Lifestyle

สธ.จ่าย2แสนบ.เหยื่อตายทั้งกลมตั้งกก.สอบสวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สธ.จ่าย 2 แสนบาท ชดเชยเหยื่อตายทั้งกลม อธิบดีกรมการแพทย์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง รู้ผลใน 1 สัปดาห์ หากพบความผิดฟันวินัย ชงแพทยสภาพิจารณาโทษจริยธรรม ชี้ตายเพราะน้ำคร่ำรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ขณะที่หมอใหญ่ รพ.ตำรวจเผยตายเพราะมดลูกแตก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวกรณีที่นางน้ำอ้อย ตุ้มทับ อายุ 22 ปี เสียชีวิตระหว่างการคลอดบุตร ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 02.40 น. ที่ผ่านมา ว่า กรณีนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่ได้ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยจ่ายเงินชดเชยจำนวนเงิน 2 แสนบาท และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว โดยให้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข รองอธิบดีกรมการแพทย์ พิสูจน์ข้อมูลความจริงเชิงลึกจากเวชระเบียน ประวัติการรักษา ให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ “หากผลสอบสวนพบว่า แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์คนใด ดำเนินการโดยขาดความรับผิดชอบ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผมจะลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด กรมจะลงโทษทางวินัย ส่วนแพทยสภาก็ลงโทษทางจริยธรรม เบื้องต้น ผอ.โรงพยาบาลนพรัตน์ และแพทย์เจ้าของไข้ได้รายงานรายละเอียดกับผมแล้ว” นพ.เรวัต กล่าว นพ.เรวัตกล่าวอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงาน เข้าใจว่าสาเหตุการเสียชีวิตทางวิชาการเกิดจากภาวะน้ำคร่ำของทารกรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดา จนทำให้เกิดภาวะช็อกและทำให้นางน้ำอ้อยเสียชีวิตในที่สุด โดยข้อมูลทางวิชาการสากลพบว่า โอกาสเกิดภาวะดังกล่าวมีประมาณ 1 ต่อ 3 หมื่นราย และเมื่อเกิดภาวะนี้แล้ว แม้จะมีการรักษาอย่างเต็มที่โอกาสในการเสียชีวิตมีสูงถึง 60-80% ทั้งนี้ รายดังกล่าวมีอัตราการการเต้นของชีพจร 100-140 ครั้งต่อนาที ทั้งที่ปกติประมาณ 80-120 ครั้งต่อนาที และมีอัตราการหายใจถี่กว่าคนปกติคือ 30-36 ครั้งต่อนาที ทั้งที่คนปกติมี 16-20 ครั้งต่อนาที นพ.อุทัย ตัณศลารักษ์ รอง ผอ.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า จากรายงานสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ เบื้องต้นเกิดจากภาวะน้ำคร่ำของทารกรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดา ที่เรียกว่า Amniotic Fluid Embolism หรือ Anaphylactoid syndrome of Pregnancy ซึ่งตามข้อมูลทางวิชาการพบว่า อาการนี้เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกราย “เมื่อตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายตัว โดยรอบๆ ของกล้ามเนื้อมดลูกจะมีเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงเลี้ยงอยู่ เมื่อมดลูกมีการบีบตัว เส้นเลือดดำที่เลี้ยงอยู่จะถูกบีบและเกิดภาวะสุญญากาศขึ้น ซึ่งขณะที่ใกล้คลอดเยื่อหุ้มมดลูกจะเริ่มลอกตัว และมีน้ำคร่ำซึมออกมา ซึ่งภาวะน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือดเกิดจากเมื่อเส้นเลือดดำเกิดสุญญากาศขึ้น แล้วดูดน้ำคร่ำกลับเข้าไปในเส้นเลือดทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ขั้นรุนแรง ส่วนสาเหตุที่เด็กตายก่อน อาจเกิดจากช่วงที่แม่เกิดภาวะช็อกขึ้น ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงเด็กจนเสียชีวิตลง” นพ.อุทัย กล่าว นพ.อุทัยกล่าวอีกว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวนั้น ผู้ป่วยจำไม่ได้ว่ามีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อใด ทำให้ไม่ทราบกำหนดวันคลอดที่ชัดเจน ขณะเดียวกันแพทย์ก็ไม่สามารถผ่าตัดคลอดได้ เนื่องจากการผ่าตัดคลอดจะต้องมีข้อบ่งชี้ ไม่ใช่อยากผ่าก็ผ่าได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้มารดาเคยคลอดบุตรมาแล้ว ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 3 จึงสามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ “คนไข้ไม่ได้เสียชีวิตทันที เพราะเหตุเกิดตอนสี่ทุ่มของวันที่ 31 มกราคม แพทย์ได้ช่วยชีวิตโดยใส่เครื่องช่วยหายใจทันที เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการช็อก ไม่สามารถหายใจเองได้ ซึ่งแพทย์ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ยืนยันว่าโรงพยาบาลมีมาตรฐาน มีการตรวจอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ ทุก 4-6 ชั่วโมงอยู่แล้ว โดยระหว่างนั้นมีการนำตัวคนไข้เข้าเครื่องคำนวณระยะครรภ์ และตรวจอัตราการเต้นของหัวใจเด็ก ซึ่งพบว่าปกติ แต่มดลูกยังไม่บีบตัว แพทย์จึงให้รอดูอาการต่อ เพื่อรอให้พร้อมในการคลอด จากนั้นจึงตรวจพบว่าคนไข้มีอาการน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือดเกิดขึ้น เกิดภาวะช็อก เมื่อตรวจครรภ์อีกครั้งก็พบว่าหัวใจเด็กหยุดเต้นไปแล้ว จึงได้ช่วยเหลือแม่เด็กอย่างเต็มที่ต่อไป” นพ.อุทัย กล่าว นพ.อุทัย กล่าวด้วยว่า ในการช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วย สูตินรีแพทย์จะต้องคำนึงถึงสาเหตุการทำให้เกิดวิกฤติของมารดาและเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งพบว่าเด็กเสียชีวิตระหว่างที่แม่เกิดวิกฤติมีภาวะช็อก ซึ่งคาดว่าขณะนั้นโอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก จึงโทรศัพท์เชิญสามีและแม่ของผู้ป่วยมารับถามสถานการณ์และอธิบายทันที แต่การที่ญาติไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้ป่วยจึงเสียชีวิตถือเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจยังทำใจไม่ได้ พล.ต.ต.นพ.สมยศ ดีมาก นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า จากการชันสูตรศพ พบว่ามดลูกแตก ด้านแนวราบมีรกขวางอยู่ตรงรอยแตก สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากช็อก มีเลือด 3,000 ซีซีในช่องท้อง ทั้งที่ปกติเลือดในร่างกายคนมีประมาณ 5,000 ซีซี ทำให้เด็กเสียชีวิต การรักษาโดยการให้น้ำเกลือจะไม่มีผล ต้องผ่าตัดนำลูกออกและเย็บปากแผล ส่วนจะนำส่งข้อมูลมาให้ใครหรือไม่ หรือสาเหตุที่ทำให้มดลูกแตกเกิดจากอะไรนั้น เปิดเผยไม่ได้ ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะมดลูกแตกเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การคลอดยากเนื่องจากทารกตัวใหญ่ผิดปกติ การมีลูกหลายคน มดลูกได้รับบาดเจ็บหรือการกระแทกจากอุบัติเหตุ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ครีม หรือการใช้เครื่องช่วยดูด รวมถึงการแตกของตัวมดลูกที่เกิดขึ้นเอง การแท้งบุตรแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังมดลูก เป็นต้น ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวต่อว่า กรณีภาวะน้ำคร่ำของทารกรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดาเนื่องมาจากมดลูกเกิดการบีบตัวมากเกินไป ทำให้น้ำคร่ำเข้าไปในกระแสเลือด มีการกระจายไปที่ปอด หัวใจ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่เกี่ยวกับภาวะมดลูกแตก แต่เป็นอาการที่เกิดร่วมกันได้ ในกรณีที่คลอดยาก มดลูกเกิดการบีบตัวรุนแรง ก็อาจทำให้มดลูกแตกได้ ทั้งนี้ การรักษาสามารถให้เลือด ให้สารน้ำ ทำการเย็บซ่อมแซมมดลูก หรือตัดมดลูกทิ้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยด้วย การเสียชีวิตจากมดลูกแตกมักเกิดจากภาวะที่ตกเลือกมาก ทำให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ ความดันตก หัวใจหยุดเต้น แต่พบได้น้อยและไม่บ่อย เนื่องจากหากได้รับการดูแลทันท่วงทีก็จะสามารถช่วยชีวิตมารดาได้ ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวอีกด้วยว่า ส่วนแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะน้ำคร่ำของทารกรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต แต่ผลชันสูตรกลับพบว่า เสียชีวิตจากภาวะมดลูกแตกนั้น ไม่ขอแสดงความคิดเห็น ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภากำลังตรวจสอบในกรณีที่เกิดขึ้น ยังบอกไม่ได้ว่าการตายของคนไข้เกิดจากอะไร จะต้องดูจากผลเอกซเรย์ปอด
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ