ข่าว

"ประธานสภาวิศวะฯ"เตือน รถไฟความเร็วสูง อย่าให้จีนผูกขาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สุทธิชัย” Live “ปธ.สภาวิศวกรรมฯ” เตือน “รัฐบาล” ทำข้อกำหนดโครงการรถไฟเร็วสูง กับ “จีน” อย่าให้ผูกขาด

          27 มิ.ย. 2560 - สุทธิชัย หยุ่น ผู้ก่อตั้งเครือเนชั่น  สัมภาษณ์ “คมสัน มาลีศรี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย” ต่อประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44  เพื่อเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไทย ได้บันทึกความเข้าร่วมว่าด้วยความร่วมมือกัรัฐบาลจีนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย  ผ่านเฟซบุ๊ค Suthichai yoon  ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าการร่วมมือดังกล่าวเป็นการขยายอิทธิพลของประเทศจีนมายังภูมิภาคผ่านประเทศไทย และหากรัฐบาลไทยไม่ระมัดระวังต่อข้อกำหนดร่วมอาจสร้างปัญหาทางสังคมในอนาคต ร่วมกับปัญหาด้านระบบตามมา


                โดย นายคมสัน ระบุว่า ตนเข้าใจว่ามาตรา 44 เพื่อเร่งรัดและประสิทธิภาพโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ  - นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาทางข้อกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดเงื่อนไขในหลักการทางด้านวิศกรในโครงการต่างๆ ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ดังนั้นคำสั่งมาตรา 44 จึงบัญญัติเพื่อแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของคำสั่งมาตรา 44 ดังกล่าวตนและเครือข่ายวิศกรในนามประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยมีข้อกังวลว่าจะเกิดการเสียเปรียบ และถูกประเทศจีนถือเป็นทางสะดวกที่จะดำเนินการในด้านต่างๆ ของโครงการ
                “จากคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกมาทางวิศวกรคงไม่สามารถคัดค้านได้ ดังนั้นมีสิ่งที่เป็นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมาเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและคนไทย คือ ในกระบวนการทำข้อตกลงนั้นต้องกำหนดให้ฝ่ายจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในโครงการ มาให้กับฝ่ายไทยด้วย และในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งการศึกษาขั้นต้น, การออกแบบ, การก่อสร้าง, สร้างโบกี้ รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณ ต้องมีตัวแทนและบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญจากฝ่ายไทยเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเรียกรู้และนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดด้วยตัวเองในอนาคต รวมถึงต้องกำหนดให้มีการตั้งศูนย์ทดสอบระบบในประเทศไทย รวมถึงเพื่อให้เกิดการต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งผมการันตีว่านักวิชาการ วิศกรของประเทศไทยเป็นผู้มีความรู้และมีศักยภาพ โดยประเด็นนี้ผมมองว่าหากไทยจะทำแล้วต้องคิดให้ใหญ่” นายคมสัน กล่าว
                ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอด้วยว่าสำหรับในประเด็นการตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพควรจะมีผู้ร่วมโครงการจากประเทศที่ 3  ที่ไม่ใช่เฉพาะจีน หรือเฉพาะไทย แต่ควรเป็นประเทศอื่นที่มีประสบการ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานที่ได้รับความน่าเชื่อถือ   รวมถึงรายละเอียดของการถ่ายโอนเทคโนโลยี ข้อมูลขอสัญญา การออกแบบ รวมถึงการปฏิบัติการต้องให้เป็นไปตามหลักการสากล โดยเฉพาะภาษาที่ใช้เขียนแบบหรือรายละเอียดงานก่อสร้างต้องเป็นภาษาอังกฤษ   
                “สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ จีน จะสามารถรสร้างรถไฟในประเทศเราให้มีคุณภาพได้หรือไม่ เพราะกฎหมายควบคุมของประเทศเราไม่เข้มข้นเท่ากับกฎหมายของประเทศจีน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จีนต้องใช้ด้วย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดี หากการกำหนดรายละเอียดในสัญญาต้องเขียนให้ชัดเจนว่าต้องใช้วัสดุจากในประเทศไทยให้มากกว่านำเข้าจากประเทศจีน   เช่น เหล็ก เป็นต้น รวมถึงควรกำหนดในแง่ความร่วมมือในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยด้วย อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ใช่ปล่อยให้จีนนำเข้า หรือผูกขาดเพียงฝ่ายเดียว รวมถึงต้องกำหนดเรื่องแรงงานที่ใช้ในการก่อสร้าง ต้องกำหนดปริมาณเพื่อไม่ให้เกิดการล้นทะลักของแรงงานเข้าประเทศมากเกินไปในอนาคต”  ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าว
                ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ นายคมสัน กล่าวยอมรับว่าในประเทศไทยมีวิศกรคนไทยที่มีประสบการณ์ด้านรถไฟความเร็วสูงไม่มากนัก แต่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะในประเทศไทยมีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น เครื่องกล, ไฟฟ้า, โลจิสติก, คอมพิวเตอร์ หากนำองค์ความรู้มาประกอบกันและต่อยอดไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้   ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลต้องกำหนดให้เป็นนโยบายและใช้สถาบันการศึกษาขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ