ข่าว

เปิดคำฟ้องหัวเว่ยชนสหรัฐ แบนสินค้าบริษัทขัดรัฐธรรมนูญ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจากตั้งรับมานาน หัวเว่ยตัดสินใจยื่นฟ้องสหรัฐกรณีออกกฎหมายห้ามหน่วยงานรัฐ ซื้ออุปกรณ์ของบริษัท ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ  โวยสหรัฐแฮคเซิร์ฟเวอร์ 


หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมแดนมังกร ยื่นฟ้องที่ศาลกลางในรัฐเท็กซัสเมื่อวาน ( 6 ม.ค.)ตามเวลาท้องถิ่น โดยสาระหลักอยู่ที่กฎหมายว่าด้วยการใช้อำนาจป้องกันประเทศชาติ (National Defense Authorization Act – NDAA ) มาตรา 89 ที่รัฐสภาสหรัฐให้ความเห็นชอบเมื่อปีที่แล้ว บัญญัติห้ามหน่วยงานรัฐบาล จัดซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดย หัวเว่ย และ ZTE ซึ่งทั้งสองเป็นบริษัทจีน 


กั๊วะ ผิง ประธานหมุนเวียนของหัวเว่ย กล่าวว่า มาตรานี้ ขัดรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา รัฐสภาสหรัฐล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการหาหลักฐานสนับสนุนก่อนออกกฎหมายปิดกั้นผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย ทำให้บริษัทต้องใช้มาตรการกฎหมาย เป็นที่พึ่งสุดท้าย การสั่งห้ามไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังปิดกั้นหัวเว่ยสามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรม และผลเสียตกแก่ผู้บริโภคอเมริกันในที่สุด  

"หากไม่มีกฎหมายนี้ หัวเว่ยก็สามารถที่จะนำเทคโนโลยีก้าวหน้าเข้าไปในสหรัฐ และช่วยวางเครือข่าย 5จี ที่ดีที่สุดได้" ประธานหัวเว่ยกล่าว พร้อมเปิดเผยว่าการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง   


แม้ว่าหัวเว่ย ผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารรายใหญ่สุดของโลกในแง่ของรายได้ มีสัดส่วนตลาดโทรคมานาคมในสหรัฐไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่การมีอยู่ของมาตรา 89 คืออุปสรรคใหญ่ในการสะสางปัญหาต่างๆระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับหัวเว่ย รวมถึงประเด็นด้านความปลอดภัย 


รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กดดันยักษ์สื่อสารรายนี้ตลอดหลายเดือน รวมถึงการลอบบีประเทศพันธมิตรร่วมแบนอุปกรณ์หัวเว่ยในการทำโครงข่าย 5จี โดยอ้างกฎหมายปี 256 0 ของจีนที่กำหนดให้บริษัทจีนต้องร่วมมือกับงานข่าวกรองของชาติ หัวเว่ยจึงเป็นภัยคุกคามความมั่นคง แต่นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ออกโรงปฏิเสธ และยืนยันว่าไม่เคยและจะไม่มีวันแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลปักกิ่งอย่างเด็ดขาด 

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ แจ้งข้อหาขโมยความลับการค้าและเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

 

เปิดคำฟ้องหัวเว่ยชนสหรัฐ แบนสินค้าบริษัทขัดรัฐธรรมนูญ 

 

 
ทนายของหัวเว่ย กล่าวว่า มาตราในกฎหมายเอ็นดีเอเอที่ระบุชื่อบริษัทอย่างชัดแจ้ง ถือเป็นกฎหมายที่เรียกว่า "bill of attainder" ที่ประกาศให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคล มีความผิดและถูกลงโทษ โดยปราศจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ และในกรณีนี้ก็คือหัวเว่ย ที่ถูกละเมิดสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้รับทราบหลักฐานเอาผิดตนเองและไม่ได้ต่อสู้ข้อกล่าวหานั้นในศาล การออกกฎหมายห้ามหน่วยงานรัฐจัดซื้ออุปกรณ์ของหัวเว่ย เท่ากับรัฐสภาสหรัฐกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ด้วยการประพฤติตนเป็นตุลาการ 


ทั้งนี้ หากศาลกลางที่หัวเว่ยยื่นฟ้อง มีคำตัดสินไปในทางใดทางหนึ่ง คู่กรณีสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ และศาลมีอำนาจในการประกาศให้บางมาตราหรือบางส่วนของกฎหมายเป็นโมฆะได้โดยไม่ล้มกฎหมายทั้งฉบับ  ดังนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว หัวเว่ยอาจล้มมาตรา 89 ได้ และหากขจัดมาตรานี้ได้ ยักษ์สื่อสารแดนมังกรก็หวังว่าจะช่วยเปิดประตูสู่การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐได้ 
 

ในวันเดียวกัน หัวเว่ยยังกล่าวหารัฐบาลสหรัฐ แฮคเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท และขโมยอีเมล์บริษัทไป แต่นายกั๊วะ ประธานหัวเว่ยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเสริมข้อกล่าวหาในที่ประชุมแถลงข่าว  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ