ข่าว

กล้องโทรทรรศน์ JCMT ค้นพบ "ฟอสฟีน" บน "ดาวศุกร์" ที่บ่งชี้มีสิ่งมีชีวิตล่องลอยอยู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กล้องโทรทรรศน์ JCMT ค้นพบ "ฟอสฟีน" บน "ดาวศุกร์" ที่บ่งชี้มีสิ่งมีชีวิตล่องลอยอยู่

จากกรณีเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เผยข้อมูลว่า นักดาราศาสตร์ค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบน "ดาวศุกร์" ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย Jane Greaves จาก Cardiff University สหราชอาณาจักรเผยถึงการค้นพบโมเลกุลของ "ฟอสฟีน" ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ 

ทั้งนี้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ยังได้อธิบาย ถึง  "กล้องโทรทรรศน์ JCMT" ที่ทีมนักดาราศาสตร์ใช้ในการค้นพบ "ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของ "ดาวศุกร์" ดังนี้ 

“James Clerk Maxwell Telescope” หรือ “JCMT”   เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร ตั้งอยู่ที่ภูเขาไฟโมนาเคอา รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นระหว่างอินฟราเรดกับไมโครเวฟ เรียกว่า “submillimeter” นับเป็นกล้องโทรทรรศน์จานเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นนี้ 

>> ทำไมต้องไปอยู่บนภูเขาไฟโมนาเคอา ?


ช่วงคลื่น submillimeter ได้รับผลกระทบจากชั้นบรรยากาศโลกค่อนข้างมาก กล่าวคือ 
แสงจากวัตถุอวกาศในช่วงคลื่นนี้จะถูกดูดกลืนโดยโมเลกุลน้ำในชั้นบรรยากาศโลก 
และโมเลกุลดังกล่าวจะคายพลังงานกลับออกมา หมายความว่านอกจากวัตถุท้องฟ้าจะถูกดูดกลืนแสงจนริบหรี่ลงแล้วท้องฟ้าพื้นหลังก็ยังจะสว่างขึ้นอีกด้วย โมเลกุลน้ำเหล่านี้ส่วนมากจะพบที่บรรยากาศชั้นล่าง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือ “หนี” ชั้นบรรยากาศนี้ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยอดภูเขาไฟโมนาเคอาสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร 
จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เหมาะแก่การศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่น submillimeter มากที่สุด


 

>> JCMT แตกต่างจากกล้องโทรทรรศน์ที่อื่นอย่างไร ?

ด้วยขนาดหน้ากล้องที่ใหญ่และมีมุมมองในการศึกษาท้องฟ้าที่กว้าง ช่วยให้กล้อง JCMT สามารถสำรวจท้องฟ้าได้อย่างรวดเร็ว มักจะใช้เพื่อนำร่องค้นหาวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ แล้วจึงศึกษาต่อด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีความละเอียดที่สูงกว่าแต่มีมุมมองแคบกว่า เช่น ALMA และ SMA  เปรียบได้กับการศึกษาวัตถุที่เราสนใจด้วยแว่นขยาย แล้วจึงนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษารายละเอียดต่อไปแม้ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์ JCMT จะมีอายุกว่า 33 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีการพัฒนาอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2562 JCMT ก็เป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์ในเครือข่าย “Event Horizon Telescope (EHT)”  ที่สามารถถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรก รวมถึงล่าสุดที่สามารถค้นพบ “ฟอสฟีน”  ในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า “ที่ชั้นบรรยากาศดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิตล่องลอยอยู่”

CR.NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ