ข่าว

"วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะเชิงพื้นที่ มอบที่ปรึกษา "ยุทธพล" ลุยตรวจแนวไม้ไผ่กันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงและเป็นประเด็นสังคมหลายต่อหลายครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้ในทุกพื้นที่ ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน พร้อมมอบ ดร. ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งยังคงมีพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไขอีก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

        

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนและวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่แนวชายฝั่งทะเล ตนยอมรับว่า ปัญหานี้มีความละเอียดอ่อน การดำเนินการต้องรอบคอบคำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องมองถึงการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การแก้ไขปัญหาต้องยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยแบ่งกลุ่มหาดออกเป็น 8 กลุ่มหาดหลัก 44 กลุ่มหาด และ 318 หาด ตามลักษณะธรณีสัณฐาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นระบบและยั่งยืน                

            "วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

นอกจากนี้ เตรียมประกาศกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอีก 2 ฉบับ และกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งมาตรการดังกล่าว เป็นเสมือน Checklist ที่มีความเข้มข้นมากในการตรวจสอบการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาด ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

           "วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

อย่างไรก็ตาม ตนได้จะหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอีกครั้ง ถึงแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน ซึ่งตนอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนมั่นใจว่า การดำเนินการทุกอย่างมุ่งหวังเพื่อความสุขและความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 ด้าน ดร. ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยภายหลังการติดตามตรวจเยี่ยมโครงการปักแนวไม้ไผ่กันคลื่นในพื้นที่เพชรบุรี  ว่า วันนี้ (วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564) ตนพร้อมคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน โครงการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม ระยะทางปักไม้ไผ่ประมาณ 1,550 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2563 และพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการปักไม้ไผ่ความยาวระยะปักประมาณ 1,750 เมตร พร้อมทั้งได้รับฟังการรายงานสถานการณ์จากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ทราบว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้ง 2 พื้นที่ เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ช่วงระยะเวลา 6 เดือน เกิดการกัดเซาะความยาวเพิ่มขึ้นกว่า 30 เมตร

           "วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

นอกจากนี้ จากสถิติที่ผ่านมา ในช่วงปี 2560 – 2562 พื้นที่กัดเซาะรุนแรงและพื้นที่กัดเซาะปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ากังวลและต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ ได้ให้หน่วยงานในพื้นที่หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันวางแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึง การประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนและสังคมได้ทราบและร่วมเป็นกำลังในการเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วย

          "วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ไม้ไผ่เป็นเสมือนกำแพงชะลอความรุนแรงของคลื่น เพื่อป้องกันพื้นที่หาดโคลน เป็นแนวคิดการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อลดมลพิษและผลกระทบข้างเคียง โดยกรมฯ ได้เริ่มใช้วิธีการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2550 – 2563 ดำเนินการไปแล้วกว่า 41 พื้นที่ 13 จังหวัด ระยะทางปักไม้ไผ่กว่า 83,515 เมตร และในปี 2564 ได้ดำเนินการใน 6 พื้นที่ 5 จังหวัด ระยะทางปักไม้ไผ่กว่า 11,150 เมตร ทำให้มีพื้นที่สะสมตะกอนดินเลนหลังแนวไม้ไผ่กว่า 1,600 ไร่ และมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นหลังแนวไม้ไผ่ประมาณ 315 ไร่ ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะในทุกพื้นที่ของประเทศ จะต้องเป็นไปตามแนวทางการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งได้กำหนดรูปแบบ มาตรการ และแนวทางไว้อย่างชัดเจน

          "วราวุธ" เผยเตรียมมาตรการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้รวบรวมโครงการฯ แก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของทุกหน่วยงาน เสนอต่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาก่อนที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงบประมาณใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณ และที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อน มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียง นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ