บันเทิง

เปิดใจ'ดอกดิน'ศิลปินแห่งชาติปี55

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจ 'ดอกดิน กัญญามาลย์ ' ศิลปินแห่งชาติ ปี55 'หากคิดทำอะไร ต้องทำให้ถูกต้อง' : สำนักข่าวอิศรา

              หากเอ่ยถึงผู้กำกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในไทย หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ ‘ดอกดิน กัญญามาลย์’ ประดับอยู่ในดวงใจหลายคน ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับเกียรติพูดคุยกับปูชนียบุคคลแห่งวงการแผ่นฟิล์มวัย 89 ปีท่านนี้ ภายหลังได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) ประจำปี 2555 ที่บ้านพักใจกลางกรุงเทพฯ

              “ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ รู้สึกเฉย ๆ ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อได้ก็ดีใจ” คำปรารภสั้น ๆ ของผู้กำกับมือฉมังกล่าวต่อเรา ก่อนจะบรรยายชีวิตให้เห็นภาพเป็นฉาก ๆ ดังภาพยนตร์เรื่องหนึ่งว่า ตนเริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุเพียง 9 ปี มีนิสัยชอบร้องรำทำเพลง เล่นลิเก จนได้แสดงในคณะสวดคฤหัสถ์ ซึ่งนิยมสวดในงานศพ โดยจะนั่งสวดบนโต๊ะว่าง ๆ ไม่มีฉาก แต่มีตู้พระธรรม ตะเกียงไขลาน และเทียนขี้ผึ้ง หากคนดูชอบใจกับการแสดงจะนำสตางค์มาให้ คืนหนึ่งได้เงินคนละ 1 บาท แบ่งให้ครูสอนวิชาคนละ 1 สลึง เพื่อตอบแทนบุญคุณ

              ภายหลังเลิกสวดคฤหัสถ์ เพราะไม่สามารถแสดงในงานอื่นได้ ยกเว้นงานศพเท่านั้น จึงเบี่ยงเบนชีวิตเข้าสู่การแสดงจำอวดกับคณะศิวารมย์ ของครูเนรมิต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อหวังรับงานแสดงหลากหลาย โดยนำมุกตลกจากการสวดในอดีตมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับจำอวด กระทั่งชีวิตเริ่มหันเหเส้นทางสู่วงการละคร เมื่อได้เข้าเป็นตลกในคณะอัศวินการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล โดยใช้ชื่อการแสดงว่า ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นต้นมา จากเดิมชื่อ (ดิน) ธำรง กัญญามาลย์

              ดอกดิน กล่าวต่อว่า ช่วงหนึ่งที่กำลังสนุกกับงานละคร ได้รู้จักกับเสี่ยซัว บิดาคุณกัมพล ตันสัจจา ซึ่งคุยกับตนว่า “อั๊วต้องเลิกละคร เพราะนักแสดงเมากันเรื่อย สู้หนังไม่ได้ หนังมันใส่กระป๋อง นึกจะฉายเมื่อไหร่ก็ฉายได้ ไม่มีใครเมา แต่อั๊วขอร้องให้ดินอยู่กับอั๊วได้หรือไม่”  จากนั้นเสี่ยซัวก็เลิกทำละครทันที โดยให้คอยช่วยเหลือเรื่อยมา

              กระทั่งเสี่ยซัวบินไปฮ่องกง เพื่อซื้อหนังฝรั่งเศสในราคา 1 แสนบาท มาให้ตนเขียนบทพากษ์ ซึ่งเป็นงานถนัด เพราะอดีตเคยเขียนบทพากษ์ให้เพื่อนมากถึง 30 เรื่อง โดยทันทีที่ฉายสู่สาธารณชนสามารถกวาดรายได้ 7 แสนบาท และตนได้รับค่าเหนื่อยสูงถึง 6 หมื่นบาท เมื่อหัวใจคนทำหนังพองโต เสี่ยซัวรีบบินไปซื้อหนังที่สหรัฐอเมริกา ตนจึงร้องขอสคริปต์หนัง เพื่อนำมาศึกษา เพราะเห็นว่าอนาคตจะต้องผลิตหนังอยู่แล้ว โดยสคริปต์ที่ได้นั้นเกิดรอยฉีกขาด จึงต้องนำไปปรึกษาอาจารย์ในวงการหนัง จนได้วิชาความรู้ ก่อนจะนำแปลเป็นภาษาไทย

              “คำนึงเสมอว่าหากคิดทำอะไร ต้องทำให้ถูกต้อง” นี่คือกุญแจสำคัญของความสำเร็จที่ศิลปินแห่งชาติผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายช่วงแรก ก่อนจะพาเดินลัดเลาะเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูแห่งอาชีพศิลปินแผ่นฟิล์ม

              เมื่อดอกดินก้าวเข้าสู่วงการหนังเต็มตัวในฐานะผู้ผลิตและผู้กำกับมากความสามารถ โดยเริ่มต้นร่วมหุ้นกับล้อต๊อก และสมพงษ์ พงษ์มิตร ตลกรุ่นพี่ผลิตหนังเรื่องแรก คือ สามเกลอถ่ายหนัง ก่อนจะปลุกปั้นนางเอกสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง นามว่า ‘เพชรา เชาวราษฎร์’ ซึ่งเป็นชื่อในวงการที่ตนตั้งให้  โดยให้แสดงหนังเรื่อง แพนน้อย คู่มิตร ชัยบัญชา สร้างกระแสคู่ขวัญ และเพียงไม่นาน ศิลปินแห่งชาติผู้นี้ได้เขียนบทหนังเรื่อง นกน้อย ให้เพชราแสดงคู่กับ มิตรชัย บัญชา อีกครั้งจนค่าตั๋วหนังทะลุร้อยล้านครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

              “เพชรา เดิมชื่อ เอก เชาวราษฎร์ เป็นเด็กปั้นของศิริ ศิริจินดา ซึ่งเป็นเพื่อนตน ครั้งหนึ่งได้พาเพชรามาให้ดูตัวและตั้งชื่อให้ เราเห็นก็รู้สึกว่าเด็กคนนี้หน้าตาดี คม และมีดวงตาดุจดังเพชร จึงตั้งชื่อให้ว่า เพชรา ซึ่งร้องไห้เก่ง มีความสามารถ”  ดอกดินกล่าวด้วยสีหน้าปลาบปลื้มก่อนเล่าต่อว่า เราถูกชะตาเลยตั้งใจเขียนบทเรื่อง นกน้อย ส่งให้ดัง และสร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นยอดรายได้หน้าโรงหนังขาดอีก 10 บาทจะทะลุ 1 ล้านบาท เด็กขายตั๋วเรียกตนเข้าไปนั่งในห้อง เห็นผู้หญิงวัยรุ่นอุ้มท้องมาดูเรื่อง นกน้อย คราวนี้ต่างลุ้นว่าจะซื้อตั๋วราคาเท่าไหร่ ระหว่าง 7 บาท 10 บาท และ 12 บาท ปรากฏว่าผู้หญิงท้องเลือกที่นั่งราคา 10 บาท เราดีใจจนร้องออกมาว่า “ล้านแล้วจ้า” ก่อนจะวิ่งไปซื้อทองคำ 1 บาท ซึ่งขณะนั้นราคาบาทละ 400 มาสวมให้ลูกค้า

              บรมครูแผ่นฟิล์ม ยังกล่าวอีกว่า หนัง เรื่อง นกน้อย นอกจากจะมีจุดเด่นที่บทโดนใจผู้หญิงแล้ว ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ชะตาชีวิต’ เป็นเพลงเอกของหนังเรื่องนี้ด้วย นับเป็นผู้ผลิตหนังรายแรกของไทยที่อัญเชิญบทเพลงดังกล่าวไว้ในหนัง

              “นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง...เป็นเนื้อร้องที่ตรงกับเรื่องราวในหนัง เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงเข้าไปในวัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือขอพระราชทาน รอประมาณ 20 วัน พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ลงมา เรียกว่าเป็นวันที่แสนปลาบปลื้ม”

              จากนั้นยังเล่าถึงนางเอกที่ตนเองปลุกปั้นจนโด่งดังคนสุดท้าย หลังสิ้นยุคมิตร-เพชรา ผู้หญิงคนนั้น คือ ตั๊ก  กุลนภา เศวตศิลา หรือ มยุรา ชื่อนามไพเราะที่ตั้งให้

              “ตั๊กเป็นผู้หญิงฉลาด เก่งมาก แต่ร้องไห้ไม่เก่ง เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เปิดตัวมยุราอย่างครึกครื้น จึงดึงความตลกในตัวมาเป็นจุดขาย เพราะเราสามารถเปลี่ยนแปลงบทได้ให้ตรงกับบุคลิก เนื่องจากเป็นผู้เขียนบทขึ้นมาเอง...จำไว้นี่คือเคล็ดลับการสร้างคนให้เป็นที่ยอมรับ ต้องสร้างคนมาจากบุคลิกภายใน”

              หลังจากนั้นได้ไปพบพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล เพื่อจะขอนำเรื่อง ‘แหม่มจ๋า’ มาเล่น “ใต้ฝ่าพระบาทจะสร้างหนังเรื่อง แหม่มจ๋าหรือไม่  พระองค์ก็บอกว่า ฉันเบื่อ ๆ ไม่เอาแล้ว จะทำก็จะทำเรื่องใหญ่ งั้นตกลงฝ่าพระบาทไม่สร้างแหม่มจ๋า ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานได้หรือไม่ ตนจะนำไปทำหนังเล็ก ๆ  ชื่อแหม่มจ๋า” เรียกว่าเป็นกุศโลบายในการใช้วาจา

              เมื่อพระองค์ประทานให้ตนได้นำดอกไม้ถวาย พร้อมขอพระอนุญาตนำชื่อพระองค์โฆษณาในหนังด้วยว่า ‘แหม่มจ๋า’ เป็นเรื่องที่ได้รับจากราชนิกูล เรียกว่าหากลวิธีทุกอย่างเพื่อให้ ตั๊ก มยุรา ดัง สุดท้าย แหม่มจ๋าก็ดังสมใจ และมีผลงานตามมาอีกมากมาย เช่น มือปืนพ่อลูกอ่อน กุ้งนาง สิงห์สำออย ไอ้แปดนิ้ว  ซึ่งปัจจุบันเมื่อเราเห็นเด็กที่เราปั้นมาประสบความสำเร็จก็สุขใจ

              ยิ่งตอนนี้จะเห็นเลยว่าตั้งแต่ ตั๊ก มยุรา ลาออกจากรายการชิงร้อยชิงล้าน จากกระแสข่าวมีปัญหากับปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกรร่วมงานนั้น ทำให้มีงานอื่นเข้ามาจนชุก อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า ศิลปินย่อมมีทะเลาะกัน บางคนเดี๋ยวดีเดี๋ยวโกรธ แต่บางคนโกรธแล้วโกรธเลยก็มีให้เห็น บางคนโกรธแล้วก็กลับมาเล่นด้วยกันอีก หรือบางคนแยกจากกันโดยไม่โกรธกัน เป็นธรรมดาของศิลปิน

              ส่วน จิ๊ก เนาวรัตน์ ยุตตะนันท์ ไม่ใช่เด็กที่ตนปลุกปั้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพียงแต่เข้ามาร่วมงานด้วย เพราะใคร ๆ ต่างอยากแสดงหนังกับดอกดินทั้งนั้น เนื่องจากแสดงแล้วดัง โดยตลอดเวลาหลายสิบปีทำหนังมากถึง 32 เรื่อง ทะลุ 100 ล้านสูงถึง 26 เรื่อง ก่อนจะวางมือด้วยปัญหาโรคหัวใจรุมเร้า

              เมื่อถามว่าตลอดชีวิตการทำงานมีปัญหาอะไรบ้าง ดอกดิน ตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะเราวางแผนการทำงานดี ต้องขอบคุณสคริปต์หนังจากต่างประเทศที่สอนตนเองเกี่ยวกับการผลิตหนัง อย่างไรก็ตามมองว่าการสร้างหนังปัจจุบันยากมากที่จะทะลุ 100 ล้าน เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งหากให้ตนเองกลับไปทำ คงไม่กล้าเสี่ยง

               ทั้งนี้ได้ฝากข้อคิดดี ๆ แก่คนอยากเป็นศิลปินว่า ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่องาน และซื่อสัตย์ต่อประชาชน ทุกอย่างที่เราทำต้องเกิดความบริสุทธิ์ขึ้น เขียนบทต้องดีไม่ดีเอาใหม่ ถ่ายทำต้องดี ไม่ดีเอาใหม่ อย่าไปคิดว่าเอานะ เพราะประชาชนที่มาดูหนังเราไม่ใช่ใช้เงินปลอม เพราะฉะนั้นเราต้องซื่อสัตย์ต่อคนดู

              สุดท้าย บรมครูศิลปินแห่งชาติ ได้ขับร้องเพลงโปรโมตหนัง ‘นกน้อย’ ให้ฟังจนเราน้ำตาซึมว่า “นกน้อยบินลอยฟ้า พอตื่นลืมตาออกทำมาหากิน มิตรชัย บัญชา เพชรา โสภิณ ติดตามด้วยชรินทร์ และดอกดินตัวดำ ๆ”

              นี่แหละ ‘ดอกดิน กัญญามาลย์’

..........

(หมายเหตุ : เปิดใจ 'ดอกดิน กัญญามาลย์ ' ศิลปินแห่งชาติ ปี 55 'หากคิดทำอะไร ต้องทำให้ถูกต้อง'  : สำนักข่าวอิศรา http://www.isranews.org)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ