Lifestyle

"พลาสติก"กับโควิด...จะลดใช้ หรือทิ้งไว้ให้ลูกหลานกิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ลึกลับโลกมนุษย์ โดย ดร.บีจี ...."พลาสติก" ที่ใช้กันโครม ๆ โดยเฉพาะในยุคอยู่บ้านรับประทานอาหารเดลิเวอรี่ จะกลายเป็นอาหารพิษของลูกหลานในวันข้างหน้า นี่ไม่ใช่เวลาเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอีกต่อไปแล้ว

 


ณ.ห้องชุดชั้น 27 คอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา

“สรุปเย็นนี้สั่งญี่ปุ่นนะ” เพื่อน 3 คนปรึกษากันช่วงกรุงเทพฯห้ามนั่งทานในร้านอาหาร หนึ่งในมาตรการเข้มเพื่อคุมโควิด-19

 เมนูวันนั้นคือ ข้าวหน้าเทมปุระกุ้ง 2 กล่อง ข้าวหน้าเนื้อวะกิวย่าง 1 กล่อง สลัดผัก 1 กล่อง ไข่ปลาอิคุระ 1 กล่อง น้ำส้ม 1 แก้ว

 

ปุจฉา?..มื้อนั้นใช้ พลาสติก จำนวนกี่ชิ้น

 

  เฉพาะอาหารหลัก 1 กล่อง มีพลาสติกแล้ว 6 ชิ้น เริ่มจากกล่องข้าวแยก 2 ชั้น ชั้นบนใส่เทมปุระกุ้ง ฝาปิด ข้างล่างเป็นข้าว ซองน้ำจิ้มแยก ซองช้อนส้อม  ซองกระดาษเช็ดปากไม้จิ้มฟัน สั่ง 3 กล่องรวม 18 ชิ้น

 

ส่วนกล่องสลัดผัก 1 กล่อง แยกพลาสติกได้ 10 ชิ้น กล่องกับฝา 2 ชิ้น ซองใส่มะเขือเทศลูกเล็ก ซองใส่ผักสลัด ซองใส่แตงกว่า ซองใส่เห็ดทอด ซองใส่น้ำสลัด 2 ซอง ซองใส่ช้อนส้อม ซองกระดาษเช็ดปากไม้จิ้มฟัน

 

 รวมกล่องไข่ปลาและน้ำส้มที่แยกมาเป็นขวดกับแก้วใส่น้ำแข็งมีฝาปิด  แทบไม่น่าเชื่อคน 3 คน สั่งอาหารเดลิเวอรี่เพียง 1 มื้อ ใช้พลาสติกในการบรรจุทั้งหมด 35 ชิ้น บวกถุงพลาสติกหูหิ้ว 3 ถุง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


งามไส้ไทยแลนด์!!วาฬชักตายเพราะถุงพลาสติก 80 ชิ้น
นักวิจัยผงะผ่าซากวาฬเกยตื้นเจอพลาสติกอัดเต็มท้อง!! (คลิป)

 

ช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด ทั่วโลกพยายามรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก กลุ่มประเทศยุโรป ระบุเลยว่า ภายในปี 2568 ต้องใช้ไม่เกินคนละ 40 ใบต่อปี หรือไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกเกินเดือนละ 3 - 4 ชิ้น

 

แต่พอเจอไลฟ์สไตล์ยุคกลัวมหันตภัยไวรัส กลายเป็นว่าอาหารมื้อเดียว ใช้พลาสติกไปแล้วคนละไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น ถ้าคำนวณเฉลี่ยออกมาเป็น 3 มื้อ 30 วัน คนกรุงเทพที่ไม่ได้ทำอาหารทานเอง น่าจะใช้พลาสติกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 400 ชิ้น จากมาตรฐานยุโรปกำหนดไว้ให้ไม่เกิน 4 ชิ้น

   

 

"พลาสติก"กับโควิด...จะลดใช้ หรือทิ้งไว้ให้ลูกหลานกิน

 

         ถ้าเอามารวมกับข้อมูลกรมควบคุมมลพิษพบว่า คนกรุงเทพฯใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึงวันละ 80 ล้านใบ

 

              ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถแก้โจทย์ลึกลับซับซ้อนของกระบวนการกำจัดพลาสติก หรือการเอามารีไซเคิลใหม่แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ได้

 

              เพราะสิ่งที่ชื่อว่า “พลาสติก” ค้นพบประมาณ 70 ปีที่แล้ว กว่าจะพัฒนาดัดแปลงเป็น ถุง ถัง ขวด หรือสินค้าพลาสติอื่น  ๆ จนใช้แพร่หลายนั้น นับแล้วไม่เกิน 40 ปี ปริศนาของมันคือ ผลิตไม่ยากไม่แพง  แต่จนวินาทีนี้ มนุษย์ยังไม่รู้เลยว่า พลาสติก 1 ชิ้น ถ้าไม่ใส่เตาเผาต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่ามันย่อยสลายหายไปในธรรมชาติ คาดว่าอาจไม่ต่ำกว่า 100-   500 ปี 

 

  แล้วพลาสติกที่เราใช้ทุกวันนี้ จะส่งผลต่อลูกหลานอย่างไร?

 

 

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นคาดการณ์มลภาวะขยะพลาสติกในอนาคต เช่น "Predicted Growth in Plastic Waste Exceeds Efforts to Mitigate Plastic Pollution" เผยแพร่บนเวบไซต์ www.science.org  ระบุว่าปี 2020 ที่ผ่านมา มนุษย์ทิ้งขยะพลาสติกลงแม่น้ำหรือทะเล  ปีละประมาณ 25 – 35 ล้านตัน  ใน10ปีข้างหน้าอาจพุ่งขึ้นอีก 2 เท่าเป็น 53 ล้านตัน      

 

น้ำใสไม่เห็นปลาลอยมามีแต่พลาสติก !!      

                

            เชื่อกันว่าไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า  ท้องทะเลมีพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา พวกมันกลายเป็นอาหารอันไม่โอชะของเหล่าสัตว์น้ำ ปลาเริ่มหันมากินพลาสติกแทนแพลงก์ตอน ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์อังกฤษสุ่มจับปลาในมหาสมุทรผ่าท้องตรวจ  ปรากฏว่า 1 ใน 3 พบพลาสติกตกค้างในท้องของพวกมัน จินตนากรง่าย ๆ ว่า ครอบครัวคนอังกฤษ พ่อแม่ลูกสั่งปลาทอด ฟิชแอนด์ชิพ มากิน 3 จาน มี 1 คนในนั้นกินพลาสติกทอดเข้าท้องไปด้วย                                                               

             นักวิทยาศาสตร์หัวใสพยายามคิดวิธีลดพลาสติก เช่น นำสารเคมีผสมเติมแต่งให้เป็น “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้” กลับกลายเป็นว่า เศษเปราะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ คือมหันตภัยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เรียกว่า "ไมโครพลาสติก" (Microplastics)  พลาสติกจิ๋วเหล่านี้แทรกซึมปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้ง่ายกว่าเดิม พวกมันปนเปื้อนในท้องทะเล ในดิน ในแม่น้ำ อนาคตลูกหลานต้องกินกุ้ง หอย ปู ปลาผสม “ไมโครพลาสติก”  เอ็นจีโอบางกลุ่มประเมินว่า ถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน “ลด ละ เลิก” เสียตั้งแต่ตอนนี้ รุ่นหลานต้องใช้อาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 750 ล้านคนในแต่ละปี ช่วยกันกำจัดมลภาวะพลาสติกริมชายฝั่งทะเลทั่วโลก

 

              แล้วในสถานการณ์โควิดระบาด ควรทำอย่างไรดี ? ลด ละ เลิกใช้พลาสติกไม่ได้แน่นอน เพราะกลัวอาหารไม่สะอาดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสร้าย

 

        “วรุณ วารัญญานนท์” ที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ให้ฟังว่า สถิติการใช้พลาสติกของคนไทยช่วงโควิดพุ่งขึ้นกว่าช่วงปกติ 1 เท่า เช่น คนเคยทิ้งวันละ 10 ชิ้น กลายเป็น 20 ชิ้น และพลาสติกจากอาหารเดลิเวอรี่พวกนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเอาไปรีไซเคิลได้  เพราะปนเปื้อนน้ำหรือเศษอาหารตอนนำไปทิ้ง

 

   “ปัญหานี้ยากมากครับ แทบไม่มีทางออกเลย บางคนสั่งอาหารใส่กล่องกระดาษชานอ้อยแทน หวังดีอยากลดพลาสติก แต่ร้านต้องใช้ถุงพลาสติกวางรองข้างในและรองข้างนอกกล่องกระดาษกันซึมด้วย กลายเป็นใช้ 2 เท่า”

 

            “วรุณ” แนะนำว่าสิ่งที่ทุกคนพอช่วยกันได้ตอนนี้ คือ ขอไม่เอาช้อนซ้อม ไม่เอากระดาษ ไม่เอาไม่จิ้มฟัน รวมถึง ไม่เอาซองพริกน้ำปลา น้ำส้ม น้ำตาล เพราะบ้านคนทั่วไปมีสิ่งของเหล่านี้ในครัวอยู่แล้ว ไม่ต้องแถมมาให้เป็นขยะพลาสติก

     

"พลาสติก"กับโควิด...จะลดใช้ หรือทิ้งไว้ให้ลูกหลานกิน

 

          ปัญหาลึกลับต่อไป คือ หน้ากากอนามัย ช่วงนี้คนไทยใช้แล้วโยนทิ้งวันละหลายสิบล้านชิ้นถือเป็นพลาสติกเช่นกัน เพราะผลิตจากเม็ดพลาสติก เช่น พอลีเอทิลีน (Polyethylene) พอลีสไตรีน (Polystyrene) หรือ พอลีเอสเทอร์ (Polyester)  หน้ากากอนามัยทั่วไปมีอย่างต่ำ 3 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นสารเคลือบป้องกันน้ำ ชั้นตรงกลางเป็นแผ่นกรองทำด้วยวิธีการหลอมเม็ดพลาสติกให้เป็นเส้นใยพลาสติก แล้วนำขึ้นรูปเป็นแผ่นกรองปรับให้ อ่อนนุ่มสวมใส่สบาย

 

             เมื่อรวม “ขยะพลาสติก” กับ “ขยะหน้ากากอนามัย” และอีกไม่นานจะมี ขยะชุดตรวจโควิด เอทีเค (ATK) รัฐบาลสั่งมาแล้วเกือบ 10 ล้านชุด ลูกหลานเราคงปวดหัวน่าดู เพราะตอนนี้ ขยะร้อยละ 50 ยังกำจัดไม่ถูกวิธี  โดยเฉพาะขยะเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้ ใช้พื้นที่มากกว่าขยะปกติ 3 เท่า การกำจัดแต่ละครั้งมีสารพิษตกค้างสู่ธรรมชาติอย่างแน่นอน ทั้งในน้ำและในดิน รวมถึงทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนด้วย 

 

             ที่ผ่านมานโยบายแก้ปัญหาขยะของรัฐบาลทำแบบได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง แต่ยุคโควิดต้องช่วยกันคิดนอกกรอบ ไม่รวมศูนย์อำนาจจัดการขยะ ดึงคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมออกไอเดีย หาหนทางหาแรงจูงใจร่วมกัน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มเสนอให้ทำแซนด์บอกซ์หมู่บ้าน เน้นไอเดียจัดการขยะในพื้นที่ตัวเองแบบยั่งยืน 

 

"พลาสติก"กับโควิด...จะลดใช้ หรือทิ้งไว้ให้ลูกหลานกิน

 

           ถ้าคนไหนหรือชุมชนไหนเป็นห่วงไม่อยากให้ลูกหลานกินปลาพลาสติกเป็นอาหาร  แต่ยังคิดไอเดียไม่ออก  ลองดัดแปลงใช้ “แผน 7 รี” หรือ 7 อาร์ (7R) ไปก่อนได้

 

        1  “รีดิวส์”      Reduce ลดใช้พลาสติก

        2 “ รียูส”        Reuse   ใช้ซ้ำเท่าที่ทำได้

        3  “รีฟิล”       Refill    นำภาชนะส่วนตัวไปใส่สินค้า

         4 “รีเทิร์น”    Return ระบบมัดจำสินค้านำแก้วหรือขวดไปคืนได้

        5  “รีแพร์”     Repair  เน้นซ่อมแซมของเก่าไม่ซื้อของใหม่

        6  “รีเพลส”   Replace   ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก

        7  “รีไซเคิล” Recycle  แยกขยะให้ถูกวิธีเพื่อใช้ซ้ำอีกครั้ง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ