โควิด-19

"โควิด19" ศูนย์จีโนมฯ เผย 6 ปัจจัยสำคัญเปลี่ยนสถานการณ์การระบาดให้ดีขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โควิด19" ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิด 6 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ GISAID ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ วัคซีน โอมิครอน สื่อสารมวลชนโซเชียลมีเดีย เปลี่ยนสถานการณ์การระบาดของโควิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก ระบุว่า 
ผู้พลิกเกม (Game Changer) "โควิด19" 
GISAID  ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์  วัคซีน  โอมิครอน  สื่อสารมวลชน  และ โซเชียลมีเดีย
game changer หมายความว่า "ตัวพลิกสถานการณ์" หรือตามตัวอักษร "ตัวพลิกเกม"  ซึ่งคือสิ่งหนึ่งหรือปัจจัยหนึ่งที่เปลี่ยนสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนมากจากสถานการณ์ไม่ดีหรือแย่มากๆกลับมาเป็นสถานการณ์ที่ดี
ใครเป็นผู้ที่จะมาพลิกสถานการณ์ของโรค "โควิด19" ที่มีการระบาดไปทั่วโลก (pandemics) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5.44 ล้านคน ให้ลดระดับมาเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งมีการแพร่ติดต่อในวงแคบ อาการไม่รุนแรง มีการระบาดตามฤดูกาล และมีอัตราการเสียชีวิตไม่ต่างกับการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจทั่วๆไป เช่น ไข้หวัด (common cold) หรือ ไข้หวัดใหญ่ (influenza) คาดว่าน่าจะเป็นการประสานงานระหว่าง GISAID  ระบบภูมิคุ้มของมนุษย์ วัคซีน โอมิครอน สื่อสารมวลชน และ โซเชียลมีเดีย

 

GISAID
ฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" มีรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (3 หมื่นตำแหน่งต่อจีโนม) ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่บรรดานักวิจัยเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ช่วยกันอัพโหลดขึ้นมาไว้บนฐานข้อมูลแห่งนี้จำนวนกว่า 6.6 ล้านตัวอย่าง (6,682,932)  โดย "GISAID"  ได้อาศัยซอฟต์แวร์แพ็คเกจที่มีชื่อว่า "Pangolin" ในการกำหนดสายพันธุ์ใหญ่และสายพันธุ์ย่อยโดยอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัส  "SARS-CoV-2"  ที่บรรดานักวิจัยทั่วโลกได้อับโหลดกันเข้ามา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด ผลิตชุดตรวจ "PCR" ผลิตวัคซีน และผลิตยา ฯลฯ    

ระบบภูมิคุ้มของมนุษย์
เมื่อมีสิ่งแปลกปลอม "ไวรัสโคโรนา 2019" รุกล้ำเข้ามาในร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ จะก่อให้เกิดการกระตุ้นเม็ดเลือดขาว 2 ประเภทคือ "บี-เซลล์ (B-cell)" ให้สร้าง "แอนติบอดี" ประเภท "IgA"  ออกมาอยู่ตามเยื่อบุทางเดินหายใจคอยดักจับและทำลายตัวไวรัส (neutralization) ที่เข้ามารุกรานปอดพร้อมกับกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภท "ที-เซลล์ (T-cell)" ไปพร้อมกันให้สร้างสารไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภท "เอ็นเค-เซลล์ (natural killer, NK-cell)" ให้เข้าไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส   ทั้ง บี และ ที-เซลล์ ยังแบ่งตัวสร้างลูกหลานที่จดจำรูปร่างลักษณะของสิ่งแปลกปลอมไว้ด้วย เรียก "บี และ ที-เซลล์" เหล่านี้ว่าว่า "memory B-cell" และ "memory T-cell"  เมื่อพบกับไวรัสโคโรนา 2019 ชนิดเดียวกัน ในอนาคต "memory B-cell" จะรีบแบ่งตัวและสร้าง "แอนติบอดี" ออกมาจับและทำลายตัวไวรัส (neutralization)  ในทันที ส่วนเม็ดเลือดขาวประเภท "memory T-cell"  ก็จะแบ่งตัวเร่งสร้างสารไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภท "เอ็นเค-เซลล์ (natural killer, NK-cell)" ให้เข้าไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็ว

 

"โควิด19" ศูนย์จีโนมฯ เผย 6 ปัจจัยสำคัญเปลี่ยนสถานการณ์การระบาดให้ดีขึ้น

 

วัคซีน
จากปัญหาการกลายพันธุ์บริเวณหนามของ "โอมิครอน" ไปมากกว่า 35 ตำแหน่งทำให้วัคซีนที่ใช้ส่วนหนามแหลมของไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA เป็นตัวกระตุ้นภูมิ พบว่า "แอนติบอดี" ที่ถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นมามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลงไปมาก ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการชี้ว่าวัคซีน mRNA ของ ไฟเซอร์ (Pfizer) มีประสิทธิภาพลดลงกว่า "44 เท่า" ทีเดียว โดยทางไฟเซอร์ออกมาแถลงว่าหากผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ "สองเข็ม” จะป้องกันการเจ็บ การตายได้ แต่หากฉีด "เข็มที่ 3 (booster shot)" จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 25 เท่า
แต่โชคดีที่ "memory T-cell" จดจำ "ตำแหน่ง หรือ Epitope"  บนส่วนหนามคนละตำแหน่งกับ "memory B-cell" จดจำ ดังนั้นแม้แอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนจะด้อยประสิทธิภาพลงเนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามไปมาก ก็ยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่สองของ "ที-เซลล์ (T-cell)" ซึ่งมิได้ด้อยประสิทธิตามไปด้วย กลับคอยมาช่วยปกป้องมิให้เราป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

โอมิครอน 
ไวรัสสายพันธุ์ "โอมิครอน" เพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนได้มากกว่าสายพันธุ์ "เดลตา" ถึง 70 เท่า และไม่แพร่ลงลึกไปทำลายเซลล์ปอดก่อให้เกิดปอดอับเสบ จึงทำหน้าที่ได้เสมือนวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) ตัวอย่างวัคซีนเชื้อเป็นที่มาทำให้อ่อนแรง แต่เชื้อนั้นยังไม่ตาย เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม เทคโนโลยีวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ไม่นิยมนำมาผลิตเป็นวัคซีนขึ้นใช้ในปัจจุบันเพราะความกังวลที่อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน จึงยังไม่มีวัคซีนโควิดที่ใช้เทคโนโลยีนี้ "โอมิครอน" จึงอาจมาเติมเต็มในส่วนนี้ได้เนื่องจาก
วัคซีนชนิดเชื้อเป็นมีข้อได้เปรียบวัคซีนเชื้อตายตรงที่โครงสร้างของไวรัสยังคงสภาพเดิมไม่ถูกทำลายสามารถกระตุ้นภูมิได้เสมือนการติดเชื้อตามธรรมชาติ  ในขณะที่วัคซีนเชื้อตายมีโครงสร้างบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่า (inactivation) ไวรัส
วัคซีนชนิดเชื้อเป็นมีข้อได้เปรียบวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ  และวัคซีนสารพันธุกรรม mRNA เนื่องจากนำทุกส่วนของไวรัสมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไม่ได้เลือกเฉพาะส่วนหนามมากระตุ้นภูมิ ดังนั้นแม้ว่าไวรัสจะมีส่วนหนามที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการกลายพันธุ์ วัคซีนชนิดเชื้อเป็นก็สามารถกระตุ้นแอนติบอดี (polyclonal antibody) เข้าจับและทำลายตัวไวรัส (neutralization)ได้
นอกจากนี้การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ จะกระตุ้นแอนติบอดี IgG และ IgM ในขณะที่การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทางระบบทางเดินหายใจจะกระตุ้นแอนติบอดี IgA ซึ่งจะอยู่ในปอดเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 
มีรายงานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่า "โอมิครอน" ยังสามารถกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภท "ที-เซลล์ " ให้สร้างสารไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวประเภท "เอ็นเค-เซลล์ " ให้เข้าทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโร 2019 แบบข้ามสายพันธุ์ (cross-recognises the variant) ระหว่าง สายพันธุ์ โอมิครอน เดลตา และ เบตา ได้อีกด้วย


สื่อสารมวลชน และ โซเชียลมีเดีย 
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนได้ถูกสื่อสารมวลชน "ทั้งไทยและต่างประเทศ" ย่อยและสื่อสารกับประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นที่เข้าใจอย่างรวดเร็วลดความ "ตระหนก" เปลี่ยนมาเป็นความ "ตระหนัก" ได้ในเวลาชั่วข้ามคืนผ่าน "โซเชียลมีเดีย" ซึ่งมีคนชมมากกว่า "ทีวีช่องหลัก"  ทั้งสื่อและประชาชนมาให้ความสนใจและเรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ข้อเรียกร้อง ข้อสงสัยต่างๆจากประชาชนไทยและทั่วโลกถูกนำไปจัดทำเป็นคำถามที่ "แหลมคม" โดยอ้างอิงวิทยาศสตร์ สอบถามรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแทนประชาชนจนเป็นที่พอใจ อย่างกรณีของวัคซีนที่ประชาชนอยากมีสิทธิเลือกเอง สูตรวัคซีนไขว้ แบบไหนดี ประสิทธิภาพของสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์กับการรักษาโควิด-19 หรือกับคำถามความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (vaccine inequality) ที่ว่านำวัคซีนที่มีอยู่มาฉีดให้ได้ 1-2 เข็มแต่ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศไทย หรือ ทั่วโลก จะดีกว่าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 แต่ได้เพียงบางส่วนของประเทศ หรือบางส่วนของโลกหรือไม่ คำตอบก็มีให้เห็นชัดเจนจากการระบาดของ "โอมิครอน" การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังดีกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจริงหรือ โอมิครอนจะเป็น "endgame" เข้าสู่โหมด "โรคประถิ่น" เมื่อใด หรือนโยบาย "permissive strategy" ที่ยอมให้ไวรัสระบาดในระดับที่ควบคุมได้โดยไม่ต้องล็อกดาวน์เหมือนในอดีต เพื่อให้ประชาชนยังสามารถมาทำงานประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงดูตนเอง ครอบครัว และเสียภาษีได้ จนได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ในหลายประเทศในการ ป้องกัน ดูแล  และรักษาตนเองจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ "โอมิครอน" ที่น่าจะมีการระบาดอย่างมากและเป็นวงกว้าง แต่อาการไม่รุนแรง คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนเป็นพิเศษในการ "กักหรือพักตัวเอง" อยู่ที่บ้าน (home isolation) ไม่น้อยกว่า 5-7 วัน ซึ่งสื่อมวลชนได้เป็นตัวกลางสื่อสารกับภาครัฐให้เตรียมเยียวยาประชาชนที่ต้องพักรักษาตัวที่บ้านแทนการไป รพ. สนาม หรือ รพ. ในช่วงที่อาการไม่รุนแรง แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

logoline