ข่าว

น้ำคือชีวิต ต้นทุนการผลิตของทุกภาคส่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องคมนตรี ได้ขอให้ผู้ปฎิบัติงานทุกคน คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของน้ำเป็นสำคัญ ตามยุทธศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทาน "น้ำคือชีวิต"

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา ได้เดินทางไปยังโครงการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และนายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ โครงการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

                    น้ำคือชีวิต ต้นทุนการผลิตของทุกภาคส่วน

                        พลากร สุวรรณรัฐ 

โอกาสนี้องคมนตรีและคณะได้รับฟังรายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จากรองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ซึ่งที่ประชุมได้ให้แนวคิดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งน้ำขอให้พิจารณาระบบการส่งน้ำสู่พื้นที่ใช้ประโยชน์ของประชาชนหากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย สำหรับคลองส่งน้ำควรเป็นดินแทนที่การดาดด้วยซีเมนต์ เพื่อให้สัตว์น้ำตามธรรมชาติสามารถอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศน์ และแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ต่อไป

                   น้ำคือชีวิต ต้นทุนการผลิตของทุกภาคส่วน

ในการนี้องคมนตรี ได้ขอให้ผู้ปฎิบัติงานทุกคน คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของน้ำเป็นสำคัญ ตามยุทธศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทาน "น้ำคือชีวิต" ไม่ใช่เพียงแต่นำน้ำมาใช้สำหรับอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่รวมถึงการเป็นน้ำต้นทุนตามธรรมชาติของการผลิต ที่มีผลต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการส่งออก โดยภาพรวมรายได้ของประเทศจากการส่งออกนั้นล้วนมาจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นสำคัญ แม้แต่การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมก็ต้องมีน้ำเป็นปัจจัยต้นทุน หากขาดน้ำก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้  ก็ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการวางแผนร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และเกิดความมั่นคง ยั่งยืนต่อภาคการผลิตด้านต่าง ๆ ของประเทศต่อไป” องคมนตรี กล่าว
 โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้ชมนิทรรศการภาพถ่ายในอดีตตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่กวง และการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชกรณียกิจในโอกาสต่าง ๆ ณ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา พร้อมพบปะกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่เดินทางมาให้การต้อนรับและรายงานถึงผลการบริหารจัดการน้ำจากโครงการฯ ที่ผ่านมา 
 สำหรับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ก่อสร้างเสร็จทั้งระบบในปี 2536 เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำแม่กวง สูง 63.00 เมตร ยาว 620 เมตร มีขนาดความจุ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ในปัจจุบัน เริ่มประสบปัญหา น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมีแนวโน้มลดลงขณะที่ความต้องการการใช้น้ำของประชาชนมีเพิ่มขึ้น 
จึงได้มีการจัดทำโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราขึ้น โดยก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนแม่แตง และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลลงสู่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราระยะทางรวม 50 กิโลเมตร ในลักษณะเดียวกับอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นการบริหารจัดการน้ำในลักษณะอ่างพวง ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด 
 ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินงานไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มน้ำให้เขื่อนแม่กวงได้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 175,000 ไร่ และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ชลประทาน จากเดิม 17,060 ไร่ เพิ่มเป็น 76,129 ไร่ 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ