เด่นโซเชียล

"ชุดตรวจ ATK" เปิดหลักเกณฑ์ 10 บาทเช็คยิบ ก่อนจ่ายเงินค่าให้บริการสาธารณสุข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายการให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ "ชุดตรวจ ATK" ชนิด self-test kits สำหรับประชาชนตรวจเอง พ.ศ. 2564

 

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายการให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ "ชุดตรวจ ATK" ชนิด self-test kits สำหรับประชาชนตรวจเอง พ.ศ. 2564 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายการให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK ชนิด self-test kits สำหรับประชาชนตรวจเอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง มาตรา 36 (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประกอบข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

 

 

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายการให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK ชนิด self-test kits สำหรับประชาชนตรวจเอง พ.ศ. 2564"

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้

"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"หน่วยบริการ" หมายความว่า สถานบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยา ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือหน่วยบริการอื่นตามที่สำนักงานกำหนด

"ชุดตรวจ ATK" หมายความว่า ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits)

ข้อ 4 ให้หน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 

 

 

(1) เป็นการให้บริการแก่ประชาชนไทยทุกคน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

(2) เป็นการให้บริการแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จำนวน 6 ชุดต่อครั้ง สำหรับใช้ "ชุดตรวจ ATK" 1 ชุดระยะเวลาห่างกัน 5 วัน ทั้งนี้ หน่วยบริการต้องให้คำแนะนำในการตรวจ การอ่านผล การรายงานผล และการปฏิบัติตัวให้แก่ประชาชน

(3) หน่วยบริการต้องขอ Authentication code ผ่าน Application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย หรือระบบข้อมูลที่สำนักงานกำหนด

(4) กรณีที่หน่วยบริการได้รับการจ่ายหรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ หรือจากหน่วยงานภาครัฐอื่นแล้ว ต้องไม่นำข้อมูลมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีก

ข้อ  5 ในการให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK ให้หน่วยบริการ ดำเนินการ ดังนี้

(1) กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการเพื่อขอรับชุดตรวจ ATK ที่หน่วยบริการ ให้ดำเนินการ ดังนี้

(ก) ประชาชนบันทึกข้อมูลเพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ใน Application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย

(ข) เมื่อผลประเมินใน Application ปรากฏเป็นกลุ่มเสี่ยง ประชาชนสามารถเดินทางไปเข้ารับบริการ และขอรับชุดตรวจ ATK ได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน โดยยืนยันตนเองและ scan QR code กับหน่วยบริการ

(ค) หน่วยบริการที่ให้บริการชุดตรวจ ATK ให้แก่ประชาชน ยืนยันการให้บริการชุดตรวจ ATK ใน Application "ถุงเงิน" ของธนาคารกรุงไทย พร้อมให้คำแนะนำในการตรวจ การอ่านผล การรายงานผล และการปฏิบัติตัวแก่ประชาชน

 

(2) กรณีหน่วยบริการมอบหมายให้ผู้นำชุ่มชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือบุคคลอื่นที่หน่วยบริการมอบหมายในพื้นที่ให้บริการชุดตรวจ ATK ณ ชุมชน กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยมีแนวทาง ดำเนินการ ดังนี้

(ก) หน่วยบริการต้องเตรียมความพร้อมของผู้นำชุมชน อสส. อสม. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่โดยเตรียมข้อมูลทั่วไปของผู้นำชุมชน อสส. อสม. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ ชื่อ - ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หน่วยบริการต้องรับรองข้อมูลและแจ้งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงานผ่านช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือเบอร์ 02-554-1505 เพื่อนำเข้าระบบของธนาคารกรุงไทย โดยหน่วยบริการต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้นำชุมชน อสส. อสม. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเรื่องของการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 การอ่านผล การรายงานผลตรวจ และการปฏิบัติตัวของประชาชน

(ข) ผู้นำชุมชน อสส. อสม. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้บริการ "ชุดตรวจ ATK" ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ณ ชุมชน โดยเพิ่มข้อมูลประชาชน และบันทึกข้อมูลประเมินความเสี่ยงของประชาชน ใน Application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย เมื่อเข้าเกณฑ์เป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้สนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้กับประชาชน และบันทึกข้อมูลในระบบ Application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการตรวจ การอ่านผล การรายงานผลตรวจ การปฏิบัติตัวให้แก่ประชาชน และยืนยันการสนับสนุนชุดตรวจ ATK โดย Scan QR code กับหน่วยบริการได้รับมอบหมาย เมื่อให้บริการชุดตรวจแก่ประชาชนเสร็จสิ้นตามช่วงเวลาที่กำหนด

 

ข้อ 6 การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ "ชุดตรวจ ATK" มีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) อัตราการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการ ให้จ่ายเป็นค่าบริการในการให้คำแนะนำการตรวจ ATK การอ่านผล และการปฏิบัติตัวของประชาชน ในอัตรา 10 บาทต่อชุดตรวจ

(2) การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำนักงานจะใช้ข้อมูลจากระบบการให้บริการและสนับสนุนชุดตรวจ โดยการขอ Authentication code ผ่าน application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย หรือระบบข้อมูลที่สำนักงานกำหนด เป็นข้อมูลในการพิจารณาจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข

(3) ก่อนการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำนักงานจะมีการตรวจสอบข้อมูลการให้บริการชุดตรวจ ATK ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

(ก) เอกสารหลักฐานการให้บริการเพื่อประกอบการตรวจสอบการสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้ประชาชน เอกสารหลักฐานเวชระเบียน หรือหลักฐานการให้บริการที่บันทึกใน platform ตามที่สำนักงานกำหนด ประกอบด้วยข้อมูล ดังต่อไปนี้

1) ข้อมูลทั่วไปของประชาชนคนไทย ที่มารับชุดตรวจ ATK ได้แก่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ - ชื่อสกุล เบอร์โทรศัพท์ของผู้ที่ได้รับชุดตรวจ ATK จากระบบ Authentication code ผ่าน application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย ข้อมูลที่ระบุข้อบ่งชี้ของผู้ที่ได้รับชุดตรวจ ATK เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และข้อมูลผลการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ผลเป็นบวก หรือเป็นลบ หรือแปรผลไม่ได้

2) ข้อมูลของหน่วยบริการที่ให้บริการและสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนลงทะเบียนข้อมูลการรับชุดตรวจจากองค์การเภสัชกรรม หรือสำนักงานอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือหลักฐานในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกใน platform ตามที่สำนักงานกำหนด

 

ข้อ 7 การตรวจสอบข้อมูลการให้บริการสาธารณสุขกรณี โควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK ก่อนการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำนักงานจะตรวจสอบข้อมูลในระบบซึ่งต้องพบหลักฐานครบตามเกณฑ์ ดังนี้

(1) บันทึกการลงทะเบียนของผู้รับชุดตรวจ ATK ในการตรวจสอบเพิ่มเติมสำนักงานอาจจะสอบถามจากผู้ที่ลงทะเบียนรับชุดตรวจ ATK และได้รับการยืนยันว่าได้รับชุดตรวจ ATK จริง

(2) บันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อกับผู้รับชุดตรวจ ATK ได้

(3) บันทึกข้อบ่งชี้ของผู้ที่ได้รับชุดตรวจ ATK ในการตรวจสอบเพิ่มเติมสำนักงานอาจจะสอบถามจากผู้ที่ลงทะเบียนรับชุดตรวจ ATK และต้องได้รับการยืนยันว่ามีข้อบ่งชี้จริง

(4) ข้อมูลของผู้นำชุมชนในกรณีที่ดำเนินการลงทะเบียนแทนประชาชน ผู้นำชุมชนจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยบริการ

ทั้งนี้ หากหน่วยบริการใช้ระบบ Authentication code ผ่าน application "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย จะมีระบบการตรวจสอบตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ข้อ 8 ให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ และมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ