"โควิด" ยังห่างไกล "โรคประจำถิ่น" ดร.อนันต์ ชี้ ยังแตกสายพันธุ์กิ่งใหม่ได้
ดร.อนันต์ ชี้ ไวเกินไปทำให้ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น ชี้ ต่างจากตระกูลไข้หวัด เพราะยังสามารถแตกสายพันธุ์กิ่งใหม่ได้อีก
หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เตรียมที่จะประกาศโรคไวรัสโคโรนา "โควิด-19" เป็น "โรคประจำถิ่น" ภายในปีนี้ เนื่องจากผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อ มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จากประเด็นดังกล่าว ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา โพสต์ข้อความอธิบายถึงความหมายของคำว่า "โรคประจำถิ่น" ระบุว่า โรคประจำถิ่น ที่นักไวรัสวิทยานิยมใช้เป็นตัวอย่างประกอบคำอธิบาย คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ กับ ไวรัสโคโรน่าหวัดธรรมดาในมนุษย์
ถ้าลองดูการแตกกิ่งทางพันธุกรรมไวรัสสองชนิดนี้ จะเห็นอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน เป็นรูปแบบของกิ่งที่เรียกว่า imbalanced tree เพราะมีการคัดเลือกจาก
ธรรมชาติ ที่จะให้สายพันธุ์ตัวนึงเป็นสายพันธุ์หลักและ แตกกิ่งย่อยไปเรื่อย ๆ จากสายพันธุ์เดิม โดยตัวเดิมไม่มีการแบ่งกิ่งต่อ ตัวใหม่ก็จะเป็นตัวเกิดปัญหาประจำถิ่นต่อไปเรื่อย ๆ การคัดเลือกจากธรรมชาติที่เห็นชัดคือ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีดกันทุกปี เป็นตัวคัดเลือกไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่แตกกิ่งหนีภูมิได้เป็นสายพันธุ์หลักประจำถิ่นในปีนั้น ๆ
ส่วนไวรัสที่ไม่มีแรงกดดัน หรือ การคัดเลือกจากธรรมชาติ การแตกกิ่งทางพันธุกรรมจะออกมาในรูปแบบต่างคนต่างระบาด ไม่ขึ้นกับกันและกัน ในภาพจะเรียกว่า balanced tree ไวรัสเหล่านี้จะไม่ใช่ไวรัสที่ก่อโรคประจำถิ่น เพราะยังมีโอกาสการเกิดสายพันธุ์กิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาทดแทนสายพันธุ์เดิมได้อยู่ เมื่อนำรูปแบบของการแตกกิ่งของไวรัสโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ก็จะเห็นรูปแบบของ balanced tree ที่ชัดเจน
"ไม่แปลกใจครับว่า เหตุใด WHO จึงมีความเห็นออกมาในแนวนี้ เพราะยังไวเกินไปมากที่จะจัด SARS CoV-2 เป็นโรคประจำถิ่นเหมือน ไวรัสไข้หวัดใหญ่
หรือ ไวรัสโคโรน่าในมนุษย์ตัวอื่น ๆ ครับ"