ข่าว

เปิด 4 ยุทธศาสตร์จัดการน้ำ! ทางแก้ปัญหาลุ่มน้ำปราจีนฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย : โต๊ะข่าวเกษตร

               ลุ่มน้ำปราจีนบุรี เป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่ประสบปัญหาในเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการรุกล้ำของน้ำเค็ม จนทำให้คุณภาพน้ำเสียไป ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีแผนที่จะแก้ไขปัญหาทั้ง 3 น้ำดังกล่าวให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2569 โดยได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกเป็น 4 แนว คือ
               1.จัดหาและบริหารจัดการแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อตัดยอดน้ำ และชะลอน้ำที่มาจากตอนบนของลุ่มน้ำ  ได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2569 จะเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอีก 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนอกจากจะสามารถตัดยอดน้ำและชะลอน้ำที่มาจากตอนบนของลุ่มน้ำบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังจะมีความต้นทุนในการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งใช้ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเสียอีกด้วย

 

เปิด 4 ยุทธศาสตร์จัดการน้ำ! ทางแก้ปัญหาลุ่มน้ำปราจีนฯ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

             2.ปรับปรุงทางน้ำสายหลักและสาขา  รวมถึงอาคารชลประทานต่างๆ เพื่อรองรับการระบายน้ำจำนวนมาก 3.ผันน้ำ และหาพื้นที่รับน้ำนอง เพื่อหน่วงน้ำในลุ่มน้ำวิกฤติ และ 4.จัดจราจรน้ำใหม่ เพื่อแบ่งเบาจุดคอขวดที่เชื่อมระหว่างตอนบนและตอนกลางของลุ่มน้ำ ให้น้ำไหลได้สะดวกตามความสามารถของลำน้ำ กรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ได้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำดังกล่าวมาใช้ดำเนินการในลุ่มน้ำปราจีนบุรี

               ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งบริเวณกลาง-ท้ายน้ำของลุ่มน้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำบางปะกงที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ตั้งแต่ อ.กบินทร์บุรี ผ่าน อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมืองปราจีนบุรี ไปจนถึง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และเมื่อถึงฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซาก เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มจากปากแม่น้ำเข้ามาในแม่น้ำได้ไกลถึง 145 กิโลเมตร หรือบริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร อ.เมืองปราจีนบุรี ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชนใน อ.เมืองปราจีบุรี ผลิตน้ำประปา และการทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลพระอภัยภูเบศ

               รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยต่อว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตอนกลางและท้ายของลุ่มน้ำ กรมชลประทานได้นำแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวทางที่ 2-4 มาใช้ในการศึกษา จากผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่กลาง-ท้ายน้ำของลุ่มน้ำปราจีนบุรี สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงทางน้ำสายหลักและสาขา รวมถึงอาคารชลประทานต่างๆ เช่น การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ พร้อมคันกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านเขตเศรษฐกิจ บริเวณ อ.กบินทร์บุรี

 

เปิด 4 ยุทธศาสตร์จัดการน้ำ! ทางแก้ปัญหาลุ่มน้ำปราจีนฯ

 ลุ่มน้ำปราจีนบุรี

            การขุดลอกแม่น้ำปราจีนบุรี เพื่อเพิ่มความจุน้ำในลำน้ำ ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำท่วมได้ ขุดลอกคลองระบายในพื้นที่เขตบางพลวง การก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังชัน ปรับปรุงประตูระบายน้ำต่างๆ ในพื้นที่เขตบางพลวง ติดตั้งสถานีสูบน้ำถาวร เพื่อบริหารควบคุม และจัดระบบจราจรน้ำให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ลุ่มในเขตส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง ซึ่งมีประมาณ 3 แสนไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำนองเพื่อหน่วงน้ำและเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 274 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการทำนาปรัง และการผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง
               “หากกรมชลฯ สามารถดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำสาขา ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 8,100 ล้านบาท ได้สำเร็จ ประกอบกับมีการพัฒนาเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อตัดยอดน้ำ โดยเฉพาะการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ต้นน้ำ นอกจากจะทำให้ลุ่มน้ำปราจีนบุรีมั่นคงเรื่องน้ำเพื่อรองรับการใช้น้ำภาคประชาชน ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังทำให้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาคุณภาพจากการรุกล้ำของน้ำเค็มบรรเทาลงด้วย สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปีของรัฐบาล” ดร.สมเกียรติยืนยัน
               ยุทธศาสตร์บริหารจัดการลุ่มน้ำปราจีนบุรีของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นทั้ง 4 แนวทาง โดยยึดหลักการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืนสามารถแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบได้ภายในปี 2569 อย่างแน่นอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ