ข่าว

กรธ.หมดหน้าที่ ตั้งโต๊ะแจงกรอบ 150 วันเพื่อเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อดีตโฆษก กรธ." แจง กรธ.หมดหน้าที่ ตั้งโต๊ะแจงกรอบ 150 วันเพื่อเลือกตั้ง ชี้เป็นหน้าที่ "กกต." พร้อมเปิดจดหมายชี้แจงปม 150 วันตามข้อหารือ "สมชัย"

 

          วันที่ 7 ม.ค. 2562 - นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองให้ อดีต กรธ. ชี้แจงในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ว่าด้วยการจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังจากที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่ใช้เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ว่า สถานะของกรธ. ปัจจุบันถือว่าหมดหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น อดีตกรธ. ไม่สามารถจะตั้งโต๊ะแถลงหรือให้รายละเอียดใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งได้ อีกทั้งขณะนี้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะชี้แจงรายละเอียด

 

          นายอุดม กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม และยกประเด็นสู่สาธารณะผ่านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนไม่ทราบว่าเป็นรายละเอียดที่ขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบหรือไม่ เนื่องจากสิ่งที่แถลงต่อสาธารณะนำเฉพาะ มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญอธิบาย ขณะที่กระบวนการจัดการเลือกตั้งนั้น ต้องพิจารณามาตรา 171 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่วมด้วย เพราะภายใต้ข้อกำหนดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ยังต้องคำนึงถึงการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ด้วย

 

          "ที่ผ่านมา กกต. ชุดที่นายสมชัยทำหน้าที่ เคยส่งหนังสือสอบถามประเด็นดังกล่าวมายัง กรธ. และกรธ. ได้ชี้แจงกลับไปเป็นหนังสือแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองตั้งคำถาม ต้องให้ กกต. เป็นผู้ชี้แจง เพราะ กรธ.หมดสถานะแล้ว ส่วนที่มีฝ่ายการเมืองระบุว่าหากไม่ทำความชัดเจนอาจนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะนั้น ผมไม่แน่ใจว่าการร้องให้เลือกตั้งเป็นโมฆะนั้น ใครคือ คนที่เสียประโยชน์กันแน่" นายอุดม กล่าว

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับหนังสือที่ กรธ. ชี้แจงต่อ กกต. ลงนามโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เพื่ออธิบายต่อเจตนารมณ์กรอบระยะเวลาดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 268 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 มีสาระสำคัญ ว่า กรธ.ไม่มีหน้าที่ตอบข้อหารือหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบระยะเวลาให้ กกต. ประกาศผลเลือกตั้งภายในเวลาที่กำหนดนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง สมัยที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้และกำหนดในรายละเอียดของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน 90 วัน จากการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 23 ธ.ค. 2550 พบว่า กกต. ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง จำนวน 11 ฉบับ โดยพบว่ามี 9 ฉบับที่ประกาศเกินเวลา 90 วันที่กฎหมายระบุ.

               


 

 

กรธ.หมดหน้าที่ ตั้งโต๊ะแจงกรอบ 150 วันเพื่อเลือกตั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ