ข่าว

เปิดคลิปหาดูยาก นาทีเสือโคร่งอุทยานฯแม่วงก์ลากเหยื่อไปกิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดภาพเสือโคร่งบ่งชี้ความสำเร็จการลาดตระเวนเชิงคุณภาพด้านการป้องกันพื้นที่ป่า ย้ำ พื้นที่ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ดูแลป้องกันเต็มที่

นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน smart patrol ของหน่วยพิทักษ์ฯ มว.7 (คลองเสือข้าม) อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พบซากกวางป่า ใกล้ๆ กับเส้นทางเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ จากการสังเกตพบซากกวางป่ามีรอยถูกกัดและถูกลากมาจากถนนอีกฝั่งซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นร่องรอยที่เกิดจากการกระทำของเสือโคร่ง จึงได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยพร้อมประสานทีมนักวิจัยสัตว์ป่าของ WWF-ประเทศไทย เข้าพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบและทำการติดตั้งกล้อง camera trap ไว้

 

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบภาพจากกล้องดักถ่ายที่ได้ติดตั้งไว้พบเสือโคร่งกลับมากินเหยื่อตามคาดไว้ โดยเสือได้ลากซากกวางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ จากนั้นอีก 2 วัน เจ้าหน้าที่ได้กลับมาตรวจสอบภาพจากกล้องอีกครั้ง แต่ไม่พบว่าเสือกลับมาที่ซากกวางอีก มีเพียงแต่ตัวตะกวด เข้ามากินซากกวางป่าเท่านั้น

 

สำหรับเสือโคร่งที่พบ เป็นเสือโคร่งวัยรุ่นอายุประมาณ 3 ปีเพศเมีย เป็นเสือโคร่งตัวใหม่ที่ยังไม่เคยพบในพื้นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มาก่อน เสือตัวนี้เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เคยถ่ายภาพและกำหนดรหัส เรียกชื่อว่า HKT-262F เกิดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

 

ด้านนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 เจ้าหน้าที่เคยพบซากกระทิงถูกเสือโคร่งล่า ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 ก็พบเสือโคร่งล่ากวางป่าอีกครั้ง จากเหตุการณ์ที่พบเสือล่าเหยื่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักนั้น

 

ถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่ง (tiger source site) ที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่สืบต่อไป

 

นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ตั้งแต่ปี 2530 ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก ทำให้มีจำนวนสุตว์ป่าเพิ่มขึ้นตาม การที่มีเสือข้ามถิ่นมาล่ากวางป่าและสามารถถ่ายภาพชุดนี้มาได้นั้น ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่าสภาพป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ดังคำกล่าวที่ว่า “แม่วงก์ - คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง”

 

 

เสือโคร่งจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ จากการประเมินพบประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือไม่ถึง 4,000 ตัว เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ทำหน้าที่ควบคุมและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งพื้นที่ใดที่ยังมีเสือโคร่งก็ย่อมจะต้องมีสัตว์ที่เป็นเหยื่ออย่างเพียงพอ และมีพืชพรรณอาหารที่เอื้อต่อสัตว์กินพืชอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการอนุรักษ์เสือโคร่งไม่เพียงแต่อนุรักษ์ตัวเสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังได้อนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ รวมถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งระบบอีกด้วย

 

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ยังได้ให้ความสำคัญในการจัดการพื้นที่เพื่อสัตว์ป่า โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ให้มีระบบนิเวศทุ่งหญ้าและโป่งเทียมเพิ่มเติมเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์กีบชนิดต่าง ๆ เช่น กวางป่า เก้ง กระทิง หมูป่า เป็นต้น ได้ใช้ประโยชน์อันจะเอื้อให้ระบบนิเวศมีความสมดุลและช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวิภาพ นอกจากนั้นการทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผ่านระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการดูแลและป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่

ดูคลิป

 

ขอบคุณเพจ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ