ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุ "โกนเซิน" (CONSON) โดยมีว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมติดตามสถานการณ์พายุ "โกนเซิน" (CONSON)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ข่าวดี "เตรียมชง" 5 กิจกรรม-กิจการออกกำลังกาย - กีฬา "เปิดให้บริการ"
- พบอาการ "VITT" 5 รายหลังฉีดแอสตร้า ตาย 3 แนะหากมีอาการรีบพบแพทย์
- "คลัสเตอร์ใหม่" งานศพเจ้าอาวาส กระบี่ พระ-เณร ผู้ร่วมงาน ติดเชื้อ โควิด 36 ราย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อนกำลังแรง โกนเซิน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 14 5 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 13 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองดานัง ประเทศเวียดนามในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย. 64) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ
ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
- วันที่ 12 กันยายน 2564 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
- วันที่ 13 กันยายน 2564 บริเวณที่มีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคเหนือ: จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2564
กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามสถานการณ์พายุดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนจนกว่าสถานการณ์พายุดังกล่าวจะคลี่คลายลง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และติดตามข่าวของพายุลูกนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลที่เว็ปไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือที่ 02 399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง