Lifestyle

เมื่อคนพื้นที่ปกป้องอันดามันสุดชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : เมื่อคนพื้นที่ปกป้องอันดามันสุดชีวิต ขีดเส้นเปิดเวทีสาธารณะปะทะข้อมูล : โดย...ประกาศ เรืองดิษฐ์ ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

 
                       ดูเหมือน การผลักดันและคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ จะยังคงต่อสู้กันไม่ถอยอีกนาน
 
                       หลังจากเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นซองประกวดเทคนิคและราคาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ โดยเปิดให้ยื่นซองเทคนิคและซองราคาเวลา 09.30-10.00 น. รายงานข่าวแจ้งว่ามีผู้สนใจเข้ามายื่นซองทั้งหมด 2 ราย จากผู้ที่ซื้อซองไปทั้งสิ้น 12 ราย
 
                       นั่นคือ กลุ่มบริษัทค้าร่วมระหว่างพาวเวอร์ไชน่ากับอิตาเลียน-ไทย (ซีเมนส์และ B&W จะเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์) และ อัลสตอม และมารูเบนี (ALSTOM Thailand -Marubeni Corporation)
 
                       นอกจากนี้ รัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ยังคาดว่าอีก 4 เดือนจะทราบว่าใครชนะประมูล โดยโครงการนี้มีราคากลางประมาณ 49,000 ล้านบาท ซึ่งจะลงนามสัญญาก่อสร้างหลังจากรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ อีเอชไอเอ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและรัฐบาลอนุมัติก่อสร้าง
 
                       “ยอมรับว่าขณะนี้ชุมชนมีความกังวล แต่แผนก่อสร้างได้คำนึงถึงความกังวลและกำหนดมาตรการเข้มข้นด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดในเงื่อนไขการก่อสร้างที่เข้มข้นมากกว่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล”
 
                       นั่นแทบไม่ต้องสงสัยว่า ยากหยุดยั้งโครงการนี้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังน่ารับฟังข้อมูลจากฝ่ายคัดค้าน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่
 
                       เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา คณะนักวิชาการได้ดำเนินการศึกษา พบว่าพื้นที่อันดามันเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ และยังเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ อันเป็นพื้นที่แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลและมีแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำของกระบี่อยู่บนพิกัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสร้างโรงไฟฟ้าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและกระทบถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน
 
                       ด้วยความตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น คนอันดามันจึงได้แสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม และเริ่มเดินทางออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคธุรกิจ ประมง เกษตร หอการค้า ศิลปิน นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ประกาศชัดเจนว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะนำมาซึ่งหายนะที่ไม่อาจเยียวยาได้
 
                       เพราะวิถีชีวิตและธุรกิจของอันดามันอาศัยความสวยงามและความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐาน คนอันดามันมีเจตนานำพื้นที่อันดามันไปสู่ทิศทางการพัฒนาสีเขียว Andaman Go Green นั่นหมายถึงว่า การพัฒนาพื้นที่อันดามันจะตั้งอยู่บนฐานของการรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
 
                       แต่ในปัจจุบันได้มีการดำเนินการให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาที่ขัดแย้งต่อทิศทางการพัฒนาสีเขียว ด้วยการดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นใน จ.กระบี่ การรวมตัวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน มีเจตนาที่จะยืนยันทิศทางการพัฒนาดังกล่าว เพียงเพื่อปกป้องบ้านตัวเองให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม ปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้ลูกหลานและให้คนทั้งโลก ต้องการให้รัฐบาลรับรู้ว่า อันดามันมีทิศทางการพัฒนาที่ดีอยู่แล้ว ในขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายและประกาศสนับสนุนทิศทางการท่องเที่ยวตลอดมา
 
                       มีตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จ.กระบี่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี โดยระบุว่าปี 2557 จ.กระบี่ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 64,978 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวที่เป็นพลเมืองสหรัฐ จำนวน 71,857 คน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยัง จ.กระบี่ และ 258,792 คน เดินทางไปยัง จ.ภูเก็ต
 
                       ที่เกาะลันตาเพียงแห่งเดียว มีสถานประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งหมด 1,200 แห่ง มีการจ้างงานกว่า 9,000 ตำแหน่ง และจากการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ซึ่งจัดทำที่เกาะลันตา จ.กระบี่ มีนักท่องเที่ยวจำนวน 624 คนจากทั้งหมด 37 ประเทศ พบว่าร้อยละ 88 มีความเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเมื่อถามว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะกลับมาเที่ยวหรือไม่ พบว่าร้อยละ 85 ตอบว่าจะไม่กลับมาเที่ยวที่ จ.กระบี่ อีก ทั้งนี้ในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและอเมริกา จะมีจำนวนวันที่มาเที่ยวแต่ละครั้งยาวนานโดยเฉลี่ย 90 วัน ต่อการมาเที่ยว 1 ครั้ง
 
                       มีข้อมูลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยสตุ๊ตการ์ท ประเทศเยอรมนี ระบุว่า ชาวยุโรปเสียชีวิตจากผลกระทบมลภาวะถ่านหิน ปีละ 2 หมื่นคน ในขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เด็กในสหรัฐอเมริกาเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิการทางสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ปีละ 3 แสนคน และถ่านหินคือตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน
 
                       จ.กระบี่ มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 100% ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าเลี้ยงภาคใต้ได้ทั้งภาคโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของท้องถิ่น หากมีการส่งเสริมโดยมาตรการของรัฐเรื่องสายส่ง ขณะนี้ที่กระบี่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วถึงร้อยละ 35 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของจังหวัด โดยโรงงานปาล์ม จ.กระบี่ มีจำนวน 32 โรง ผลิตจากก๊าซชีวภาพขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 11 แห่ง
 
                       “ความพยายามทั้งหมดที่เราได้ทำแต่ถูกเพิกเฉยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และกระทรวงพลังงานในทุกรัฐบาล วันนี้เราหมดหนทางจากการได้ใช้วิธีการทั้งมวลแล้ว จึงได้แต่เอาชีวิตและความทุกข์ยากทั้งมวลมาแลกกับทะเลอันสวยงามของอันดามัน แลกกับชีวิตคนอันดามันนับล้านคนที่จะถูกทำลายโดยมลพิษถ่านหิน แลกกับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอีกนับ 100 ธุรกิจ แลกกับความรับผิดชอบที่เราพึงมีต่อโลกใบนี้โดยจะไม่สร้างมลพิษเพิ่มตามคำร้องขอของสหประชาชาติ เราขออดอาหารจนกว่านายกรัฐมนตรีจะยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” นี่คือ ที่มาของการตัดสินใจอดอาหารประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
 
                       จากการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก และแกนนำบางคนถึงกับอดอาหารประท้วง ทำให้รัฐบาลหาทางออกให้แก่โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังยืนยันที่จะเปิดประมูลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ในวันที่ 5 สิงหาคมต่อไป
 
                       และจากการที่รัฐบาลยืนยันที่จะผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไปนี่เอง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์กรคัดค้าน 42 องค์กร และ 52 บุคคล ได้ทำจดหมายเปิดผนึก “ทางออกเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน” โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ
 
                       1.เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน ซึ่งอาจมีมากกว่าเพียงสองด้านที่กล่าวมา ในเรื่องความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ความเหมาะสมของแผน PDP 2015 ภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาว และความจำเป็นและเหมาะสมของพลังงานถ่านหินในประเทศไทย เป็นต้น
 
                       2.ชะลอการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จนกว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ
 
                       3.ยกเลิกผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (เวที ค.1 ถึง ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ภายใต้กระบวนการที่โปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล
 
                       เหนืออื่นใด สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ความแข็งแกร่งของขบวนการภาคประชาชนและประชาชนในพื้นที่ต่อเรื่องนี้ ที่น่าจับตามองว่า กฟผ.และรัฐบาล จะต้องเจองานหนัก หากยังขืนผลักดันอย่างไม่ฟังเสียงต่อไป
 
 
 
 
----------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : เมื่อคนพื้นที่ปกป้องอันดามันสุดชีวิต ขีดเส้นเปิดเวทีสาธารณะปะทะข้อมูล : โดย...ประกาศ เรืองดิษฐ์ ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.))
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ