ข่าว

'เนชั่น' เปิดหลักสูตร DTC รุ่น 3 เรียนรู้พาองค์กรสู้ 'ดิจิทัล ดิสรัปชั่น'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เนชั่น" เปิดหลักสูตร DTC รุ่น 3 ด้าน ประธานกรรมการบริหาร เนชั่นฯ  "ฉาย บุนนาค" เผยที่มาจากประสบการณ์ตรงสู้ปัญหา Digital Disruption ขณะที่ "ชัยวุฒิ" ปาฐกถาพิเศษ "แผนพัฒนาดิจิทัลของประเทศ" ส่วน CEO ปตท. แนะการทรานฟอร์มธุรกิจพลังงาน

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็มเฟค จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC จัดการอบรมหลักสูตร Digital Transformation for CEO รุ่นที่ 3

โดย คุณฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้รุ่นที่ 3 ได้รับเกียรติจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่ (DES) มาร่วมบรรยายและเปิดหลักสูตร ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างมาก
 

สำหรับหลักสูตรนี้เกิดจากประสบการณ์ตรงขององค์กรสื่อเครือเนชั่น ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างมีนัยยะสำคัญที่เรียกว่า Digital Disruption ซึ่งองค์กร Nation ก็เจอปัญหานี้อย่างรุนแรงเมื่อ 4 ปีก่อน ส่งผลให้ผู้เสพสื่อ ผู้บริโภคสื่อ และผู้ใช้งบงบโฆษณา เปลี่ยนแปลงฉับพลัน ผลกระทบคืองบโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ปี 2016 จากยอด 13,800 ล้านบาท ลดลงเหลือ 3,800 ล้าน หายไปหายไป 75% ในช่วง 4 ปี

ดังนั้นถ้าผู้บริหารองค์กรไม่ปรับตัว ไม่เรียนรู้ ไม่ปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ จะรับมืออย่างไรหรือจะนำพาองค์กรอย่างไร ดังนั้นจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้ เพื่อให้ผู้บริหารที่อยู่ในห้องนี้จากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกนี้จะส่งผลอย่างไร

และทุกคนเป็นกำลังสำคัญ เป็นฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็น SME หรือบริษัทขององค์กรเอกชนต่างๆ ถ้าทุกองค์กรแข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรง จะช่วยงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันนี้ขอขอบคุณรัฐมนตรีอีกครั้งที่กล้าหาญและเสียสละมาเปิดหลักสูตร (กล่าวติดตลก) เพราะจากสถิติใน 2 รุ่นที่ผ่านมา รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่มาเปิดหลักสูตรไป 2 รุ่นแล้ว ปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ร่วมคณะรัฐมนตรี ก็หวังว่ารัฐมนตรีจะขับเคลื่อน DES ได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า หลักสูตรนี้เป็นที่ยอมรับ หลายคนอยากมาศึกษา ดีใจที่ได้มาพบกับทุกคน และหวังว่าปีหน้าจะมาอีกรอบ ส่วนสภาพการเมืองคิดว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ เพราะมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องทำและแก้ปัญหาต่อไปอาทิ รัฐธรรมนูญ ปัญหาเศรษฐกิจ เชื่อมั่นว่าปัญหาต่างๆจะดีขึ้นใน

อนาคต

ตอนนี้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากโควิดแล้ว ยังมีเรื่องของ Digital Disruption ทำให้การประกอบธุรกิจการทำงานของทุกหน่วยงานองค์กรต้องปรับตัว เห็นได้ชัดก็คือสื่อมวลชน จากทีวี/หนังสือพิมพ์ ก็ต้องมีสื่อในช่องทางอื่น แต่เชื่อว่าทุกคนปรับตัวได้

ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาหลักสูตรนี้ล้วนเป็นผู้บริหารธุรกิจที่มีความหลากหลาย ทั้งธุรกิจ ทั้งไอที พลังงาน การสื่อสาร การค้าการลงทุน ซึ่งทุกคนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

และเล็งเห็นว่าอนาคตปัญหาของการถูก Digital Disruption ก็ต้องปรับตัว การเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้จะทำให้ทุกคนได้รับความรู้ เทคนิคดีๆ เพื่อนำพาธุรกิจของท่านให้ก้าวผ่านอุปสรรคที่ต้องเจอในอนาคตและประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน สำหรับรัฐบาลและกระทรวง DES มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะสนับสนุนทุกคน

ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐาน ออกกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรมให้คนไทยทุกคน

ที่สำคัญทำให้เราสามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างเท่าเทียมกัน พร้อมพยายามผลักดันให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยก้าวไปอย่างมั่นคง ตนขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมหลักสูตรนี้ให้ผลิตบุคลากรออกมา เพื่อไปทำงานช่วยกันฟันฝ่าวิกฤต แก้ปัญหาและนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป

จากนั้นเริ่มปาฐกถาแผนพัฒนาดิจิทัลของประเทศ ว่า โลกเราเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล ที่เข้าไปแทรกซึมและเป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรม ทั้งเศรษฐกิจและสังคม เรียกว่า Digital Transformation เกิดการหลอมรวมด้านการข้อมูลและการทำงานให้เป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ดังนั้นต่อไปนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำงานก็จะเป็นดิจิทล

ส่วนสถานการณ์โลกในปัจจุบัน เป็นที่น่าดีใจว่า โลกเรามีความพร้อมในการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายมาก ประชากรโลก 7.8 พันล้านคน มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 4.6 พันล้านคน หรือร้อยละ 59.5 และทุกประเทศในโลกก็มีการพัฒนาระบบและส่งเสริมให้ประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเผยแพร่หลาย ส่งผลให้มีการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์

โดยปี 2021 มีคนซื้อสินค้าทางออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 70 6.8 มีการค้นหาอิสระในการค้นหาสินค้าและบริการออนไลน์มากถึงร้อยละ 81.5 ทำให้สินค้าออฟไลน์ขายไม่ค่อยดี

ดังนั้นจึงเริ่มมีการเก็บภาษีในระบบออนไลน์ เพราะถ้ารัฐเก็บภาษีไม่ได้ เอกชนที่แข่งขันแต่ไม่ขายออนไลน์ก็เดือดร้อน เพราะในออนไลน์ขายถูกกว่า ทำให้ผู้ประกอบการคนไทยบางคนต้องใช้กลไกด้วยการไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์หรือประเทศอื่น ดังนั้นเราต้องมีการแข่งขันในมาตรฐานเดียวกัน ไม่งั้นคนไม่เสียภาษีก็ได้เปรียบ

สำหรับสถานการณ์ดิจิทัลในประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆของโลก คนไทยวันนี้ 69.88 ล้านคน มีอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 90 ล้านอุปกรณ์ หรือ 1 คนมีมือถือ 1.5 เครื่อง ที่พร้อมใช้งานในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ เราต้องการให้คนไทยหัดใช้ Smart Phone ในการทำงาน-การลงทุนเพื่อพัฒนาต่อไป

ทุกวันนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าโครงการของรัฐบาลได้เพราะไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งก็คิดอยู่ว่าต้องซื้อสมาร์ทโฟนแจกหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบไปแล้วบางคนไม่ใช่ไม่มีเงินซื้อ อาจเป็นผู้ติดเตียง สายตาไม่ดี ไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ ก็ต้องคิดรูปแบบ Smartphone ขึ้นมา เพื่อคนกลุ่มเป็นพิเศษ

แต่ที่น่าตกใจคือการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ของคนไทย ต่อวันใช้ถึง 8 ชั่วโมง 44 นาที ถือว่ามากกว่าการทำงานปกติ ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาสู่ 5จี ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศไทย 2.3-5 ล้านล้านบาท ซึ่งธุรกิจรักษาพยาบาลน่าจะใช้เทคโนโลยีได้ดี จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้อย่างน้อย 3,800 ล้านบาทต่อปี

สำหรับกระทรวง DES มีโครงการกองทุนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ก็จะนำไปส่งเสริมนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ในการพัฒนาให้ประชาชนและองค์กรต่างๆนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์สูงสุด เช่นเทคโนโลยี 5จี กับโครงการทางด้านเกษตร สาธารณสุข อุตสาหกรรม คมนาคม การศึกษา และสมาร์ทซิตี้ ตอนนี้พิจารณาไปแล้ว 9 โครงการวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท ที่จะกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมพัฒนากฎหมายด้านดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การรับรอง การกำกับดูแลธุรกิจบริการสำคัญ

ปัจจุบันเมืองไทยยังไม่มีระบบ National Digital Identity หรือ NDID หมายถึงระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีการเก็บข้อมูลที่ระบุอัตลักษณ์หรือคุณลักษณะของแต่ละบุคคล และสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานการพิสูจน์และการเรียนรู้ร่วมกันทั้งประเทศ

สำหรับบุคคลทั่วไปในการยืนยันตัวตนกับสถาบันต่างๆ จะช่วยลดระยะเวลาในการกรอกเอกสารและข้อมูลได้ ต่อไปทุกอย่างที่เข้ามาในระบบดิจิทัลของเมืองไทยทุกแพลตฟอร์ม ต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ถ้าทำผิดก็ต้องรับผิดชอบ วันนี้โลกออนไลน์จะด่าใครก็ไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย

ขณะที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น DTC รุ่นที่ 1 กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ The Rapid Digital Transformation in the Leading Business ว่า โลกอุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปเรื่อย จากเดิมมนุษย์เจอเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาทดแทนแรงงานสัตว์ แรงงานคน

แต่โดยเมื่อมนุษย์ค้นพบไฟฟ้า ก็เอามาประยุกต์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการผลิตและทำธุรกิจของตัวเอง พอมีคอมพิวเตอร์ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่ม Production ให้สูงขึ้นไปอีก และปัจจุบันเป็น intelligent ทั้งเครื่องจักรและคน เราจะได้ยินคำว่ามีการสื่อสารกันระหว่าง Machine to Machine สร้างการผลิตโดยที่มีคนเข้าไปยุ่งน้อยมาก แต่คนก็ยังเป็นส่วนผลักดันให้เกิดทุกสิ่ง

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ intelligent ซึ่งมีทั้งประโยชน์มหาศาลและก็มีโทษอนันต์พร้อมยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเช่นเรื่องของแพลตฟอร์ม ที่มีการเพิ่มขึ้น เช่น 1.Application ขนส่ง ส่งอาหาร ส่งสินค้า 2. Empowered vs Influenced consumer 3.เป็นการแข่งขันข้ามอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4.กระบวนการทำงานปัจจุบันที่ถูก disrupt จำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่

ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานกำลังถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหรือเรียกว่า 4D ประกอบด้วย Decarbonization Decentralization Digitalization Deregulation

ปัจจุบันธุรกิจปั๊มน้ำมันของ ปตท. ก็ต้องปรับตัวสู่การมีพลังงานไฟฟ้าสอดรับกับตลาดรถในอนาคตที่เป็น EV ตามที่รัฐบาลประกาศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ