เด่นโซเชียล

"ลมชัก" ต้องใช้"ใบรับรองแพทย์"ที่ออกสำหรับลมชักเท่านั้น ในการออกใบขับขี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมการแพทย์ เตือน โรคลมชัก กับการขับขี่ เสี่ยงอุบัติเหตุ ย้ำต้องใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกสำหรับลมชักเท่านั้น ในการออกใบขับขี่และต้องสามารถควบคุมอาการชักได้อย่างน้อย 1 ปี

สถาบันประสาทวิทยา แนะผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรขับรถ เสี่ยงอุบัติเหตุร้ายแรงจากการขับรถต่อตัวเองและผู้อื่น ส่วนกรณีการทำใบอนุญาตขับขี่ ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกสำหรับลมชักเท่านั้น และผู้ป่วยต้องสามารถควบคุมอาการชักได้อย่างน้อย 1 ปี

"ลมชัก" ต้องใช้"ใบรับรองแพทย์"ที่ออกสำหรับลมชักเท่านั้น ในการออกใบขับขี่  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

โรคลมชัก เกิดจากความผิดปกติของการส่งสัญญาณไฟฟ้าในสมอง ซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัยผู้สูงอายุ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 5 แสนราย  ทั่วประเทศ ขณะผู้ป่วยมีอาการของโรคลมชัก อาจจะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคลมชักและจุดกำเนิดในสมอง อาทิ เกร็งกระตุกทั้งตัว เหม่อนิ่งไม่รู้สึกตัว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองขณะมีอาการ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งต่อตนเอง ต่อทรัพย์สิน หรือบางครั้งอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตได้ 

 

นายแพทย์ธนินทร์  เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ อาจจะมีข้อจำกัดในชีวิตอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อทรัพย์สิน และถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย อุบัติเหตุขณะมีอาการชักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว หรือหากมีอาการชักระหว่างประกอบอาชีพกับเครื่องจักรหรือของมีคม มีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากเครื่องจักรและของมีคมได้ แต่อีกหนึ่งปัญหาที่เรายังพบเรื่อย ๆ คืออุบัติเหตุจราจร เนื่องจากผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงที่ไม่มีอาการ ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ 

"ลมชัก" ต้องใช้"ใบรับรองแพทย์"ที่ออกสำหรับลมชักเท่านั้น ในการออกใบขับขี่

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยาจึงได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภา ดำเนินการปรับปรุงข้อกำหนดในการออกใบรับรองแพทย์เพื่อใช้ในการขอมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอมีใบอนุญาตขับขี่ครั้งแรก ต่ออายุ เปลี่ยนชนิด หรือประเภทของใบอนุญาต ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ฉบับใหม่ที่แพทยสภากำหนด และสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก ต้องสามารถควบคุมอาการชักได้อย่างน้อย 1 ปี โดยเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ต้องเรียนฝากทุกท่านว่า ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถรักษาให้หายขาดและจะสามารถดำเนินชีวิตปกติหรือขับรถได้ เมื่อไม่มีอาการชักอย่างน้อย 1 ปี การบังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และต้องไม่ลิดรอนสิทธิในการดำรงชีวิตของประชาชนอีกด้วย  

 

และอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนให้ทราบทั่วกันคือ หากเราพบผู้ป่วยที่มีอาการชัก วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องคือ ต้องไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหยุดชักได้เองในเวลาไม่เกิน 5 นาที หากมีอาการชักนานหรือได้รับบาดเจ็บระหว่างชัก จึงค่อยนำส่งโรงพยาบาลหรือโทร 1669

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ