Lifestyle

'โป่งลึก-บางกลอย' ชีวิตใหม่ที่ต้องก้าวเดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โป่งลึก-บางกลอย' ชีวิตใหม่ที่ต้องก้าวเดินไปข้างหน้า : คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย...ภูฟ้า-ภูตะวัน

                พื้นที่แนวชายแดนด้านตะวันตกที่มีแนวเทือกเขาตะนาวศรีแบ่งกั้นพรมแดน ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ จากราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงระนอง ซึ่งเป็นเทือกป่าเขาอันอุดมสมบูรณ์ทั้งผืนป่า และสัตว์ป่าน้อยใหญ่มากมาย นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องราวของชีวิตผู้คนของชนชายขอบเผ่ากะเหรี่ยงกะหร่างที่ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ตามธรรมชาติ 

               บ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี เป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่เราได้เลือกเป็นเส้นทางท่องเที่ยวในรูปแบบธรรมชาติและเรื่องวิถีชีวิตของชนเผ่ากะหร่าง ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากป่าผืนนี้ นับเริ่มต้นจากบ้านโป่งลึก เป็นหมู่บ้านกะหร่างที่จัดตั้งขึ้น โดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รวบรวมชนเผ่าชาวกะหร่างที่กระจายอยู่ในแถบต้นแม่น้ำเพชรุบรี แม่น้ำบางกลอย ที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้มารวมกันเป็นหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อสะดวกต่อการจัดรูปแบบ และบริหารจัดการเรื่องการอนุรักษ์ พร้อมทั้งให้ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินอย่างถาวร ลดการทำลายป่า มีอาชีพที่มั่นคง

               จากป่าใหญ่ถึงบ้านโป่งลึก มาจนถึงบ้านบางกลอยใหม่ คือ ชุมชนใหม่ที่เกิดขึ้นในบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี วิถีแห่งชนเผ่าเริ่มมีการเรียนรู้กับโลกทัศน์ใหม่ๆ และมีการพัฒนาชุมชน พื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะที่ดินทำกิน แต่ขาดระบบน้ำเพื่อการเกษตร จึงมีแนวทางพัฒนาพื้นที่เชิงประยุกต์ตามพระราชดำริบ้านโป่งลึก-บ้านบางกลอย กับแนวคิดที่ยึดหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

               ดังนั้น จึงเกิด “พื้นที่ต้นแบบโป่งลึก-บางกลอย” ขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันศึกษาปัญหาและความต้องการของชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางออก เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายกะหร่างในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

               การเดินทางสู่บ้านโป่งลึกในครั้งนี้ ถนนหนทางเริ่มสะดวกขึ้น จากดั้งเดิมที่เคยยากลำบากกระทั่งเมื่อชุมชนมีการพัฒนา และมีการส่งเสริมพื้นที่เกษตรกรรมโดยโครงการปิดทองหลังพระที่เข้าไปให้พัฒนาการทำมาหากินแบบยั่งยืนให้แก่ชุมชน

               เริ่มจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เราต้องติดต่อขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่ นักท่องเที่ยวต้องนำใบอนุญาต แจ้งที่ด่านเขามะเร็ว เป็นจุดตรวจก่อนเข้าไปยังบ้านโป่งลึก ซึ่งต้องเข้าไปอีกประมาณ 30 กม.กว่าๆ โดยสภาพเส้นทางจะเป็นทางลูกรัง รถยนต์ปิกอัพพอเข้าได้ จะให้สะดวกก็เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ หากเป็นช่วงต้นฤดูฝนเช่นนี้ก็ไปได้ถึงไหนถึงกัน

               เนิ่นนานสิบกว่าปีที่เราได้เข้าไปยังบ้านโป่งลึก ความเหมือนที่เห็นอยู่ก็คือ เส้นทางยังมีสภาพลำบากเหมือนเดิม เราใช้ GPS นำทาง แม้ว่าจะใช้โปรแกรมตัวใหม่ก็ยังหาพิกัดหมู่บ้านโป่งลึกก็ไม่เจอ เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดพิกัดหมู่บ้านเอาไว้ พบแต่เส้นทางถนนที่วิ่งเคียงเลียบและคดเคี้ยวไปกับแม่น้ำเพชรบุรี มีถนนอยู่เส้นเดียวไปสิ้นสุดที่หน่วยโป่งลึก ไม่ต้องกลัวว่าจะหลงไปทางไหน ขับไปเรื่อยๆ ก็ถึงแน่นอน

               ผ่านเรือกสวนชาวบ้านไปเป็นระยะๆ บ้างก็ข้ามลำห้วยเล็กๆ ที่เราต้องทึ่งกับเรื่องราวธรรมชาติของหมู่ผีเสื้อ ที่เกาะกลุ่มรวมกันดูดกินแร่ธาตุอาหารตามริมน้ำ จนอดไม่ไหวต้องลงไปเก็บภาพที่สวยคุ้มค่าเหล่านี้... เมื่อยามที่รถแล่นผ่าน เหล่าฝูงผีเสื้อต่างแตกฮือกระจายรายล้อมรถ จนกลายเป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจเป็นยิ่งนัก

               จำพวกผีเสื้อที่พบเห็นกลุ่มใหญ่ ได้แก่ ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อเณรยอดไม้ ผีเสื้อจรกา หรือผีเสื้อตาลหางแหลม รวมผีเสื้อขนาดจิ๋วอีกจำนวนมาก ขับไป จอดถ่ายรูปผีเสื้อไปตลอดทาง ซึ่งมักจะพบตามแอ่งน้ำ ลำธาร รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ จึงเป็นความสวยงามที่ตื่นตาตื่นใจกับชีวิตบนเรียวปีกแสนสวย ที่มีวงจรเจริญพันธุ์เพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือน

               จนกระทั่งเข้าสู่เขตหมู่บ้าน มองเห็นไร่สวนของชาวกะหร่างที่เริ่มเปิดหน้าดินเพื่อปลูกข้าวไร่ ปลูกข้าวโพด ไกลออกไปก็เห็นแนวสายน้ำเพชรบุรีไหลคดโค้งอยู่ในหุบด้านล่าง แลเห็นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเพชรบุรีที่เชื่อมชุมชนหมู่บ้านโป่งลึก กับบ้านบางกลอยใหม่

               พื้นที่บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อนำชนเผ่ากะหร่างที่ตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ในผืนป่าต้นน้ำให้มารวมกันเป็นกลุ่มเดียว พร้อมจัดสรรพื้นที่ทำกินอย่างเหมาะสมและชัดเจน

               เราขับรถผ่านชุมชนบ้านโป่งลึก จะพบเห็นโรงเรียน ตชด. กับบ้านเรือนชาวบ้านที่กระจายกันอยู่สองข้างทาง กระทั่งไปสิ้นสุดเส้นทางถนนที่หน่วยพิทักษ์ป่าโป่งลึก ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เราสามารถพักค้างแรมได้ มีลานตั้งแคมป์ในร่มไม้ใกล้ชิดติดแม่น้ำเพชรบุรี

               ช่วงเวลาบ่ายๆ เราถือโอกาสแวะเข้าไปเที่ยวชมหมู่บ้านบางกลอยใหม่ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี โดยต้องข้ามสะพานแขวนจากฝั่งบ้านโป่งลึก ไปยังบ้านบางกลอย ที่มีการอพยพมาตั้งรกรากเมื่อปี 2539 จนกลายเป็นหมู่บ้านถาวรขึ้นมา ซึ่งเรื่องราววิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหร่างบ้านบางกลอย ยังคงรูปแบบที่เป็นอยู่ พร้อมกับเรื่องราวชีวิตที่ไหลตามกระแสสังคมเพื่อความอยู่รอด รายได้จากการเกษตรกรรมอาจยังไม่เพียงสำหรับครอบครัว ชีวิตประจำวันยังพึ่งพาธรรมชาติ บางอย่างต้องพึ่งพาปัจจัยจากสังคมเมือง บางครอบครัวปลูกข้าวเพียงพอแค่กิน พืชผักผลไม้ปลูกขายบ้าง แต่อาจไม่พอกับการดำรงชีพในรูปแบบใหม่

               “ผมต้องไปรับจ้างทำงานที่ชะอำ เป็นอู่รถ พอมีรายได้เลี้ยงลูกเมียครับ ถ้าไม่ไปทำงานรับจ้างก็ไม่มีอะไรเลี้ยงครอบครัว ที่ดินทำกินของผมก็ยังไม่มี”หนุ่มกะหร่างพ่อลูกอ่อน สะท้อนความในใจออกมาให้เราทราบถึงวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่อตัวเอง และครอบครัว การอพยพจากในป่ามาอยู่หมู่บ้านใหม่ เขาหรือคนอื่นได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกันแค่ไหน หรือทำไมเขายังไม่ได้รับสิทธิ์ที่พึงมี ซึ่งสาเหตุนั้นต้องมีคำตอบที่ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน

               เด็กๆ ในหมู่บ้านจะเป็นเด็กรุ่นเล็กเสียส่วนใหญ่ ส่วนวัยหนุ่มสาวหรือรุ่นใหญ่ก็ต้องจากบ้านเรือนเพื่อไปหางานทำในเมือง อันเป็นแหล่งรายได้ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวตัวเองได้ และวันนี้ภายในหมู่บ้านมีกิจกรรมร่วมกับมวลชนหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม ปรับผืนดินเป็นนาขั้นบันได ให้เป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงครอบครัวและชุมชนอย่างมั่นยืน โดยโครงการปิดทองหลังพระ ที่มีการร่วมมือกันหลายฝ่าย เพื่อให้มิติแห่งความฝันของชาวกะหร่างจะได้อยู่ดีกินดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

......................................................

('โป่งลึก-บางกลอย' ชีวิตใหม่ที่ต้องก้าวเดินไปข้างหน้า : คอลัมน์ชวนเที่ยว  : โดย...ภูฟ้า-ภูตะวัน)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ