ข่าว

บช.น.แนะเลี่ยงเส้นทางชุมนุม 19-20 ก.ย.นี้ จัดกำลัง 373 นายดูแลม็อบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำรวจประเมินม็อบ คาด 9 เส้นทางหลัก และ 2 สะพาน ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม 19-20 ก.ย.นี้ พร้อมแนะประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว

วันนี้ 18 ก.ย. 2563 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานด้านจราจร เปิดเผยเส้นทางการจราจรช่วงระหว่างการชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ว่า การจัดระบบการจราจรบริเวณที่มีการชุมนุมประท้วงนั้น จะใช้หลักการไม่ปิดการจราจรทั้งหมด ทั้งนี้ได้เตรียมกำลังตำรวจจราจรคอยดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่ชั้นใน จำนวน 373 นาย ตลอด 24 ชั่วโมง


 

ส่วนการจัดการจราจรได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

 

1. กรณีที่มีการชุมนุมในสถานที่ที่ไม่กระทบกับพื้นผิวการจราจร ส่วนของผู้ชุมนุมอยู่ภายในบริเวณรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือบริเวณสนามหลวง การจัดการจราจรก็จะปกติไม่มีการปิดการจราจรแต่อย่างใด

2. หากมีการลงมาบนพื้นผิวการจราจรหรือมีการเคลื่อนที่บางส่วน ซึ่งกระทบกับพื้นผิวการจราจร ในส่วนของจราจรจะมีการจัดระบบโดยจัดระเบียบของผู้ที่มาชุมนุม โดยการขอความร่วมมือให้ชิดขอบทางด้านซ้ายมากที่สุด ในช่องทางที่เหลือก็จะปล่อยการจราจรตามปกติ

3. มีผู้ชุมนุมอยู่เต็มพื้นที่ ซึ่งการจราจรไม่สามารถไปได้ จะมีการขออนุมัติผู้บัญชาการเหตุการณ์ฝ่ายความมั่นคง เพื่อปิดการจราจรและหลีกเลี่ยงเส้นทาง เพื่อให้ผู้ที่เดินทางโดยทั่วไปนั้นได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากมีผลกระทบการจราจรเกิดขึ้นจะมีหลักการพิจารณา 2 แนวทางคือ กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง และกระทบทางแยกใดก็จะทำการปิดการจราจรชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ยานพาหนะได้รับผลกระทบจากการจราจร หลักการเราก็จะปิดก่อนที่จะถึงกลุ่มผู้ชุมนุม 1 ทางแยก เมื่อขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ผ่านไปเราก็จะเปิดช่องทางการจราจรตามปกติ

 

กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่จุดใดจุดหนึ่งเต็มพื้นที่แล้วการจราจรไม่สามารถที่จะไปได้ก็อาจจะจำเป็นต้องปิดการจราจรถาวร หากผู้ชุมนุมอยู่ตรงจุดใดก็จะปิดก่อนถึงผู้ชุมนุม 1 ทางแยก เพื่อให้ประชาชนมีทางเลี่ยงใด ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ทุกเส้นทางแล้ว

 

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้มีการกำหนดเส้นทางฉุกเฉินหรือเส้นทางทางการแพทย์ไว้ โดยขอความร่วมมือในกรณีฉุกเฉินรถพยาบาลจะสามารถเข้าไปรับผู้ป่วยแล้วส่งโรงพยาบาลโดยใช้เวลาน้อยที่สุด เช่น หากมีการชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวง ได้มีการกำหนดเส้นทางถนนพระอาทิตย์ ส่วนทิศใต้บริเวณถนนสนามไชย เพื่อนำส่งโรงพยาบาลกลาง กรณีชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กำหนดเส้นทางการแพทย์ไว้บริเวณถนนดินสอ หากมาแยก จปร. กำหนดเส้นทางถนนวิสุทธิกษัตริย์ และถนนจักรพรรดิพงษ์ หากอยู่บริเวณแยกมัฆวาน กำหนดเส้นทางถนนกรุงเกษมและถนนลูกหลวง


 

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก รวมถึงเส้นทางที่มีมาเชื่อมต่อกับถนนราชดำเนิน

โดย บช.น.ได้กำหนดเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและควรหลีกเลี่ยง 9 เส้นทางหลัก 2 สะพาน ดังนี้ ถนนราชดำเนินใน, ถนนราชดำเนินกลาง, ถนนราชดำเนินนอก, ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ถนนวิสุทธิกษัตริย์, ถนนจักรพงษ์, ถนนหลานหลวง, ถนนดินสอ, ถนนตะนาว, สะพานพระราม 8, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และกำหนดเส้นทางให้ประชาชนไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงทั้งเส้นทางจากฝั่งพระนครไปฝั่งธนบุรี และจากฝั่งธนบุรีไปฝั่งพระนคร

 

ส่วนเส้นทางแนะนำข้ามไปกลับฝั่งธนบุรีกรุงเทพมหานคร คือ สะพานซังฮี้, สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สะพานตากสิน

 

ส่วนเส้นทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเตรียมไว้ 2 เส้นทาง คือ หากมีการเคลื่อนขบวนมาก็จะผ่านถนนราชดำเนินการใน ถนนราชดำเนินกลาง จนมาถึงแยกผ่านฟ้าลีลาศ ไปทางแยก จปร. แยกมัฆวาน ส่วนอีกเส้นทางจะผ่านถนนนครสวรรค์ ตรงผ่านสนามม้านางเลิ้ง ผ่านแยกเทวกรรม เลี้ยวซ้ายผ่านสะพานอรทัย กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณใดนั้น ทางฝ่ายความมั่นคงได้มีการเตรียมแผนไว้แล้ว ถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงที่จะต้องดูที่บริเวณหน้างานอีกครั้ง

 

สำหรับกรณีที่อาจมีฝนตกหนักในกรุงเทพฯจากอิทธิพลของพายุโนอึล ได้มีการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ป้องกันฝนสำหรับตำรวจใช้ปฏิบัติงาน รวมถึงบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับแผนฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ไว้แล้ว

 

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการดาวกระจายเดินทางไปยังบริเวณใด ถ้ากระทบบางส่วนก็จะใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวได้ แต่ถ้าหากมีการชุมนุมเต็มพื้นที่ก็จะมีการปิดกั้นการจราจรก่อนถึงผู้ชุมนุม 1 ทางแยก ส่วนการจุดคัดกรองนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ดูแลงานความมั่นคงได้มาประชุมกำชับการปฏิบัติให้ฝ่ายความมั่นคงมีการจัดจุดคัดกรองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเน้นย้ำการดำเนินการไม่ให้กระทบสิทธิ์ของประชาชนที่มาเข้าร่วมการชุมนุม แต่เราเน้นความปลอดภัยมากที่สุด ไม่ให้มีมือที่สามและเหตุอันตรายต่อผู้ชุมนุม

 

จะมีการตรวจสอบการนำอาวุธเข้ามาบริเวณดังกล่าว รวมถึงการตรวจโควิด-19 อาทิเช่น มหาวิทยาลัยธรรศาสตร์จะมี 4 จุด แต่หากมีการชุมนุมพื้นที่อื่น ๆ ก็จะมีการปรับจุดคัดกรองต่างๆ ตามสถานการณ์ ส่วนการกระทำความผิดหากเข้าข่ายความผิดใดไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.จราจร การควบคุมการโฆษณาเครื่องขยายเสียง พ.ร.บ.ความสะอาด ความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไป

 

ส่วนการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น จากข้อมูลการข่าว และการขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ จนถึงขณะนี้มีการขออนุญาตไว้เฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เท่านั้น ยังไม่มีการขออนุญาตใช้สนามหลวงและเคลื่อนขบวนเพื่อที่จะไปทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ