ข่าว

ปัญหาคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจากพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สองเกลอ

           แม้จะเป็นข่าวเล็ก ๆ การโยกย้ายข้าราชการระดับผอ.ในกรมวิชาการเกษตรช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เป็นที่สนใจและได้รับการจับตาพอสมควร เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของผลประโยชน์ที่ได้รับผลอานิสงค์มาจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551

           พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 นั้น เป็นกฎหมายใหม่แทนพ.ร.บ.วัตถุอันตรายพ.ศ.2535 นัยว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการค้าสารเคมีเกษตรให้ทันสมัย เป็นประโยชน์ ถือเป็นหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติ อาจเป็นหนังคนละม้วน เริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้ มีการนำเอากลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาประชุมหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นไปได้และเป็นธรรมมากที่สุด เป็นแนวทางการมีส่วนร่วมที่ใช้กันมาทุกวันนี้

              แต่เมื่อผู้มีอำนาจของกรมวิชาการเกษตรไม่เอาด้วย การร่างกฎหมายจึงเป็นของกรมฯเพียงฝ่ายเดียว นำไปสู่กระบวนการครอบครองผูกขาดการค้าวัตถุอันตรายหรือสารเคมีเกษตร โดยโละหรือยกเลิกทะเบียนสารเคมีเก่าทุกทะเบียน แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 22 สิงหาคม 2554 กรมฯเพียงฝ่ายเดียวยังไม่ร้ายเท่ากับเนื้อในกฎหมาย ที่ออกแบบแนบเนียนผ่านการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรเพื่อหวังผลลับบางประการ เช่น ต้องทำกระบวนการขึ้นทะเบียนให้ยากๆเข้าไว้ ใช้เงินทุนเยอะๆเข้าไว้ เพื่อจำกัดจำนวนผู้ค้าให้น้อยราย เปิดทางให้เป็นตลาดการค้ากึ่งผูกขาด

              สารเคมีเกษตรที่ใช้ในตลาดนับสิบๆปี ยังต้องขึ้นทะเบียนใหม่ ต้องผ่านการทดสอบพิษ สารตกต้าง ต้องมีแปลงทดสอบ ต้องมีหน่วยงานกำกับที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีน้อยรายมาก หนึ่งในนั้นคือบริษัทห้องปฏิบัติการการเกษตร(ประเทศไทย)จำกัด หรือ เซ็นทรัล แล็บ ที่อื้อฉาวของนักการเมืองกับข้าราชการที่ร่วมสมคบคิดหากินกันมา และยังมีคดีค้างอยู่ที่ป.ป.ช. เป็นกับดักแรกที่ต้องการให้การขึ้นทะเบียนยากลำบากที่สุด ด้านหนึ่ง ต้องการให้ยื่นหมูยื่นแมวกัน ใครอยากได้ทะเบียนก็ต้องวิ่งเต้นจ่าย อีกด้านหนึ่ง เป็นช่องทางที่นักการเมืองสามารถช่วยบริษัทเครือข่ายของตัวได้ทะเบียนผ่านได้สะดวกโยธิน

              มีการเตรียมการศึกษาทางหนีทีไล่ ให้บริษัทผู้ผลิตสารเคมีเกษตรในจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักออกใบรับรองไว้ล่วงหน้าให้กับบริษัทเครือข่ายนักการเมือง ในขณะผู้ค้ารายอื่นไม่รู้เรื่องนี้กันเลย เป็นการจำกัดผู้ค้าสารเคมีเกษตรอันดับแรก จากที่มีอยู่หลายร้อยรายให้เหลือไม่กี่ราย อีกทั้งค่าทดสอบต่างๆนั้นต้องใช้เงินทุนมากนับแสนบาทต่อรายการ บริษัทเล็กๆเดือดร้อนไปหมด

              อีกกับดักหนึ่ง สารเคมี 1 ตัวสามารถใช้ชื่อการค้าได้ 3 ชื่อ นับว่าชื่อทางการค้ามีมากมาย สร้างความสับสนให้เกษตรกร เป็นข้ออ้างเนียนๆโดยอาศัยข้อโจมตีจากเอ็นจีโอมาสร้างความชอบธรรมในการจำกัดผู้ค้าสารเคมีเกษตรอีกประการหนึ่ง ก็แล้วทำไม ยาแก้ปวดพาราเซตามอลเพียงตัวเดียว กลับมีชื่อทางการค้านับพันชื่อ ไม่เห็นใครเดือดร้อนจะเป็นจะตาย กฎ กติกา เหล่านี้ ไม่อาจออกมาได้เลย หากเป็นการระดมความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมสารเคมีเกษตรนี้ ดังนั้น จะเป็นอื่นใดไม่ได้ว่า มีการออกแบบชาญฉลาด เพื่อหวังลดหรือจำกัดผู้ค้าสารเคมีเกษตรให้เหลือน้อยราย

           หนึ่งในน้อยรายนั้นคือกลุ่มบริษัทของนักการเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วก่อนปี 2551 ด้วยซ้ำ เพราะสามารถขึ้นทะเบียนก่อนหน้านั้นได้มากมาย พอมีพ.ร.บ.ฉบับใหม่ก็ได้รับเต็มๆเป็น 1 ใน 5 รายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมากที่สุด เจ้าอื่นขึ้นอาจทะเบียนด้วยเงินตรา แต่เจ้านี้ขึ้นทะเบียนง่ายดาย ด้วยส่วนแบ่งการนำเข้าว่ากันเป็นอัตราต่อตัน บริษัทขยายตัวเท่าไหร่ นักการเมืองและข้าราชารที่ร่วมรับใช้ก็ได้เงินมากตามไปด้วย เนียนมากๆเพราะไม่มีชื่อนักการเมืองหรือข้าราชการ อยู่ในบริษัทแม้แต่คนเดียว

             ความมาแตกเอา ตอนที่มีบริษัทผู้ค้ารายเล็กรายหนึ่ง เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ฟ้องเรื่องความไม่ชอบมาพากลต่อคณะกรรมการที่ดูแล พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อลดความล่าช้า สิ้นเปลือง และความยุ่งยากในการกระบวนการต่างๆที่ประชาชนต้องมาติดต่อราชการ รวมทั้งป้องกันการทุจริตคณะกรรมการฯชุดนี้ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแล

            เท่านั้นเอง เรื่องนี้ก็กระหึ่มไปทั่ววงการ รองนายกฯวิษณุสั่งให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมทั้งส่งจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่มารับเรื่องราวร้องทุกข์และลงทุนจัดประชุมที่โรงแรมเอง เพื่อรับทราบปัญหาที่แท้จริงจากการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 บริษัทเล็ก ๆ แห่งนี้ ลุกขึ้นร้องเรียน เพราะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนแล้วไม่ถึงคิวสักที ไม่มีทะเบียนก็ไม่สามารถขายสินค้าได้ ไปติดต่อหน่วยงานขึ้นทะเบียนที่กรมวิชาการเกษตร ได้รับคำตอบประมาณ “ยังไม่ถึงคิว”บ้าง หรือ “สารตัวนี้ขึ้นทะเบียนพอแล้ว ไม่ขึ้นให้อีกแล้ว”

          ธุรกิจไม่ใช่หน่วยราชการที่ไม่มีงานทำแล้วยังมีเงินเดือนจ่าย เธอต้องเลี้ยงลูกน้อง ประคองธุรกิจ จึงตัดสินใจฟ้องร้อง จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครนึกถึงเลยน่าจะจบแล้ว แต่ก็ยังจบไม่ได้ ไม่รู้เป็นเพราะเรื่องนี้หรือไม่ แต่มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจากนายสมชาย ชาญณรงค์กุล เป็นนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ลูกหม้อเก่ากรมวิชาการเกษตรที่เป็นผู้ตรวจราชการประจำกระทรวงเกษตรฯ เป็นเผือกร้อน กลืนไม่ได้ โยนทิ้งก็ไม่ได้ อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

           เพราะที่ขอขึ้นทะเบียน 4,000 รายการนั้นค้างเติ่งมาหลายปีแล้วท่ามกลางปัญหา”คิว” อธิบดีสุวิทย์เองพยายามทำให้การขึ้นทะเบียนเป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรม ที่เคยอั้น ๆ ไว้ไม่พิจารณาก็ต้องพิจารณาให้เขา ที่ว่าพิจารณาตามคิว ก็ต้องเป็นคิวที่แท้ ไม่ใช่คิวแซง คิวผู้มีอำนาจ ตลอดมา

          เชื่อหรือไม่ว่า คนพิจารณาจัดคิวมีอยู่แค่ 1-2 คน หัวหน้ากับลูกน้อง คนอื่นไม่มีทางล่วงรู้ได้เลย เวลาไปขอขึ้นทะเบียนก็เปิดลิ้นชักก่อนตอบว่า ยังไม่ถึงคิว ทะเบียนมากแล้ว รู้ถึงไหนอายถึงนั่น แล้วฟ้าก็ผ่า มีการโยกย้ายข้าราชการ”น้ำดี” จากฝีมือการกระจายข่าวของกลุ่มการเมืองที่หวังทำลายนายสุวิทย์ จนวิญญูชนเองฉงนฉงายถึงนิยาม” น้ำดี”หมายถึงอะไรกันแน่ หมายถึงการงุบงิบเปิดดูโพยในเก๊ะ หมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าบางราย แต่ปิดโอกาสผู้ค้าจำนวนมากอย่างนั้นหรือ?

          ฟางเส้นสุดท้ายที่นายสุวิทย์ตัดสินใจฟันฉับ น่าจะเป็นเพราะสั่งการให้รายงานจำนวนบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จำนวนทะเบียนที่ได้ขึ้น และการจัดทำคิวที่เป็นธรรม แล้วไม่มีการตอบสนองใด ๆ นอกจากทำเมินเฉยจะตอบสนองไปทำไม ในเมื่อกลุ่มข้าราชการระดับสูงรับใช้นักการเมืองประกาศโต้งๆที่เซ็นทรัล แล็บว่าอีก ไม่เกิน 6 เดือนจะเด้งอธิบดีสุวิทย์ แล้วเอาคนของกลุ่มตัวเองกลับมาเป็นอธิบดีให้ได้

          กรรมที่ไม่ได้ก่อ หากเป็นกรรมจากการขวางกระบวนการงาบผลประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนและจำกัดผู้ค้าให้เหลือน้อยราย ส่งผลให้นายสุวิทย์ต้องเผชิญการสร้างข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวบิดเบือน ผ่านสื่อในเครือข่ายนักการเมือง ทำนองปล่อยผีสารเคมีเกษตร 4,000 รายการ เป็นคนที่ทำให้สารพิษเต็มเมือง ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของนายสุวิทย์ทั้งสิ้น

          ลืมความจริงไปว่า พาราเซตามอลตัวเดียว ขึ้นทะเบียนเป็นพันชื่อ ลืมหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ความต้องการใช้นั้นมีจำกัด ต่อให้มีหมื่นทะเบียน แต่พื้นที่ปลูกมีจำกัด ราคาพืชผลไม่ดี เกษตรกรที่ไหนจะใช้สารเคมีเกษตรได้มากมายอย่างมโนนึกกัน

          คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจากพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับนี้ เป็นเรื่องที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ก็ดี ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ และสนับสนุนคนดีให้ขึ้นมาดูแลปกครองคนไม่ดี รวมทั้งรื้อขยะที่ซุกใต้พรม ทั้งการขึ้นทะเบียนรวมถึงคดีทุจริตเซ็นทรัล แล็บ ที่เงียบฉี่ทั้งที่มีหลักฐานมากมาย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ