ข่าว

"นายกฯ" ล้มแผนแจก 2 พัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายกฯ" ถอย เลิกแจก 2 พัน หันเยียวยาประชาชนด้านภาษี-พลังงานแทน "สนธิรัตน์" เคาะ 4 มาตรการด่วน อัดฉีด 4.5 หมื่นล้านกระตุ้น ศก. "หม่อมเต่า" รับมือคนตกงาน

 

               “บิ๊กตู่” ยกธงไม่สวนกระแสต้าน ล้มแผนแจกคนละ 2,000 บาท สู้วิกฤติโควิด-19 ปัดรัฐบาลถังแตก เดินหน้ารับบริจาค ชี้ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม ขณะที่ สธ.เพิ่มโควตาหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์

 

อ่านข่าว ล้มโครงการ"นายกฯ"ถอยไม่แจก 2,000 บาทแล้ว

 

               เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงมาตรการแจกเงิน 2,000 บาท ให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย อาชีพอิสระ และเกษตรกร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เดิมคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มาตรการต่างๆ ที่ผ่าน ครม.เศรษฐกิจแล้ว ยังต้องมาหารือกันใน ครม.วันอังคาร์ด้วย ส่วนมาตรการให้เงิน 1,000-2,000 บาทนั้น ได้หารือกับกระทรวงพลังงานแล้วว่าจะยังไม่จ่าย ต้องรอไว้อีกสักระยะหนึ่งค่อยมาหารือกันอีกครั้ง 

 

               พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า แต่รัฐบาลจะมีมาตรการอื่นมาเยียวยารองรับทางการเงินและภาษี เช่น คืนเงินค่ามัดจำหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่ทุกครัวเรือน อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะได้ทุกครัวเรือน แต่จะยกเว้นอุตสาหกรรมหรือบริษัทใหญ่ ส่วนเงิน 2,000 บาท ที่มีมติจากครม.เศรษฐกิจก่อนหน้านี้ค่อยว่ากันทีหลัง จะได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้ เพราะต้องไปดูเม็ดเงินก่อน

 

               ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การประชุมครม.เศรษฐกิจเห็นชอบตามที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เสนอมาตรการลดผลกระทบชุดที่ 1 มีมาตรการสำคัญคือการแจกเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายละ 2,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 2 เดือน เดือนละ 1,000 บาท ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

                แต่หลังจากที่มาตรการดังกล่าวเสนอออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก จนเป็นกระแสดราม่าต่างๆ นานา อาทิ แทนที่จะแจกเงินควรนำไปผลิตหน้ากากอนามัยแจกประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ 

 

               นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องไวรัสโควิด-19 ด้วยว่า ที่รับบริจาคเงินไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่มีสตางค์ หรือถังแตก แต่ต้องการให้มีความร่วมมือ จึงต้องตั้งเป็นงบบริจาคเข้ามา จากนั้นคนก็เอาไปพันกับการบริจาคเงินสมทบทุนช่วยเหลือน้ำท่วม ขอยืนยันว่าทุกงบประมาณมีการตรวจสอบ มีบัญชีทั้งหมด รายการใช้จ่ายต้องขออนุมัติ ไม่ใช่ว่านายกฯ หรือใครจะสั่งได้ เพราะต้องผ่านการคัดกรองด้วยกันทั้งสิ้น

 

               “งบประมาณส่วนนี้เป็นการเผื่อไว้สำหรับเมื่องบประมาณรัฐไม่สามารถใช้ได้ ผมเองก็ร่วมบริจาคไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องการร่วมบริจาคด้วย ซึ่งคล้ายกับการช่วยเหลือประชาชนที่ จ.นครราชสีมา โดยเป็นการหาเงินเติมเข้าไปนอกเหนือจากที่รัฐช่วยเหลือ แต่หลายคนก็บอกว่าหน้ากากก็ยังไม่พอ แถมยังรับบริจาคอีก ซึ่งไม่เป็นธรรมเท่าไร ผมก็ไม่ได้แก้ตัวหรือว่าอะไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

               นายกฯ ยืนยันอีกว่า พร้อมนำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นตรงนี้ไปให้ได้ ขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคนเท่านั้นเอง เพราะความเข้าใจอะไรที่ตื่นตระหนกก็พยายามสร้างการรับรู้ใหม่ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเข้าไป ด้วยหลักการของกฎหมาย ต้องยึดกฎหมายเป็นหลักในการทำงานไม่ใช่ว่าจะทำเรื่องการเมืองอย่างเดียว แม้จะเป็นรัฐบาลอย่างนี้ก็ตาม

 

               วันนี้ขอร้องทุกคนแล้วว่าจะไม่ทำงานเพื่อการเมือง ต้องชี้แจงให้ตรงจุด เวลาพูดกับข้าราชการแล้วเข้าใจ แต่เวลาแถลงที่เป็นแบบราชการมากๆ สื่อก็ไม่เข้าใจอีก ประชาชนก็ไม่เข้าใจอีก อย่างวันนี้ที่ประชาชนบอกหลายอย่างว่าดี นายกฯ พูดดี แต่เวลาไปทำก็ทำไม่เป็น ไม่ได้ว่าประชาชนแต่เป็นความผิดของรัฐบาล

 

               พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า มาตรการหลายอย่างรัฐบาลออกมาเยอะแล้ว แต่เข้าไม่ถึงเพราะการสื่อสาร รัฐบาลต้องรับผิดชอบตรงนี้ ไม่โทษหน่วยงาน โดยต่อจากนี้ทุกหน่วยงานและทุกกระทรวงต้องทำทั้งหมดในเรื่องให้บริการประชาชนและการลดใช้เอกสาร ที่บางพื้นที่ยังใช้อยู่ มันเกิดอะไรขึ้น กำลังไล่ดูตรงนี้อยู่ ดังนั้นขอให้แจ้งมาที่ทำเนียบรัฐบาลได้ ส่งมาเลย ถ้าตรงไหนยังไม่ดีจะได้เล่นงานได้ถูกต้อง ต้องรับผิดชอบทั้ง 77 จังหวัด 

 

               “ขอเถอะ ขอให้ผมได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรที่เป็นความขัดแย้งก็ขอให้เบาๆลงหน่อย เพราะจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นอีก มีอะไรก็บอกมาแล้วกัน ผมก็อ่านจากท่านนั้นแหละ และนำมาสู่การสั่งการเป็นนโยบาย นายกฯ ทำงานในเชิงนโยบาย สั่งการ ตัดสินใจในรายละเอียด กระทรวง หน่วยงานจะต้องรับผิดชอบกันต่อไป ใครทุจริตตรงไหนฟ้องตรงนั้น โอเคนะ สิ่งที่พูดไปใช้ได้นะ นายกฯ ตอบชัดเจนแล้ว
 

               เลิกว่าผมสักทีเถอะ เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมางอมเต็มที ใจผมก็แย่ไปทุกวัน จะว่าเหนื่อยก็คงเหนื่อย แต่ไม่มาก ยังทนไหว ไม่ใช่ทนหรอก คือมันต้องปลุกตัวเองให้ได้ก่อนว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป วันนี้อย่างน้อยในช่วงที่ผมยังอยู่ก็จะทำให้ดีที่สุด มากน้อยอยู่ที่ประชาชนจะเข้าใจผมหรือไม่เข้าใจ บางอย่างมันเกิดเร็วไม่ได้ เกิดเร็วก็ล้มทุกที ฉะนั้นถึงบอกว่าต้องเดินเป็นระยะและปรับเปลี่ยนไป

 

               โครงการไหนทำได้ก็ทำต่อ โครงการไหนทำไม่ได้ก็ยกเลิก เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ความคิดก็ต่างกัน ฉะนั้นความขัดแย้งก็ค่อนข้างสูง แต่ต้องทำให้ได้นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลและผมมีเจตนารมณ์อย่างนั้น ผมได้พูด กับครม. รองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกท่านไปแล้ว เราไม่ได้ทำการเมืองในขณะที่บ้านเมืองมีปัญหา เราต้องทำงานในนามของรัฐบาลเพื่อประชาชนทั้งประเทศ เป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” นายกฯ กล่าวย้ำ

 

               ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบนโยบายในการนำมาตรการไฟฟ้ามาช่วยลดผลกระทบประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 4.5 หมื่นล้านบาท โดยจะนำเสนอ ครม.วันที่ 10 มีนาคมนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดรายละเอียดการดำเนินการต่อไป

 

               โดยมีทั้งหมด 4 มาตรการ ได้แก่ 1.คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กในบิลค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคม วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท มีทั้งหมด 21.5 ล้านราย ประกอบไปด้วย มิเตอร์ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณ 3 ล้านมิเตอร์ วงเงินราว 1.1 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท จำนวนเกือบ 19 ล้านมิเตอร์ ซึ่งแต่ละรายจะได้รับคืนตามขนาดมิเตอร์ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 2,000-4,000 ราย

 

               2.ลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยลดค่าไฟฟ้าจากค่าเฉลี่ยปัจจุบัน 3.64 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย โดยหากไม่เข้ามาดูแลค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 3.70 บาทต่อหน่วย โดยการดูแลดังกล่าวใช้เงินมาดูแลราว 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 23.2 สตางค์ต่อหน่วย โดยมาจาก กฟน., กฟภ.ประมาณ 4,800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกว่า 5,000 ล้านบาท เป็นเงินคอลล์แบ็ก ที่เกิดจาก 3 การไฟฟ้าไม่สามารถลงทุนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

 

               3.ให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก และโรงแรม สามารถขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมเป็นเวลา 6 เดือน เพราะคาดว่าในช่วงดังกล่าว นักท่องเที่ยวยังมีจำนวนน้อยจนกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนกลุ่มนี้

 

               และ 4.เห็นชอบให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเดินหน้าลงทุน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบปี 2562 และ 2563 ให้ลงทุนต่อเนื่องเพราะงบส่วนนี้เป็นการพัฒนารอบโรงไฟฟ้ามีการจ้างงานและสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่น

 

               นายสนธิรัตน์ บอกอีกว่า สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายอื่นๆ นั้นกระทรวงพลังงานจะหารือกันในช่วงต่อไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ดิ่งลงแรงก็นับว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กระทรวงจะมองถึงข้างหน้าว่าควรจะมีมาตรการเสริมอย่างไร โดยจะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันในเร็วๆ นี้

 

               วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยถึงการจัดสรรหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า ยอมรับว่าสถานการณ์ก่อนหน้านี้มีปัญาหาเรื่องหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่พอใช้

 

               แต่จากปัญหาดังกล่าวได้มีการจัดสรรหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด โดยจัดสรรให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ส่วนผู้ไม่ป่วยให้ใช้หน้ากากผ้าไปก่อน โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้สั่งให้ กระทรวงมหาดไทยผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า 50 ล้านชิ้น แจกให้แก่ประชาชน ส่วน สธ. ได้สั่งให้ อสม.แต่ละพื้นที่ ผลิตหน้ากากอนามัยผ้า 1.3 ล้านชิ้น แจกประชาชนในกรณีไม่ป่วย

 

               นายสาธิต กล่าวอีกว่า ขณะที่โควตาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เดิมทาง สธ.ได้ 3 แสนชิ้น จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แต่ได้มีการหารือว่าจำนวนน้อยเกินไป ไม่เพียงพอ จึงได้ขอเพิ่มโควตากับกระทรวงพาณิชย์ จากเดิมจัดสรรให้ 3 แสนชิ้น เป็น 7 แสนชิ้นต่อวัน

 

               ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ สธ.ได้รับเพิ่มขึ้นมานั้น มาจากกระทรวงพาณิชย์ คือในส่วนที่ต้องนำไปขายให้ประชาชน หลังจากนี้จะรณรงค์ให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยผ้าแทน แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 100% จึงขอให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยก่อน ขอให้ประชาชน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง 

 

               “ขณะนี้รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่และทหารเข้าไปควบคุมการผลิตหน้ากากอนามัยจากบริษัทผู้ผลิต ว่าตรงตามที่ต้องการหรือไม่ และได้สั่งการให้ดูในขั้นตอนการลำเลียงหน้ากากอนามัยไม่ให้สูญหาย ตอนนี้ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข 12 เขต ไปสำรวจสต็อกหน้ากากอนามัยแต่ละโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลไหนขาดให้เกลี่ยในพื้นที่ เพื่อให้เพียงพอ

 

               โดยหน้ากากอนามัยถูกส่งมาที่องค์การเภสัชกรรมครบตามจำนวนทุกวันจำนวน 4.3 แสนชิ้น และได้จัดส่งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แต่ละพื้นที่ วันละ 3 หมื่นชิ้น คาดว่า 2-3 วัน หน้ากากอนามัยจะถูกส่งไปยังสถานพยาบาลแต่ละพื้นที่ ส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน จะได้รับจัดสรรหน้ากากอนามัยโดยตรงจากกรมการค้าภายใน” นายสาธิต ระบุ

 

               นายสาธิต กล่าวด้วยว่า หากพื้นที่ไหนยังไม่ได้รับหน้ากากอนามัย ก็ต้องตรวจไปสอบว่ามีรูรั่วตรงไหน และกำชับให้เด็ดขาดว่าหน้ากากอนามัยห้ามเล็ดลอดออกไปพื้นที่อื่นๆ แต่ถ้าหากพบบุคลากรในสังกัด สธ. กักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อหาประโยชน์ให้ตนเอง จะไม่ละเว้น โดยจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เพราะถือว่าขัดต่อนโยบายของกระทรวงในวิกฤติของประเทศไทยตอนนี้

 

               ด้าน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า การแจกจ่ายหน้ากากอนามัยจะจัดสรรไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยก่อน การกระจายใช้วิธีการบริหารตัวเลขเป็นหลัก ศูนย์ออกคำสั่งไปยังโรงงานหรือผู้กระจายสินค้าว่าต้องส่งไปยังพื้นที่ใดบ้าง

 

               โดยกรมการค้าภายในได้รับความร่วมมือจากกองทัพไทยไปควบคุมโรงงานการผลิตเฉพาะหน้ากากทางการแพทย์ จนกว่าจะปิดโรงงาน รองลงมาคือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงลงมาอย่างสนามบิน การท่าอากาศยาน ส่วนการกระจายไปยังชุมชน จะกระจายผ่านร้านสะดวกซื้อ วันละ 2 แสนชิ้น ส่วนในต่างจังหวัด ผ่านร้านธงฟ้า 1.5-2 แสนชิ้นต่อวัน สามารถซื้อได้ไม่เกิน 4 ชิ้น ในราคา 10 บาท

 

               อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุถึงกรณีที่สมาคมร้านขายยาออกมาบอกยังไม่ได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัย ว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าจัดการให้ร้านขายยา 25,000 ชิ้น ทางโรงงานต้องการจัดส่งให้ร้านขายยาโดยตรง ยืนยันไม่รวบมาเก็บเอง ต้องการให้ของถึงประชาชนให้ได้เร็วที่สุด

 

               ส่วนการกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นส่งขายประเทศจีน ก็ไม่เป็นความจริง และไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวนั้นเป็นภาพเมื่อใด แต่ย้ำว่าหากมีกรณีการส่งออกแบบนี้จริง ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่อนุญาตให้ส่งออก หากพบจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคา ซึ่งจะเอาจริงโดยไม่สนว่าเป็นใคร

 

               ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบสภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน

 

               โดยศูนย์มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมและประสานข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศทั้ง 13 แห่ง และหน่วยงานอื่นของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สำรวจฐานข้อมูลสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ผู้ประกอบการสายการบิน ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก

 

               รวมทั้งวางมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง เช่น หาตำแหน่งงานว่าง พัฒนาทักษะฝีมือ ให้สิทธิประโยชน์ และการคุ้มครอง ตามกฎหมายแรงงาน ประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงานกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาล ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) สำนักโฆษก เป็นต้น

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ