เด่นโซเชียล

"ปอศ." เผย ตุ๋น "ลงทุนออนไลน์" สูญเงินกว่าพันล้านบาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปอศ."เผย ประชาชนถูกหลอก "ลงทุนออนไลน์" เพียบ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจกว่าพันล้านบาท พบถูกหลอกตั้งแต่วัยเรียนยันวัยทำงาน

จากกรณี เด็กม. 6 บุกจี้ชิงทอง ห้างดังในพื้นที่ จ.นนทบุรี เนื่องจากนำเงินไปลงทุนออนไลน์ และถูกหลอกสูญเงินมากกว่า 50,000 บาท ทำให้หลายคนสังสัยว่า การลงทุนออนไลน์ที่ว่านั้น เป็นการลงทุนลักษณะใด



โดยทางกองบังคับการการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) ให้ข้อมูลกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ว่า ส่วนใหญ่การหลอก หรือชวนให้ลงทุนออนไลน์นั้น จะมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงนั้น ๆ อะไรเป็นกระแส เช่นการชวนลงทุนออนไลน์ทองคำ, เทรดเงินสกุลดิจิทัล รวมไปถึงการเล่นแชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นในช่วงนี้ กระแสเงินสกุลดิจิทัลกำลังมาแรง การถูกให้ลงทุนออนไลน์ส่วนใหญ่ จึงเป็นการหลอกให้ลงทุนเทรดเงินดิจิทัล

 

ทั้งนี้พบว่า การลงทุนดังกล่าวนั้น จะมีการชักชวนผ่านโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และส่งต่อข้อมูลได้ไว  ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดความเสียหาย จึงมักจะมีผู้ถูกหลอกเป็นวงกว้าง และเสียเงินเป็นจำนวนมาก โดยจากที่รับแจ้งความที่ผ่านมาพบว่า มีผู้เสียหายที่สูญเงินจากการลงทุนออนไลน์มากที่สุดประมาณ 1 พันล้านบาท 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ปอศ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ปอศ. ได้รับแจ้งความจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ลงทุนออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่าประชาชนที่ถูกหลอกส่วนใหญ่ จะอยู่ในช่วงอายุที่หลากหลาย ตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงกลุ่มคนทำงาน เนื่องจากการลงทุนออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีผลตอบแทนที่สามารถดึงดูดใจ และมีกลยุทธ์หลอกล่อคนให้คนสนใจได้อย่างดี จึงทำให้มีหลายคนถูกหลอกให้นำเงินไปลงทุน และสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม จากการรับเรื่องร้องทุกข์ และดำเนินคดีของ ปอศ. พบว่า การถูกหลอกให้ลงทุนออนไลน์สร้างความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงหลัก 1 พันล้านบาท และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะถูกหลอกให้ลงทุนออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีการสังเกตว่า การลงทุนออนไลน์ มีความปลอดภัย หรือเป็นการหลอกให้ลงทุนหรือไม่นั้น ประชาชนสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันนั้น ๆ มักจะการันตีด้วยผลตอบแทนสูงกว่าปกติ หากเจอคำโฆษณาในลักษณะดังกล่าว ให้สันนิษฐานได้เลยว่า เป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมา เพื่อหลอกให้ลงทุนแน่นอน  เพราะปัจจุบันการลงทุนต่าง ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย อนุญาตให้ธนาคารเป็นผู้ดำเนินได้เท่านั้น และการลงทุนในสกุลดิจิทัล หรือการเทรดเงินสกุลดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเป็นผู้กำกับดูแล โดยประชาชนสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้

นอกจากนี้ ปอศ.ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์นั้น ถือว่ามีความผิด ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงเงินประชาชน พ.ศ.2527 ประชาชนที่ถูกหลอกสามารถแจ้งความได้ทุกสถานีตำรวจ โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะดำเนินการติดตามผู้กระความผิด มาดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ