Lifestyle

ภาวะเครียด​ เกิดโรค​ 'ลำไส้แปรปรวน​ อาการ'​ ปวดท้อง​เป็นปีๆ​

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายคนปวดท้องบ่อยๆ​ แน่นท้องเป็นพักๆ​ หลังรับประทานอาหาร บางคนเป็นปีๆ​ ก็ไม่หาย​ ตรวจหาค่ามะเร็งไม่เจอ​ ลำไส้ไม่​อักเสบ  สรุปแล้วเป็นอาการของโรคอะไร วันนี้​ 'คม​ ชัด​ ลึก'​ จะพาไปทำความรู้กับ 'โรคลำไส้แปรปรวน​'

"โรคลำไส้แปรปรวน" หรือ ไอบีเอส (IBS) เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเป็นโรคเรื้อรังและมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีก หากผู้ป่วยยังคงไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์​ ซึ่งไม่ค่อยพบในคนไทย แต่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำคัญของชาวตะวันตก

 

โรคลำไส้แปรปรวนจะมีอาการปวดท้อง​ แน่นท้อง​ หลังจากรับประทานอาหาร

 

สาเหตุของโรค​ ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จัดว่าเป็นโรคในกลุ่ม Functional Bowel Disorder ชนิดหนึ่ง หมายความถึงโรคที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดหรือการตรวจเพิ่มเติมเพื่อสืบค้นหาสาเหตุ ไม่พบว่ามีการอักเสบและไม่พบว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งแต่อย่างใด

 

อาการต่างๆ ของโรคนี้เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังลำไส้

จากหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส ซึ่งทีปัจจัยที่สำคัญได้แก่​ การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก

 

ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก

 

ภาวะเครียด​ เป็นหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวน

 

นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนเสริมให้มีอาการมากขึ้น​ มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (Brain – Gut Axis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน​ การใช้ยาบางชนิด​ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน​

 

คำถามที่ขาดไม่ได้คือ​ ติดต่อทางกรรมพันธุ์หรือไม่​ แพทย์โรงพยาบาลศิครินทร์​ระบุไว้ว่า​ ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้ 2–3 เท่า

 

อาการของโรคมีอะไรบ้าง​ ผู้ป่วยมักทรมานจากการปวดท้อง ซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้น ส่วนใหญ่มักปวดที่ท้องน้อย ลักษณะปวดเกร็ง หลายคนสังเกตพบว่าอาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ อาการปวดท้องแต่ละครั้งรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย ร่วมกับการมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งสลับกัน

 

โดยแต่ละรายจะมีอาการหนึ่งอาการใดเด่นกว่าอีกอาการหนึ่ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด ท้องผูก หรืออาจมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ถ่ายเป็นมูกปนอุจจาระมากขึ้น

 

หลายคนอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด มีลมมากในท้อง เรอบ่อยๆ เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ซึ่งล้วนเป็นอาการที่สำคัญของโรคไอบีเอสทั้งสิ้น อาการต่างๆ เหล่านี้มักเป็นนานเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักมีประวัติมานานหลายปี

 

โรคลำไส้แปรปรวนจะเป็นโรคเรื้อรัง อาจเป็นปีๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แม้จะเป็นมาหลายๆ ปี และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญ ผู้ป่วยจะวิตกกังวลมากว่าทำไมโรคไม่หายสักที แม้ได้รับยารักษาแล้วก็ตาม โรคนี้ถือว่าเป็นโรคลำไส้ที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง

 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก อาจไม่เคยไปพบแพทย์เลยด้วยซ้ำ แต่ในบางรายก็อาจมีอาการที่รุนแรงขึ้นจนเป็นปัญหาได้เช่นกัน

 

ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลจากลำไส้แปรปรวน​ ลดการรับประทานเนื้อสัตว์หรือไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนย่อยยาก ควรเน้นรับประทานอาหารประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง และเนื้อปลา​

 

หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์

 

หลีกเลี่ยงการรับประทานของมัน ของทอด หรือเบเกอรี่ที่อุดมไปด้วยนม เนย​ รับประทานอาหาร ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใย​

 

เน้นทานผักและผลไม้

 

รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร ไม่ควรเร่งรีบรับประทาน​ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ซึ่งก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร​

 

ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์​ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ข้อมูล: โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลกรุงเทพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ