Lifestyle

นโยบายเอาใจบุคลากรสธ.ลดเวลางาน-เพิ่มการบรรจุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]


 

          เวทีประชุมเสวนา เรื่อง “นโยบายพรรคการเมืองกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย” จัดโดยแพทยสภา แพทยสมาคม และสมาคมพยาบาล มีการเชิญผู้แทน 6 พรรคการเมืองมานำเสนอนโยบายเรื่องนี้ 4 ประเด็นสำคัญ ครั้งนี้มีการให้ผู้แทนพรรคการเมืองยกมือสนับสนุนหากเห็นด้วยใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ การจำกัดเวลาทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขให้มีความเหมาะสมไม่ให้เกินกำลัง 2-3 เท่าแบบปัจจุบัน และแยกการพิจารณาคดีทางการแพทย์ออกจากคดีอาญาและคดีผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 6 พรรคยกมือสนับสนุน
  

 

 

          ประเด็นที่ 1 นโยบายในการทำให้ภาระงานของบุคลกรอยู่ในจุดที่เหมาะสมและปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่รับการรักษา
          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การลดภาระงานขึ้นกับพฤติกรรมของประชาชน จึงต้องลดการเจ็บป่วย มุ่งเน้นงานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพในการกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ เปลี่ยนวิธีในการปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาล เช่น ระบบการใช้จัดคิว จ่ายยา การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่บิ๊กดาต้าลดภาระบุคลากรที่ไม่จำเป็น ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เสริมศักยภาพ อสม.ในการดูแลประชาชนมากขึ้น รณรงค์พฤติกรรมที่ถูกต้องในการพึ่งพาแพทย์ และบูรณาการการทำงานของทุกวิชาชีพ

 

 

นโยบายเอาใจบุคลากรสธ.ลดเวลางาน-เพิ่มการบรรจุ


    

          นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ คณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นหลัก โดยจะทำให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง เจ็บป่วยน้อยลง ภาระงานบุคลากรแพทย์พยาบาลจะน้อยลง พท.จะผลิตและกระจายบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อที่แต่ละคนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย
   

          พล.ท.อนุมนตรี วัฒนศิริ พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวว่า มุ่งป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพให้ประชาชน ส่งเสริมการออกกำลังกาย เช่น มินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์ มินิฟิตเนสเซ็นเตอร์ทุกหมู่บ้าน จัดกำลังคนลง รพ.สต. ที่เป็นด่านแรกจัดการกับความเจ็บป่วย จัดกำลังคน เครื่องมือต่างๆ ให้เหมาะสม เพียงพอที่จะให้บริการรักษาผู้ป่วย

 

 

 

นโยบายเอาใจบุคลากรสธ.ลดเวลางาน-เพิ่มการบรรจุ


    

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า จะยกระดับอสม.ให้สามารถดูแลประชาชนเบื้องต้นโดยการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ และเพิ่มแพทย์ไปประจำ รพ.สต. เพื่อลดจำนวนประชาชนที่ไปถึงโรงพยาบาล 
 

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ยกระดับอสม.เป็นนักบริบาลชุมชน เพื่อเป็นด่านแรกในการดูแลผู้ป่วยก่อนมาโรงพยาบาล ทำเรื่องหมอถึงบ้านพยาบาลถึงเรือน 6,500 ทีม ทำคลินิกหมอครอบครัว ปฏิรูป 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐให้สอดรับกัน ปรับระบบทุกอย่างได้ดี มีงบประมาณ อุปกรณ์ และบุคลากรที่เหมาะสม  
   

          นพ.เรวัต วิศรุตเวช รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) กล่าวว่า ส่งเสริมสุขภาพที่ดี ออกกำลังกาย ควบคุมป้องกันโรค แต่ความจริงในอดีตที่พยายามแก้ปัญหายาวนานหลายสิบปีไม่สำเร็จเลย ที่จะต้องทำดีที่สุดใช้เทคโนโลยีนัดหมายติดตามรักษา เวลาอันใกล้ คือใช้เอไอทำแทนลดภาระงานพยาบาลมีประสิทธิภาพที่สุด การผลิตแพทย์เพิ่มหลายสิบปีไม่สำเร็จล้มเหลวตลอด
   

          ประเด็น 2 การบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการแทนการเป็นลูกจ้าง
          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องมองในภาพรวมด้วยการพิจารณาปรับลดอัตราข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ ที่การทำงานไม่ต้องอาศัยความเป็นข้าราชการลง แต่สำหรับพยาบาลยังมีความจำเป็นสร้างความมั่นคงในภาครัฐด้วยอัตราข้าราชการจะต้องมีการบรรจุ เพิ่มแรงจูงใจค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และการกระจายตัวลงไปในพื้นที่ 

 

 

 

นโยบายเอาใจบุคลากรสธ.ลดเวลางาน-เพิ่มการบรรจุ

 


          นพ.เรวัต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเพราะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่ยอมให้บรรจุ การแก้จึงต้องนำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกจากก.พ.ให้ได้ เพื่อที่จะมาจัดอัตรากำลังของตัวเองตามภาระงานที่จำเป็น 

 

          นพ.สุรวิทย์ บอกว่า พรรคจะดำเนินการในเรื่องให้สธ.แยกออกจากก.พ.เช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรทุกระดับทุกประเภทของสธ.
   

          พล.อ.อนุมนตรี กล่าวว่า พยาบาลที่ยังทำงานและลูกจ้างชั่วคราวต้องได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทุกคน โดยกำหนดเป็นแผนระยะสั้น กลาง และยาว และพิจารณาปรับลดอัตรากำลังคนในส่วนงานอื่นที่ไม่จำเป็นลง และให้ความสำคัญกับบุคลากรสาธารณสุข 


          ส่วน นายอนุทิน กล่าวว่า การเป็นลูกจ้างชั่วคราวต้องหลุดออกไปจากพยาบาล แต่ยกระดับเป็นพนักงานของรัฐ ทำให้มีความมั่นคงแน่นอนในอาชีพมากขึ้น และการผันเงินงบประมาณออกไปไว้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้วหมุนกลับมาจ้างพยาบาล


          นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นบุคลากรที่ดูแลด้านนี้มีความจำเป็นและสำคัญ จึงต้องลดอัตรากำลังคนในหน่วยงานที่สามารถนำเทคโนโลยีมาทำงานแทนได้ลง และเพิ่มอัตราให้ส่วนงานที่ต้องให้คนทำ เพิ่มสวัสดิการ ผลตอบแทน


          ประเด็นที่ 3 การแยกคดีทางการแพทย์ออกจากคดีอาญาและคดีคุ้มครองผู้บริโภค
          นพ.เรวัต กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ามีการร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์มาใช้ซึ่งพร้อมสนับสนุน แต่ระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีนั้น สธ.และผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยดูแลบุคลากรทั้งประเทศด้วย เมื่อเกิดคดีหน่วยงานต้องลงไปช่วยเหลือดูแล และมีระบบไกล่เกลี่ยเยียวยาเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้บุคลากรเผชิญชะตากรรมเอง 

 

 

 

นโยบายเอาใจบุคลากรสธ.ลดเวลางาน-เพิ่มการบรรจุ

 

 

          นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า พท.เห็นว่าคดีทางการแพทย์ควรแยกออกจากคดีอาญาและคดีผู้บริโภคเนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ได้ฝึกอบรมและมีสภาวิชาชีพคุ้มครองป้องกันและจรรยาบรรณควบคุมอยู่แล้ว อีกทั้งผลการรักษาที่ไม่พึงประสงค์ หรือเสียชีวิตไม่ได้เกิดเพราะแพทย์เท่านั้นแต่เกิดจากตัวผู้ป่วยและโรคด้วย
 

 

          นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อเกิดกรณีการฟ้องร้องคดีทางการแพทย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น สำนักงานอัยการจะต้องเป็นองค์กรกลางในการไปคุยกับผู้ฟ้องร้อง กรณีแพ้คดีจะมีกรรมการกลางทำหน้าที่ในการพิจารณาว่าบุคลากรทำด้วยเจตนาดี สุจริต และตั้งใจดี หากเป็นเช่นนี้รัฐก็ต้องรับผิดชอบ แต่วิชาชีพต่างๆด้านสาธารณสุขจะต้องรักษาจรรยาบรรณให้ดีด้วย และมีฝ่ายไกล่เกลี่ยก่อนถึงการฟ้องร้อง 
    

          พล.อ.อนุมนตรี กล่าวว่า ควรแยกกฎหมายเฉพาะซึ่งมีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับผลกระทบจากการบริการ ที่เนื้อหาน่าจะมีการดูแลทั้งบุคลากรและผู้ป่วย ส่วนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคไม่น่านำมาใช้ในการรักษาโรคช่วยชีวิต แต่ควรแยกไปใช้กรณีเสริมความงามซึ่งไม่จำเป็นต่อการมีชีวิต ภาครัฐควรซื้อประกันความรับผิดชอบผู้ประกอบวิชาชีพต่อบุคคลอื่นเข้ามารับความรับผิดชอบตรงนี้ก่อนเหมือนโรงพยาบาลเอกชน


          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การมีกฎหมายเฉพาะพิจารณาคดีทางการแพทย์ไม่ได้ป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องร้องแต่จะต้องทำในเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา ต้องระบุให้ชัดว่าการรักษาโรค หรือบุคคลที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอยู่แล้วต้องสันนิษฐานว่าไม่ผิดทางอาญา ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าเจตนาหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง โดยนำผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพมาพิจารณา และไม่ควรนำคดีผู้บริโภคมาใช้ในกรณีการรักษา ส่วนคดีทางแพ่งจะต้องฟ้องหน่วยงาน เมื่อแพ้ ชนะคดีจึงทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ 

 

          นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ควรมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาพิจารณาคดีทางการแพทย์ มีกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เหมาะสม ตั้งกองทุนดูแลผู้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลดูแลทั้งบุคลากรและผู้ป่วย
   

          ประเด็นที่ 4 เตรียมความพร้อมบุคลากรให้เพียงพอนอกจากดูแลคนไทยแล้วต้องรองรับแรงงานต่างด้าว เมดิคัลฮับและสังคมผู้สูงอายุ
          นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจการป้องกันสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น ยกระดับอสม. เพิ่มแพทย์ประจำรพ.สต. เพื่อสร้างบุคลากรไปดูแลประชาชนก่อนเข้าโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด 


          นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปฏิรูปอุดมศึกษาสร้างคนสร้างบุคลากรด้านนี้ ส่วนเมดิคัลฮับเป็นการสร้างรายได้แต่จะต้องลงทุนการผลิตบุคลากร อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเพียงพอเพราะถือเป็นโอกาสดีที่คนในภูมิภาคจะเชื่อมั่นและมารับบริการที่ประเทศไทย ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เทเลเมดิซีนต่างๆ
    

          นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า วางแผนการผลิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรอื่นๆ เพิ่ม โดยสมารถเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศได้อีกถึง 6% ของจีดีพีตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพราะปัจจุบันใช้เพียง 4.9% ส่วนแรงงานต่างด้าวต้องมี อสม.ต่างด้าวคอยดูแล ประสานกับเจ้าหน้าที่ในการเข้ารับการรักษาที่สมควร การส่งเสริมเมดิคัลฮับต้องอยู่ภายใต้การ ควบคุม มีแผนชัดเจนว่านำบุคลากรจากที่ไหน และโรงพยาบาลเอกชนต้องมีส่วนช่วยภาคราชการ
   

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องนำข้อมูลขนาดใหญ่มากรองเพื่อดูภาพรวมของการขาดแคลนบุคลากรและการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสม เพื่อวางแผนผลิตและกระจายบุคลากรให้เป็นตามเป้าหมายและต้องปรับระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละวิชาชีพ เช่น แพทย์แม้อยู่พื้นที่ไกลก็ต้องได้สิทธิเรียนต่อเฉพาะทาง หรือพยาบาลต้องมีสิทธิประโยชน์จูงใจในการอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลน ส่วนเมดิคัลฮับ ไม่เห็นด้วยหากรัฐจะต้องใช้ทรัพยากรในการส่งเสริม แต่หากเป็นการเติบโตเองตามธรรมชาตินั้นไม่ได้ขัดขวาง แต่จะต้องมองถึงการลดแรงกดดันต่อภาครัฐ เช่น ให้บุคลากรต่างชาติเข้ามารักษาต่างชาติ หรือภาคเอกชนต้องนำกำไรมาช่วยผลิตกำลังคนและกระจายบุคลากร เป็นต้น
   

          พล.ท.อนุมนตรี กล่าวว่า ต้องทำให้ รพ.สต.มีศักยภาพรักษาเบื้องต้นได้มากพอสมควร ไม่ต้องส่งต่อ อีกทั้งส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีทุนการศึกษามีโควตาพิเศษเรียนแพทย์และพยาบาลมากขึ้นแล้วกลับไปทำงานตามถิ่นฐาน 
    

          นพ.เรวัต กล่าวว่า สังคมสูงอายุ แรงงานต่างด้าว เมดิคัลฮับต้องเพิ่มบุคลากรทั้งสิ้น สิ่งที่ตอบโจทย์คือการนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไอเข้ามาช่วยทำงานในด้านต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ การผ่าตัด การถ่ายภาพรังสี และงานเอกสาร เป็นต้น


          นโยบายบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพเพื่อผู้ป่วย
          พรรคชาติพัฒนา
          -มินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์ มินิฟิตเนสเซ็นเตอร์ทุกหมู่บ้าน
          -จัดกำลังคนลง รพ.สต.
          -บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทุกคน
          -สนับสนุนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับผลกระทบจากการบริการ
          -ภาครัฐควรซื้อประกันความรับผิดชอบผู้ประกอบวิชาชีพต่อบุคคลอื่นเหมือนโรงพยาบาลเอกชน


          พรรคประชาธิปัตย์
          -นำเทคโนโลยี-บิ๊กดาต้ามาใช้ ลดภาระบุคลากรที่ไม่จำเป็น
          -ยกระดับ รพ.สต.
          - เสริมศักยภาพ อสม.
          -บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ
          -แยกกฎหมายคดีทางการแพทย์เฉพาะ
          -แก้ไขกฎหมายอาญา ต้องระบุให้ชัดว่าการรักษาโรค ไม่ผิดทางอาญา ยกเว้นเจตนาหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง


          พรรคพลังประชารัฐ
          -ยกระดับอสม.เป็นนักบริบาลชุมชน
          -หมอถึงบ้านพยาบาลถึงเรือน 6,500 ทีม
          -คลินิกหมอครอบครัว
          - ปฏิรูป 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐให้สอดรับกัน
          -เพิ่มอัตราบุคลากรด้านสาธารณสุข
          -ควรมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาพิจารณาคดีทางการแพทย์
          -ตั้งกองทุนดูแลผู้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาลดูแลทั้งบุคลากรและผู้ป่วย


           พรรคเพื่อไทย
          -ส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
          -นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย
          -สธ.แยกออกจากก.พ.
          -แยกคดีทางการแพทย์ควรแยกออกจากคดีอาญาและคดีผู้บริโภค


          พรรคภูมิใจไทย
          -ยกระดับอสม.ให้สามารถดูแลประชาชนเบื้องต้น
          -เพิ่มแพทย์ไปประจำ รพ.สต.
          -ยกระดับพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานของรัฐ
          -สำนักงานอัยการเป็นองค์กรกลางในการไปคุยกับผู้ฟ้องร้องคดีทางการแพทย์


          พรรคเสรีรวมไทย
          - ใช้เทคโนโลยีนัดหมายติดตามรักษา ใช้เอไอทำแทนลดภาระงาน
          -แยกสธ.ออกออกจากก.พ.
          -ผลักดันร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ