ข่าว

เสียงปริศนาที่นักการทูตมะกันป่วยในคิวบาได้ยินมาจากจิ้งหรีด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลศึกษาชี้เสียงปริศนาที่นักการทูตสหรัฐในคิวบาที่เกิดเจ็บป่วยทางสมอง ไม่ใช่อาวุธลับ แต่เป็นเสียงร้องของจิ้งหรีด


 
คงจำกันได้ว่าช่วงปลายปี 2559 มีนักการทูตสหรัฐราว 24 คน และนักการทูตแคนาดาอีกจำนวนหนึ่ง ในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา จู่ๆเกิดปวดหูและอาการผิดปกติอื่นๆ หลังได้ยินเสียงปริศนาหาที่มาไม่ได้ ทั้งที่โรงแรมและที่บ้าน 
 

 

อาการของพวกเขาแย่ลง เช่น วิงเวียนศีรษะ วิตกกังวล อาการหลงๆลืมๆ และสูญเสียการได้ยิน ทำให้รัฐบาลวอชิงตันต้องถอนนักการทูตกลับครึ่งหนึ่ง และสั่งขับนักการทูตคิวบาตอบโต้ในตอนแรกเพราะเชื่อว่ามีการใช้คลื่นเสียงโจมตี หรือ โซนิก แอทแท็ก แต่รัฐบาลคิวบาปฏิเสธ และสหรัฐก็ไม่มีหลักฐานมายืนยัน

 
ล่าสุด นักชีววิทยา 2 คน ที่ทำการศึกษาเสียงปริศนาที่ว่านี้ พบว่าเหมือนกับเสียงร้องหาคู่ของจิ้งหรีดอินดีหางสั้นที่พบได้ทั่วไปในประเทศแถบทะเลแคริบเบียนแห่งนี้  มีชื่อวิทยาศาสตร์ Anurogryllus celerinictus


กระนั้น อเล็กซานเดอร์ สตับส์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และเฟร์นานโด มอนเตียเลเกร-ซาปาตา ศาสตราจารย์ชีววิทยาระบบรับความรู้สึก มหาวิทยาลัยลินคอล์น ในอังกฤษ กล่าวว่า สาเหตุแท้จริงที่ทำให้นักการทูตป่วย อยู่นอกเหนือผลการศึกษาของพวกเขา และไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ว่าในจุดใดจุดหนึ่ง อาจมีการโจมตีด้วยคลื่นเสียง  แต่จากที่ศึกษาลงความเห็นว่า เสียงปริศนาในคิวบา ไม่เป็นอันตรายทางร่ายกาย และไม่เข้าข่ายเป็นโซนิก แอทแท็ก  


“ผลศึกษาของเราตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องวิจัยอย่างจริงจังแหล่งที่มาของอาการป่วย รวมถึงผลกระทบทางจิตใจ และคำอธิบายด้านกายภาพและชีวภาพ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโซนิก แอทแท็ก” 


นักวิจัยเปรียบกับกรณีฝนเหลืองในปี 2524 ที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาสหภาพโซเวียต ส่งอาวุธเคมีมรณะเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นักวิจัยสรุปในเวลาต่อมาเป็นมูลผึ้ง 



 

 

 เสียงปริศนาที่นักการทูตมะกันป่วยในคิวบาได้ยินมาจากจิ้งหรีด

 

(  ที่มา https://entnemdept.ifas.ufl.edu/walker/buzz/492pm.htm ) 

 

สำหรับกรณีปริศนาในฮาวานา นักวิจัยศึกษาจากคลิปเสียง ที่ลูกจ้างรัฐบาลสหรัฐคนหนึ่งอัดไว้ และส่งไปให้กับกองทัพเรือทำการวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับเสียงในฐานข้อมูลเสียงร้องของแมลงในอเมริกาเหนือ ที่ดำเนินการโดย โทมัส วอล์คเกอร์ นักกีฏวิทยามหาวิทยาลัยฟลอริดา พบว่า เสียงความถี่ 7 เฮิร์ตซ์ หรือ 7,000 รอบต่อวินาที เหมือนกับเสียงร้องของจิ้งหรีดหางสั้นอินดี ซึ่งมีอัตราการกระพือปีกเร็วที่สุดในบรรดาจิ้งหรีดที่ส่งเสียงร้องต่อเนื่อง  โดยเหมือนทั้งระยะเวลา และรายละเอียดเชิงเทคนิกอื่นๆของเสียง 

ผลวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งยังไม่ผ่านการตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญ เผยแพร่ในที่ประชุมประจำปีสมาคมชีววิทยาเปรียบเทียบและบูรณาการ ในซานฟรานซิสโก และตีพิมพ์แบบออนไลน์บนเวบไซต์วารสาร  BioRXiv เมื่อ 4 มกราคม 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ