ข่าว

"Nurses Connect" ค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน ชี้ จงใจเอื้อบุคคล ทำสาธารณสุขดิ่งเหว ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Nurses Connect ค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน ชี้ เป็นนิรโทษกรรมสุดซอย จงใจเอื้อบุคคลบางส่วน ที่ทำให้สาธารณสุขดิ่งเหว ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

(9 ส.ค.2564)   Nurses Connect ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค คัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน ภายหลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมที่จะออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ถูกมองว่าเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ระบุข้อความว่า 

 

\"Nurses Connect\" ค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน ชี้ จงใจเอื้อบุคคล ทำสาธารณสุขดิ่งเหว ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

 

จากสถานการณ์ในวันนี้ เราพบว่า ประเทศไทยนั้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน แต่สวนทางกับจำนวนการระดมฉีดวัคซีน ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปได้เพียง 24% ของประชากรเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือผลลัพธ์ที่ล้มเหลว อันเป็นผลมาจากมาตรการ การจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล เป็นความล้มเหลวในการจัดสรรวัคซีนของคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน และกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชน 6,259 รายเสียชีวิต เนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม และมีประชาชนอีกจำนวนมาก ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ในด้านของระบบสาธารณสุขนั้น โรงพยาบาลไม่มีอุปกรณ์ และสถานที่เพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งหากพิจารณาตามบทบาทหน้าที่ และจากผลงานในการบริหารจัดการโรคระบาด และวัคซีนของรัฐบาลแล้ว ก็เห็นสมควรว่า คนที่จะต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในระบบสาธารณสุข จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศบค. และคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน

แต่ทว่า กลับมีกระแสข่าวออกมาว่า มีการเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด สำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ อันเป็นการยืนยันว่า พ.ร.ก.นั้น จะเกิดขึ้นจริง โดยมีเนื้อหาใจความว่า

 

"กฎหมายดังกล่าว มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจา หรือจัดหาวัคซีนมีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด"

"ร่างกฎหมายนี้ เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรค และรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่า เขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่า ชนะ ก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์" นายอนุทินกล่าว

จากร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว คลับคล้ายคลับคลาว่า นี่คือการ "นิรโทษกรรมสุดซอย ให้กับบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้การสาธารสุขล้มเหลว จนประชาชนล้มตายกว่า 6 พันคน"

 

ซึ่งหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์จะพบว่า ประเทศไทยนั้นเคยออก พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมักจะเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมือง หลังการทำรัฐประหารแล้วถึง 22 ครั้ง และล่าสุด เหตุการณ์ที่เรายังจำกันได้ดีคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-ปรองดองแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่ถูกเสนอเข้ารัฐสภา 6 ฉบับ เมื่อปี 2555 ซึ่งสุดท้ายนั้น ถูกถอนไปในปี 2556

ในแง่ดี การนิรโทษกรรม หรือ การยกเลิกความผิดทั้งหลายที่ได้กระทำผ่านมา ไม่เพ่งเล็งจะจับตัวบุคคลมาลงโทษให้เข็ดหลาบ เสมือนหนึ่งว่าเป็นการให้อภัยซึ่งกันและกัน เรื่องที่แล้วมาแล้วก็ให้แล้วต่อกันไป อาจสร้างบรรยากาศการความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม เอื้อต่อการหันหน้ามาพูดคุยกัน แล้วเริ่มต้นกันใหม่อย่างสร้างสรรค์

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะทำให้การกระทำที่ผ่านมาไม่เป็นความผิดโดยสมบูรณ์ ไม่สามารถกลับมาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้นได้อีกเลย ไม่สามารถจะรื้อฟื้นกระบวนการหาตัวผู้กระทำความผิด และกระบวนการตามหาความจริงกลับขึ้นมาได้อีก ไม่ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

(อ้างอิง: การนิรโทษกรรมกับสังคมไทย - ilaw เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553)

แต่ในครั้งนี้นั้น แตกต่างออกไปตรงที่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับบุคคล ที่มิได้เป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง หากแต่เป็นการนิรโทษกรรมที่จงใจให้ผลประโยชน์กับตัวบุคคลที่บริหารงานบ้านเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เกิดโรคระบาดได้อย่างล้มเหลว ทำให้พวกเขาไม่ต้องแบกรับความผิดจากผลการกระทำ เขากำลังจะทำให้ตัวเองปลอดมลทิน โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร จากการบริหารจนระบบสาธารณสุขล้มเหลวแบบนี้

หยุดอ้างว่านี่คือการปกป้องคนทำงาน หยุดอ้างว่า นี่คือการให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า เพราะบุคลากรด่านหน้า และอาสาสมัครต่าง ๆ ทำงานเต็มที่ โดยอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุด เท่าที่สถานการณ์จะเอื้อให้ทำได้ หากท่านต้องการให้กำลังใจ จงรีบจัดสรรวัคซีน mRNA ให้พวกเขาทุกคน ไม่ใช่ต้องมากระเบียดกระเสียนเช่นนี้

และพวกท่านทั้งหลายจงหยุดอ้างว่า ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่พวกท่านจงระลึกว่า เพราะการทำงานของพวกท่านนั่นเอง ที่นำพาประเท ศและการสาธารณสุขให้ดิ่งลงเหวมาจนถึงจุดนี้ และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง!

#คัดค้านพรกนิรโทษกรรมวัคซีน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ