเลิกสถานศึกษา ซึ่งเราต้องเร่งรัดให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการดูแลนั้น
ยังมีเรื่องของการเปิดภาคเรียนที่เรามองว่าการจะเปิดภาคเรียนได้เร็ว ไม่ควรห่วงเรื่องการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนเป็นหลัก แต่ต้องดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครูครบ 100% โดยเร็ว
เพราะในแง่ของการติดเชื้อในเด็กจากตัวเลขทางสถิติพบว่ามีอัตราการติดเชื้อแล้ว มีอาการป่วยร้ายแรงหรือเสียชีวิตในจำนวนที่ต่ำ ประมาณ 0.01%
ดังนั้นเมื่อพุ่งเป้าไปที่ครู ให้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 100% การเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนพฤศจิกายนก็น่าจะเป็นไปได้ และไม่ควรบังคับทั้งประเทศว่าต้องเปิดเทอมในเดือนไหน แต่ให้ทาง ศบค.จังหวัด พิจารณาว่าจังหวัดไหนหรือพื้นที่ไหนที่มีการระบาดไม่รุนแรงก็สามารถเปิดเทอมได้
“หรือถ้าหากเปิดไม่ได้ ก็น่าจะมีทางเลือกให้เพิ่มเติม เช่น ให้เด็กมาเรียนสักครึ่งหนึ่งของนักเรียนทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษา สมมุติว่า มีเด็กจำนวน 20-30 คน อาจจะสลับให้มาเรียนวันละ 5-6 คนได้ ครูก็จะได้ดูแลเด็ก ส่วนผู้ปกครองก็จะได้มีความสบายใจว่าเด็กได้มาโรงเรียน อย่างน้อยเด็กได้มาโรงเรียนทุกคนแต่อาจจะมาสัปดาห์ละครั้ง ยังดีกว่าเรียนออนไลน์ 100%”รศ.ดร.เอกชัยกล่าว
ในส่วนของการเปิดภาคเรียน โดยหลักการไม่ควรบังคับให้ทั้งประเทศเปิดและปิดในเวลาเดียวกัน
ส่วนการฉีดวัคซีนก็ต้องคำนึงถึงครูทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะครูคนไทยแต่รวมถึงครูต่างชาติ ที่อยู่ในโรงเรียนทุกสังกัด ก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน
ในขณะนี้ทราบว่า ครูได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 70% หากสามารถฉีดวัคซีนให้ครูได้ครบ 100% ภายในเดือนตุลาคม คาดว่าเดือนพฤศจิกายนก็จะสามารถเปิดภาคเรียนได้
"ขณะที่การฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนนั้น ขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเท่าที่ทราบคือ หากเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง และวัคซีนที่จะได้รับน่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย เพื่อความปลอดภัยในอนาคตของเด็ก แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ดูเหมือนว่า ประธานบอร์ด กพฐ. มองการจะเปิดภาคเรียนหรือปิดภาคเรียน เป็นการมองในมุมของความสบายใจของผู้ปกครอง และมองในแง่ของการติดเชื้อโควิดในเด็ก ที่มีการอ้างตัวเลขทางสถิติว่า มีอัตราการติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยร้ายแรงหรือเสียชีวิตในจำนวนที่ต่ำ ประมาณ 0.01% ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเน้นการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม 100 เปอร์เซ็นต์
แต่โลกของความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน ไม่ได้มีแค่ ครูกับนักเรียนเท่านั้น ยังมี บุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองที่มาส่งเด็กนักเรียน แม่ค้าที่มาขายของในโรงเรียน ผู้ที่มาติดต่อราชการ อาจรวมถึงกรณีที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนเดินทางมาจากต่างพื้นที่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากยิ่งขึ้น
เหนืออื่นใด แม้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กจะพบอันตรายน้อยมาก แต่อย่าลืมว่านักเรียนทุกคนมีครอบครัว และต้องกลับบ้านหลังเลิกเรียน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคัสเตอร์ขนาดใหญ่ได้ จึงควรมองให้รอบด้าน มากกว่าที่จะคิดเพียงว่า ให้ผู้ปกครองเกิดความสบายใจ
ในทางกลับกันอาจจะเป็นทุกข์หนักก็ได้ ยกตัวอย่าง ผลกระทบที่ผ่านมา มีผู้ปกครองหลายคนต้องหยุดงานเพราะลูกติดโควิด บางคนอาจต้องตกงานไปเลย มีหลายครอบครัวที่ต้องออกมาร้องขออาหารเพื่อประทังชีวิต เพราะต้องกักตัวกันทั้งครอบครัว นาน 14 วัน
อย่าลืมว่า สาเหตุที่หลายพื้นที่ สั่งปิดสถานศึกษาไม่ได้มาจากการที่กลัวเด็กนักเรียนติดโควิด-19 แต่กลัวผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ครอบครัว และชุมชน ต่างหาก
อย่ามองอะไรง่าย หรือ คิดอะไรไม่รอบด้าน ถ้าระดับผู้บริหารการศึกษา คิดเพียงแค่ว่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ใครสบายใจ ก็ควรมองด้วยว่า มีใครลำบากใจจากการกระทำนั้นหรือไม่ และควรมองด้วยว่า คุ้มค่าหรือไม่ที่จะให้นักเรียนมาโรงเรียนวันละ 5-6 คน ต่อชั้นเรียน เพื่อความสบายใจของผู้ปกครอง ง่ายไปไหมสำหรับความคิดนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง