
แนะทางแก้ดื่มนมแล้ว “ท้องเสีย” ป้องกันขาดแคลเซียม
ใครเจอปัญหาดื่มนมแล้ว "ท้องเสีย" ไม่สบายท้อง แถมมีท้องอืด เรามีทางแก้และตัวช่วยมาบอก เพราะ"นม"อุดมด้วยสารอาหารที่ดี ถ้าเราดื่มได้ไม่มีปัญหาร่างกายก็จะแข็งแรง
ปัญหาการดื่มนมแล้ว"ท้องเสีย"นี้เป็นปัญหาที่พบได้มากในคนแถบเอเชียรวมถึงคนไทย โดยมีตัวหลักที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียคือ “แลคโตส” ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่อยู่ในนมวัว น้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหารด้วยเอนไซม์เฉพาะที่เรียกว่า เอนไซม์แลคเตส ซึ่งจะช่วยย่อย น้ำตาลแลคโตสให้กลายเป็น น้ำตาลกลูโคสและกาแลกโตส จากนั้นร่างกายจึงจะนำไปใช้ได้
สาเหตุที่ร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตส
- เป็นตั้งแต่เกิด จากการมีความผิดปกติที่ยีนในร่างกาย แต่มักพบได้ค่อนข้างน้อย
- เกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบเรื้อรังของลำไส้เล็ก สาเหตุนี้จะเป็นชั่วคราวเท่านั้น
- เกิดจากการลดลงของเอนไซม์ หลังจากการหย่านมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การขาดเอนไซม์ในลักษณะนี้พบได้ประมาณ 15% ในชนผิวขาว และประมาณ 40% ในผู้ใหญ่ชาวเอเชีย และประมาณ 85% ในคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนไทยดื่มนมต่ำกว่าทั่วโลก6เท่าเร่งส่งเสริมทุกวัยดื่มทุกวัน
- เวลาไหน "ดื่มนม" อะไรถึงจะเหมาะ
- จริงหรือ? ที่เราควรเลิกดื่มนมวัว...
คนที่ท้องเสียหลังดื่มนมซึ่งเกิดจาก น้ำตาลแลคโตสไม่ย่อยหรือขาดเอนไซม์แลคเตสช่วยย่อยนี้ ทำให้เกิดการหมักในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย เกิดแก๊สต่างๆ ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย และมักจะคิดว่าตนเองแพ้นม ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่แก้ไขด้วยการเลิกดื่มนม แต่มีผลเสียคืออาจทำให้ความแข็งแรงของกระดูกในร่างกายลดลงได้ เพราะ"นม"ถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่ให้แคลเซียมมากที่สุด ซึ่งการดื่มนมเพียงวันละ 2 แก้วร่วมกับการกินอาหารตามวัย จึงจะทำให้ได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรงดการดื่มนม แต่ใช้วิธีการดื่มนมหรือหาตัวช่วยตามคำแนะนำดังนี้
เคล็ดลับดื่มนม ไม่ท้องเสีย
- เริ่มดื่มทีละน้อยๆ สามารถลดอาการเหล่านี้ได้โดยเริ่มดื่มปริมาณน้อยๆ (ไม่เกินครึ่งแก้ว)ต่อครั้ง ไม่ควรดื่มในขณะท้องว่าง ควรดื่มหลังมื้ออาหารหรือกินอาหารว่างร่วมไปกับการดื่มนม หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ค่อยเพิ่มเป็นครั้งละหนึ่งแก้ว
- เลือกดื่มนมรสจืด เพราะนมรสจืดจะไม่ปรุงแต่ง สี กลิ่น และรส ทำให้ลดอาการไม่สบายท้องลง
- เลือกกินโยเกิร์ตรสจืด หากยังคงมีอาการไม่สบายท้องอยู่ อาจเลือกกินเป็นโยเกิร์ตรสจืดแทน เพราะโยเกิร์ตสามารถย่อยง่ายและมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อลำไส้
- เลือกดื่มนมสูตรอื่นๆ เช่น ดื่มนมจากถั่ว หรือนมธัญพืชชนิดต่างๆ ที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส หรือปัจจุบันมีนมฟรีแลคโตสขายมากขึ้น ก็สามารถเลือกนำมาดื่มได้ แต่ราคาอาจจะสูงขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข