ข่าว

"ปริญญา"ชี้ การแก้ไข รธน.เป็นตัวชี้ว่า รบ.อยู่ได้นานแค่ไหน หากไม่เกิดเป็นแรงกดดันให้ ปชป.ถอนตัวร่วมรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการชื่อดัง "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล " ชี้ การแก้ไขรธน.เป็นตัวชี้ว่ารัฐบาลอยู่ได้นานแค่ไหน ครบเทอมหรือไม่ ชี้ หากไม่เกิดเป็นแรงกดดันให้ ปชป.ถอนตัวร่วมรัฐบาล ย้ำไม่ขอวิจารณ์รายชื่อครม.ใหม่เหมาะสมหรือไม่ ลั่นโควต้าพรรคไม่ตอบโจทย์การเมืองแบบใหม่

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564  นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ว่า การมีคณะรัฐมนตรี คือ ตัวแทนนายกรัฐมนตรี และตัวแทนของประชาชน ซึ่งหลักการต้องเลือกบุคคลที่เก่งที่สุด เหมาะสมที่สุดในตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งต้องพูดตรงๆว่าการเมืองของไทย เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องของโควต้าพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีการกำหนดหักได้ส.ส. 7 คน จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ซึ่งจากการเคยคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาอยู่การเมืองแบบเดิมๆคือใช้ระบบโควต้า ซึ่งเมื่อแบ่งกันแล้วว่าพรรคไหนดูกระทรวงใด พรรคจะเสนอชื่อใครมา นายกรัฐมนตรีก็ไม่กล้าไปทักท้วงอะไร

ทั้งนี้ มองว่าหลักการภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นมีปัญหา คือ การมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีสถานะเป็นตัวแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพราะคสช.เป็นคนเลือกส.ว.มา ซึ่งนายกฯมีสิทธิ์เลือกครม. เนื่องจากเป็นผู้ส่งรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หากมองหลักการแล้วความจริงนายกฯ ต้องเลือกครม.ดีที่สุด เพราะระบบการเมืองของไทยต้องใช้เสียงข้างมาก และเสียงข้างมากก็ได้มาด้วยการไปชวน พรรคการเมืองต่างๆมา โดยใช้ตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นปัญหาว่าไม่มีการเมืองที่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวลือเรื่อง "ล้มร่างรัฐธรรมนูญ" มาแรงมาก

ส่วนแคนดิเดตรายชื่อครม.ใหม่เหมาะสมหรือไม่นั้น ตนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ หรือก้าวล่วง ขอพูดในหลักการว่าไม่ควรเป็นระบบโควต้า เพราะมองว่าในช่วงตอนต้นของรัฐบาลแล้วดูดีกว่าตอนนี้ เนื่องจากมีโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีตรงกลางของนายกฯ แต่ปัจจุบันดูจะหนักไปกว่าเก่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่มีการเมืองที่ดีไปกว่าเดิมเลย ส่วนหากมีการแลกเก้าอี้ตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคการเมืองแบบคลุมกระทรวงเบ็ดเสร็จนั้น เมื่อเริ่มต้นด้วยวิธีการเลือกรัฐมนตรีแบบโควต้าตามจำนวน ส.ส. หากแต่ละพรรคการเมืองจะแลกตำแหน่งกัน แต่ไม่กระทบกับสัดส่วนโควต้า นายกฯก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะได้มอบตำแหน่งให้แต่ละพรรคไปแล้ว พร้อมยืนยันว่าตนไม่ได้วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย หรือตัวบุคคล แต่ขอวิพากษ์วิจารณ์นายกฯว่าเหตุใดจึงไม่ทำการเมืองให้ดีกว่านี้

สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง ขณะนี้สิ่งสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่จะบ่งบอกรัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน และวันที่ 24 มีนาคม 2564 ก็จะถือว่าเป็นครึ่งทางของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพราะรัฐบาลชุดนี้เลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเมื่อผ่านครึ่งหนึ่งของวาระไปแล้ว การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็จะมีโอกาสสูงขึ้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ผ่านในวาระ 1 และวาระ 2 แล้ว ส่วนจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงประชามติของประชาชน แต่ต้องตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลและส.ว.จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งที่รัฐสภาเองรับหลักการในวาระที่ 1 และแก้ไขรายมาตรา รวมไปถึงสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ถูกออกแบบมา ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร ซึ่งผ่านวาระ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลและส.ว.ไม่ประสงค์จะให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็สามารถทำให้รัฐธรรมนูญตกลงไปในวาระที่ 3 เพราะจำนวนส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ ส.ว. ลงมติไม่ถึง 84 เสียง ก็ถือว่าเรื่องดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯเช่นกัน จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่าหากถูกตีตกในวาระที่ 3 อาจเกิดปัญหาทางการเมือง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วมตั้งรัฐบาลให้เหตุผลกับประชาชน ว่าต้องการเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น เพราะพรรคพลังประชารัฐเบี้ยว หรือส.ว.ไม่ยกสนับสนุน เกินไป 84 เสียง แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ร่วมกับรัฐบาลต่อไปได้อย่างไร โดยอาจมองได้ว่าแรงกดดันไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นกับรัฐบาลหรือส.ว. แต่จะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ในการถูกกดดัน ให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจากการ ลงรับสมัครเลือกตั้งส.ส.เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช แทน นายเทพไท เสนพงศ์ ก็ถือได้ว่าเป็นรอยร้าวได้อย่างชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ 

"การที่รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ครบวาระก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร จึงวิเคราะห์ได้ว่าอาจจะไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตกด้วยวาระ 3 แต่จะถูกตีตกโดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นประเด็นตรงนี้หรือไม่ ว่าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง ในการแก้ไขปัญหาการเมือง พร้อมทั้งมองว่าการปรับคณะรัฐมนตรีขณะนี้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระหรือไม่ ตราบใดที่ยังไม่ไปดึงโควต้าพรรคการเมืองอื่นมา และมองว่าประเด็นชี้ขาด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นตัวกำหนดอุณหภูมิการเมืองนอกสภาฯ" นายปริญญา กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ