ข่าว

ปล่อยกู้รายวัน "ออมสิน" รุกช่วยฐานรากแก้หนี้นอกระบบ คิดดอกเบี้ย 1.0 - 1.5%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ออมสิน" กางแผนครึ่งปีหลัง เร่งดำเนินการ 3 เรื่อง ช่วยประชาชนฐานราก ดันปล่อยสินเชื่อรายวันให้กู้ 2 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยราว 1.0 - 1.5% ต่อเดือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลัง (ปี 2564) จะยังคงเน้นเข้าไปช่วยเหลือดูแลประชาชนฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยหลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

  • การปล่อยสินเชื่อรายวัน

อยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อรายวันได้อย่างถาวร ซึ่งจะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จได้เร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ รูปแบบสินเชื่อรายวันนั้นจะทำให้เหมือนกับลูกค้ามีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี หรือ O/D ที่สามารถขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ และคิดอัตราดอกเบี้ยรายวันตามยอด โดยจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ ไม่ใช่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมี 3 - 4 ส่วนที่ต้องทำ ทั้งการพัฒนาระบบ MyMo การพัฒนาระบบเก็บเงิน และระบบภายในด้วย โดยจะต้องหาพาร์ทเนอร์มาทำหน้าที่เก็บเงินให้ด้วย ซึ่งต้องทำทั่วประเทศ ทุกตลาด

 

 

“การทำสินเชื่อรายวันจะต้องมีการปรับระบบ ปรับกระบวนการคอนเนกชั่นด้วย เช่น แม่ค้าตามตลาดกู้สินเชื่อไป 10,000 บาท ไปขายสินค้าแล้วได้กำไร 12,000 บาท แล้วจะนำ 2,000 บาทมาคืน จะทำอย่างไรให้เงิน 2,000 บาท ฝากเข้าแบงก์ได้ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินทีละวัน เราจึงต้องคิดถึงเรื่องระบบทั้งหมด เพราะหากฝากตู้ ATM ก็ไม่ได้มีทุกที่ที่จะฝากได้ หรือจะให้มีคนเดินเก็บ แต่ช่วงนี้ โควิด-19 ระบาดหนักก็จะไม่ไหว”

นายวิทัย กล่าวต่อว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายวันจะไม่ได้สูงมาก แต่ก็สูงกว่าการให้สินเชื่อปกติ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง โดยอาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยเดือนละ 1.00 - 1.50% ซึ่งจะถูกกว่าหนี้นอกระบบ เช่น กู้เงิน 10,000 บาท ถ้าทั้งปีไม่ชำระหนี้เลย คิดอัตราดอกเบี้ยปีละ 12% ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,500 บาท เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ขณะนี้ ยังไม่ได้สรุป แต่คาดว่าจะให้วงเงินสินเชื่อได้สูงสุดรายละไม่เกิน 20,000 บาท นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังยังจะผลักดัน

  • บริการสินเชื่อที่ดินและการขายฝาก

อาจจะเริ่มดำเนินธุรกิจช่วงต้นปี 2565 หรือประมาณช่วงเดือนเมษายน ซึ่งโครงสร้างสินเชื่อที่ดินนั้น หากดำเนินงานเหมือนกับสินเชื่อมีที่มีเงิน ก็จะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน แต่หากจะดำเนินการให้ครอบคลุม จะต้องเข้าดูเรื่องขายฝากด้วย โดยขายฝากจะต้องโอนที่ดินมาก่อน แตกต่างจากสินเชื่อที่ดิน ที่จะต้องเอาที่ดินมาจำนอง

“ออมสินอยากจะทำทั้ง 2 ส่วน ทั้งสินเชื่อที่ดิน และขายฝากที่ดิน เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ดี 2 ส่วนนี้ ในหลักการไม่ควรดำเนินการภายใต้ธนาคาร เพราะไม่ได้พิจารณาหลักเกณฑ์เครดิตบูโร และรายได้ก็ไม่ค่อยตรงกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น อาจจะต้องทำเป็นโครงสร้างแยกออกมา แต่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก”

นายวิทัย กล่าวด้วยว่า ส่วนอีกเรื่องที่จะดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง คือ

  • การสร้างอาชีพให้ประชาชนฐานราก

ต้องให้สถานการณ์ โควิด-19 ดีขึ้นก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ช่วงปลายปีนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ