แพทย์เผยคน 'อายุน้อย' เสี่ยงเป็น 'หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น' มากขึ้น
แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเตือน วัยทำงานมีความเสี่ยงเป็น 'หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น' พบ 'อายุน้อย' ที่สุด 24 ปี แนะรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ตรงจุด หากรักษาช้าเสี่ยงพิการได้
นพ.ณฐพล ลิตติรานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น ตั้งแต่ปี 2560 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป และจะมาด้วยอาการปวดหลังร้าวลงขา ชาและอ่อนแรงร่วมด้วย หากเปรียบเทียบกับในช่วงปัจจุบัน ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงวัยยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่ในทางกลับกันพบว่า กลุ่มคนที่มี อายุน้อย ลงกลับมีอาการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่พบในกลุ่มคนวัยทำงานหรือกลุ่มคนที่มี อายุน้อย ที่เริ่มเป็นโรค หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น มากขึ้นเพราะ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ยกของหนัก ,นั่งนาน, ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ หรือก้มตัวยกของ
นพ.ณฐพล ยังเผยอีกว่า หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้ง 2 ข้อ ปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดคอหรือหลัง หากมีการกดทับมากอาจเสี่ยงต่อความพิการได้ ส่วนอาการที่พบได้บ่อยคือ ปวดคอ ปวดหลังส่วนล่าง ปวดบริเวณก้น หรือสะโพกร้าวลงขา (บริเวณเส้นประสาทไซแอ็ททิค Sciatic nerve ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายของมนุษย์) ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา หรือเสียวเหมือนไฟช็อต ร้าวลงขา หรือแขน ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ส่งผลให้ขณะก้มยกของหรือทรงตัวมีปัญหา หากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงระบบขับถ่ายมีปัญหา
อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วย หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น ในกลุ่มคนที่ อายุน้อย นพ.ณฐพล ยังเผยอีกว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดหลังและหากรับประทานยาแก้ปวดนานเกิน 1 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจ X-ray และ MRI เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ซึ่งการรักษาอาการปวดจากภาวะ หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน จะเริ่มจากการฉีดยาระงับการอักเสบที่บริเวณโพรงเส้นประสาทไขสันหลัง หากหมอนรองกระดูกเริ่มปูดนูน หรือปลิ้นออกมาไม่มาก แพทย์อาจจะพิจารณาทำการรักษาด้วยการจี้เลเซอร์ในบริเวณที่มีปัญหา
แต่เมื่อใดก็ตามที่ หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น หรือเคลื่อนกดทับเส้นประสาทในปริมาณที่มาก แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป หรือการเจาะรูส่องกล้อง ด้วยเทคนิค PSLD (Percutaneous Stenoscopic Lumbar Decompression) ที่บริเวณส่วนหลัง หรือ เทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) ที่บริเวณส่วนคอ
ทั้งนี้ นพ.ณฐพล ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่มี อายุน้อย ที่สุดที่เคยเข้ารับการรักษา คืออายุ 24 ปี โดยผู้ป่วยรายนี้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศ มีพฤติกรรมนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน บางครั้ง 3 - 4 ชั่วโมงติดต่อกัน ผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวดสะโพกร้าวลงต้นขา มีประวัติการรักษามาจากที่อื่น เคยทานยาและทำกายภาพมาก่อนและอาการดีขึ้นบางส่วน แต่เมื่อหยุดยา หยุดทำกายภาพอาการปวดก็กลับมา และในวันที่ผู้ป่วยรายนี้เข้ามารับการรักษา คือไม่สามารถเดินและนอนได้ เบื้องต้นจึงส่งผู้ป่วยรายนี้ทำ X-ray ร่วมกับการทำ MRI เมื่อผลการตรวจยืนยันว่าพบหมอนรองกระดูกเคลื่อน จึงได้วางแนวทางการรักษาด้วยการเจาะรูส่องกล้องเพื่อนำสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออก หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก สามารถลุกขึ้นเดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังการผ่าตัด