วันที่ 4 กันยายน 2564 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "วัคซีนโควิด" "mRNA" ซึ่งภายหลังจากมีการใช้วัคซีนชนิดดังกล่าว พบว่ามีการรายงาน "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" สูงกว่าปกติในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และยุโรป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช. เตรียมกระจาย ATK 8.5 ล้านชุด ให้กลุ่มเสี่ยง "ตรวจโควิด" เช็กรายละเอียด
- แผน "เปิดประเทศ" ททท. ดีเดย์ 1 ต.ค. เปิด 5 จังหวัด เร่งระยะ 2- 4 รับนทท.ต่างชาติ
โดย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "วัคซีนโควิด" "mRNA" ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (US.CDC) รายงานอุบัติการณ์การเกิด "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" หลังจาก "ฉีดวัคซีน" "mRNA" เข็มที่ 2 ประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด โดยเกิดหลังการได้รับ วัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1
อาการมักเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึง 5 วันหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สอดคล้องกับการเกิดปฏิกิริยาที่มักพบสูงทันทีหลังการฉีดเข็มที่ 2 อีกทั้งไขมันอนุภาคนาโน (Lipid nanoparticle) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาข้ามภูมิคุ้มกัน
อาการแสดงที่พบได้บ่อยที่สุด คือ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหนื่อย ใจสั่น เกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เบื้องต้นผู้ป่วยควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด และตรวจเลือดดูเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ
ข้อมูลการรักษาในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง และหลังได้รับการรักษาแบบประคับประคองด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ไม่มีรายงานการเสียชีวิต เมื่อรักษาหายแล้วเบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับการตรวจติดตามการทำงานของหัวใจต่อไป ส่วนข้อมูลการติดตามระยะยาวยังคงมีจำกัด
แม้การ "ฉีดวัคซีน" โควิด-19 ชนิด "mRNA" จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และผลข้างเคียงทางหัวใจเกือบทั้งหมดหายเป็นปกติได้ วัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่มีการรับรองให้ใช้ในเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีได้ ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยแนะนำว่า ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
ข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง