โควิด-19

"โควิด19" เป็น "โรคประจำถิ่น" ได้หรือไม่? เปิด 3 หลักเกณฑ์การปรับเปลี่ยน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 3 หลักเกณฑ์การปรับ "โควิด19" เป็น "โรคประจำถิ่น" ภายหลังมีการระบาดลดลง ขณะที่ ยังไม่นำเข้าครม. พิจารณา รอดูสถานการณ์ที่เกาหลีเหนือก่อน

จากสถานการณ์การระบาด "โควิด19" ที่เริ่มเข้าสู่สภาวะขาลง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตมีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้พบรายใหม่เพียง 3,893 ราย เสียชีวิต 38 ราย ถึงแม้ว่าจะปรับเปลี่ยนการรายงานใหม่ แต่จำนวนการติดเชื้อที่รายงานมานั้น ยังไม่รวม ATK ขณะที่ วันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ จะมีการปรับ "โควิด19" ให้กลายเป็น "โรคประจำถิ่น" หรือโรคตามฤดูกาล ซึ่งยังเป็นที่สงสัยว่าจะสามารถเป็นได้หรือไม่ เมื่อยังพบว่ามีการติดเชื้ออยู่ ถึงแม้ว่าจะน้อยลงก็ตาม

 

"โรคประจำถิ่น" คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาการติดเชื้อได้ อัตราป่วยคงที่ ซึ่งโรคระบาดเองก็แบ่งได้ตามระดับด้วยเช่นกัน โดยมี 4 ระดับ คือ

 

1. โรคประจำถิ่น โรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคเอดส์ หรือโรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา

 

2. การระบาด เช่น การระบาดของโรคไข้เลือดออกที่เป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติในปี 2562 หรือการระบาดของโควิด 19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ และแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวก็นับว่าเป็นการระบาด

 

3. โรคระบาด เป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นและมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปี พ.ศ. 2557-2559

 

4. การระบาดครั้งใหญ่ การระบาดทั่วโลก หรือ ระดับการระบาดสูงสุด เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี พ.ศ. 2461 หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโควิด19 ที่พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศจีนในปี 2019 ก่อนแพร่กระจายไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก รวมกว่า 220 ประเทศ จนทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 300 ล้านคน

 

สำหรับข้อสงสัยนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาชี้แจงไว้แล้วว่า การที่โรคระบาดอย่าง "โควิด19" จะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้นั้น ต้องเข้าเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกัน คือ

 

1. เชื้อก่อโรคลดความรุนแรงลง โดยสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดโอไมครอนในปัจจุบันที่แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 อยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย หรือไม่ถึง 1%

 

2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งจากการได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน

 

3. ในประเทศมีระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมหรือชะลอการระบาดของโรคได้อย่างดี

 

ทั้งนี้ ภาครัฐและประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในเรื่องชะลอการระบาดของโรค และเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงจะเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ และอาจนำพาโรค "โควิด19" ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ในอนาคต

 

และถึงแม้หลายประเทศเตรียมยกให้ "โควิด19" กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ทางองค์การอนามัยโลก "WHO" ยังคงไม่เห็นด้วยนัก พร้อมอธิบายว่าคงเร็วเกินไปหากจะสรุปเองว่า "โควิด19" ไม่ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะอาจทำให้มาตรการป้องกันโรคหย่อนยานลงไปโดยไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถคาดการณ์อัตราการกระจายของโรคได้ และถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะประเมินว่าในที่สุด "โควิด19" ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ยังไม่ใช่เวลานี้

 

ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของ "WHO" ระบุว่า คำว่าโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ เร่งฉีดวัคซีนในประชากรโลกให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้เกิดโรคน้อยและไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นั่นจึงจะหมายถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่

 

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้จะยังไม่มีการเสนอ ครม. พิจารณาให้โรค "โควิด19" เป็น โรคประจำถิ่น ซึ่งมาตรการที่จะเสนอให้เป็นโรคประจำถิ่นก็ยังไม่สะดุด ส่วนจะเสนอ ครม. ได้เมื่อใด ต้องดูที่ประชุม ศบค. อีกครั้ง และต้องดูสถานการณ์ติดเชื้อที่เกาหลีเหนือ ประกอบด้วย แต่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

 

จากการสอบถามองค์การอนามัยโลกที่เดินมาไทย ว่า ถ้ามีการกลายพันธุ์ เชื้อสายพันธุ์ใหม่ในไทยจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าหากมีการระบาดใหญ่ในพื้นที่วงกว้างแล้วไม่ได้รับการติดตามหรือฉีดวัคซีน ซึ่งข้อนี้ก็น่าจะคล้ายกับประเทศเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ กรณีการกลายพันธุ์ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้มีอาการรุนแรงหรือติดง่ายขึ้น

 

ข้อมูล : สสส.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ