ข่าว

อีอีซีชู ระยองโมเดล แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายกฯอบจ.ระยอง"เผย อีอีซีชู ระยองโมเดล ประกอบด้วยจุดแข็งหลายอย่างอาทิ มี 3 โรงเผาขยะจะกำจัดขยะได้ถึงวันละ 1.5 พันตัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวม 30 เมกะวัตต์ รองรับขยะจากอีอีซีได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่มีขยะสะสมหรือขยะตกค้าง แก้ปัญหาขยะได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

หนึ่งในมาตรการสำคัญของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็คือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่เรื้อรังมานาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) เดินหน้าโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางจัดการปัญหาขยะในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการปัญหาขยะในจังหวัดระยอง ว่า จังหวัดระยองเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญของ อีอีซี ที่จะมีการขยายตัวทั้งในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ ในระดับสูง ซึ่งจะทำให้จำนวนประชากรขยายเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่งผลให้มีปริมาณขยะจากภาคครัวเรือนชุมชนต่างๆ และโรงงานเพิ่มขึ้น หากบริหารจัดการได้ไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ดังนั้น อบจ.ระยอง จึงได้ร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ดำเนินโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลน้ำคอก ตำบลทับมา ตำบลมาบข่า และตำบลหนองตะพาน บนเนื้อที่ประมาณ 429 ไร่

ซึ่งประกอบด้วยโรงคัดแยกขยะ และแปลงเป็นเชื้อเพลิง Refuse Derived Fuel (RDF) และโรงเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ กำจัดขยะได้ 500 ตันต่อวัน ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 จะแล้วเสร็จภายในปี 2564

จากนั้นจะเร่งดำเนินการก่อสร้างโรงเผาขยะแห่งที่ 2 และ 3 ภายในพื้นที่เดียวกัน โดยแห่งที่ 2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2565 และแห่งที่ 3 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งทั้ง 3 โรงจะกำจัดขยะได้ถึงวันละ 1.5 พันตัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวม 30 เมกะวัตต์

สำหรับ เงินลงทุนก่อสร้างระบบเตาเผาขยะผลิตไฟฟ้า จีพีเอสซี จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด รายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจะช่วยลดค่าดำเนินการกำจัดขยะลงได้มากเหลือเพียงตันละ 400 บาท ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับระบบกำจัดขยะในพื้นที่อื่นๆ ทำให้จังหวัดระยองสามารถกำจัดขยะได้ทั้งหมดที่มีประมาณวันละ 1 พันตัน โดยไม่มีขยะตกค้าง และยังสามารถรองรับปริมาณขยะจากการขยายตัวของ อีอีซี ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี

รวมทั้งจะทยอยนำขยะสะสมจากการฝังกลบที่มีกว่า 1 ล้านตัน ขึ้นมาเผากำจัดให้หมด ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมของจังหวัดระยองดีขึ้นในระยะยาว และยังเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปจัดทำระบบกำจัดขยะครบวงจรต่อไป ช่วยให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

       อีอีซีชู ระยองโมเดล  แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

       นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

“โครงการนี้เป็นการลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ และโครงการเดินหน้าได้รวดเร็ว ทำให้สามารถแก้ปัญหาขยะที่สะสมมานานของจังหวัดระยองได้อย่างเบ็ดเสร็จ และยั่งยืน และยังมีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากล ทำให้ไม่มีกลิ่น และมลพิษต่างๆ กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนโดยรอบให้การยอมรับ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ทั่วประเทศ”

นอกจากนี้ อบจ. ระยอง ยังได้ขยายโมเดลระบบกำจัดขยะในรูปแบบนี้นำไปย่อส่วนก่อสร้างในพื้นที่เกาะเสม็ด โดยได้เข้าไปสร้างศูนย์คัดแยกขยะ และผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF จากนั้นก็ขนส่งมาเผาที่โรงเผาขยะในจังหวัดระยองต่อไป

โดยศูนย์กำจัดขยะของเกาะเสม็ดได้ก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดดำเนินการมาได้ 5-6 เดือน สามารถกำจัดขยะได้ถึงวันละ 10 ตัน และสามารถขยายได้เพิ่มอีกรวมเป็น 20 ตันต่อวัน รองรับการขยายตัวในอนาคต ซึ่งจะเพียงพอต่อปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันโดยไม่มีขยะตกค้าง

นายปิยะ กล่าวว่า ในพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรแห่งนี้ อบจ.ระยอง ยังได้สร้างศูนย์บริการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งให้บริการเก็บ ขนส่ง และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อกับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง

โดยใช้เทคโนโลยีระบบเตาเผาแบบหมุน Rotary Kiln ที่ทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง รองรับมูลฝอยได้ 3.6 ตันต่อวัน สามารถแสดงผลการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บขนส่งจนถึงขั้นตอนเผาขยะ มีการดำเนินงานติดตามตรวจสอบทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ในส่วนของขยะอินทรีย์ปะปนมากับขยะชุมชน จะมีปริมาณมากถึง 40% โดย อบจ. ระยอง ได้นำขยะอินทรีย์ที่ผ่านการคัดแยกแล้ว เข้าสู่ระบบหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นระบบปิดทำให้ไม่มีกลิ่นรบกวน และสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ เป็นพลังานทดแทนที่นำมาใช้ภายในศูนย์กำจัดขยะฯ รวมทั้งยังมีผลพลอยได้ คือ ตะกอนจากการหมักที่สามารถนำมาปรับสภาพเป็นวัสดุปรับปรุงดินคืนสู่ชุมชนโดยรอบศูนย์กำจัดขยะฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตรกรได้เป็นจำนวนมาก

     อีอีซีชู ระยองโมเดล  แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ