ข่าว

“ศ.ดร.กนก” แนะ 3 เรื่องจัดการศึกษายุคโควิด-19 ศธ.ต้องชัดเจน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

1 ปี มีเด็กกว่า 10 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ กระทบอนาคตและความมั่นคงของชาติ “ศ.ดร.กนก” แนะ 3 เรื่องจัดการศึกษายุคโควิด-19 ศธ.ต้องชัดเจน เร่งลงมือแก้ไขทันทียังไม่สาย

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบพลเมืองโลก ที่หนักสุดกระทบต่อการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ

 

 

หลายประเทศเลือกที่จะ“หยุดเรียน1ปี” เมื่อโควิด-19 ลดการแพร่ระบาดก็มาเปิดเรียน ขณะเดียวกันหลายประเทศเลือก“เรียนออนไลน์” ให้กับนักเรียนในประเทศนั้นๆ รวมถึงประเทศไทย มีทั้งเปิดเรียนเต็มรูปแบบ และเรียนออนไลน์

 

 

แต่โรคโควิด-19 อยู่กับประเทศไทยมานาน และส่งผลกระทบต่อนักเรียนและเยาวชนของชาติ เมื่อการเรียนออนไลน์เด็กเครียด การบ้านเยอะและยังเป็นการจัดการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์กับครอบครัวไทยทุกครัวเรือน  ล่าสุดมีความห่วงใยจากนักการศึกษาระดับชาติ ที่เฝ้ามองการขับเคลื่อนงานกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง 

   

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” ถึงความห่วงใยต่ออนาคตเยาวชนไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า การจัดการศึกษายุคโควิด-19  มีความจำเป็นเร่งด่วนในระยะสั้น ต้องจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19ให้ได้คุณภาพและครอบคลุมให้มากที่สุด  

"กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) อย่าลืมว่าพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน มีความพร้อมไม่เท่ากัน การเข้าถึงคุณภาพการศึกษาต้องยอมรับก่อนว่าไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของชาติ จะต้องลดการเสียโอกาสของผู้เรียน ซึ่งการจะทำได้ ศธ. ต้องมีความชัดเจนในเรื่องที่จะทำ 3 เรื่องดังนี้" ศ.ดร.กนก  กล่าว

 

1. เนื้อหาสาระหลักสูตรที่นักเรียนจำเป็นจะต้องรู้ ถือว่าเป็นเป้าหมายพื้นฐานสำคัญที่ศธ.ต้องทำให้ได้  ยกตัวอย่างเช่น เดิมเนื้อหาสาระที่ต้องเรียนในสถานการณ์ปกติมี 8 เรื่อง แต่สถานการณ์โควิด-19 อาจจะลดเหลือ 5 เรื่อง

 

2.วิธีการสอนของครู  ครูทบทวนการสอนนักเรียนภายใต้ข้อจำกัดของโควิด-19 การรักษาระยะห่างกรณีเปิดการสอนในห้องเรียน การเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์  เหล่านี้ครูจะใช้วิธีการสอนอย่างไร ให้นักเรียนได้เข้าใจ เช่น การทำคลิปสอนง่ายๆ  การบรรยายของครูในสาระจำเป็นต้องรู้ อาจจะแขวนไว้ในเพจโรงเรียน เพจกระทรวงศึกษาฯ หรือช่องทางยูทูป ของศธ. ให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ รวมถึงการให้การบ้าน ที่เหมาะสม

3.จิตสำนึกของครู  ครูต้องเห็นใจในข้อจำกัดของนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครูต้องคิดช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองให้มากที่สุด  ครูต้องเข้าถึงครอบครัวเด็กนักเรียน และเข้าใจนักเรียนว่านักเรียนอยากจะให้ครูช่วยอย่างไรบ้าง

 

 

"นี่คือระยะสั้น ที่ศธ.ควรระดมสมอง ทั้งสพฐ. ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา  ผอ.รร. เพราะช่วงโควิด-19 เรามีงานทำมากขึ้นเป็นพิเศษ งานยากกว่าเดิม งานมากกว่าเดิม  และฝ่ายบริหารต้องเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนฝ่ายปฏิบัติการสอน และช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กนักเรียนเกิดความต่อเนื่อง" ศ.ดร.กนก กล่าว

 

 

ศ.ดร.กนก กล่าวอีกว่า ระวังอย่าใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกันกับทุกโรงเรียน หรือกับเด็กทุกคน เพราะแต่โรงเรียน เด็กแต่ละชั้นเรียนไม่เหมือนกัน นี่คือความยากในการบริหารและการจัดการ แต่เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นเด็กนักเรียนจะเสียโอกาสไม่ได้เรียน ลองนึกสภาพเด็กนักเรียนรุ่นโควิด-19 จำนวนกว่า 10 ล้านคน ไม่ได้เรียนหนังสือเป็นเวลา 1 ปี จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของประเทศไทยมากมายแค่ไหน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง