พระเครื่อง

พระราชพิธีฉัตรมงคลกับเหรียญระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระราชพิธีฉัตรมงคล กับเหรียญระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก : เรื่อง/ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

 
          การจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกบนแผ่นดินสยามมีบันทึกแต่เดิมปรากฏเป็นหลักฐาน ในหลักศิลาจารึกว่ามีมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยและมีการฟื้นฟูพระราชพิธีสำคัญนี้ แต่เดิมพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือพระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นงานภายในพระราชฐานมิได้ถือเป็นงานหลวงดังเช่นในปัจจุบันนี้ มาเริ่มเป็นงานหลวงครั้งแรกสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม  ๒๓๙๓  จึงถือให้วันนั้นเป็น "วันนักขัตฤกษ์มงคลการ" และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติพร้อมกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคราวเดียวกันซึ่งถือเป็นธรรมเนียมใหม่ในยุคนั้นถือเป็นงาน "พระราชพิธีฉัตรมงคล" ครั้งแรกของสยาม
 
          สำหรับเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายศราวุฒิ วรพัทธ์ทวีโชติ หรือ "คุณเจมส์" เจ้าของกิจการ ร้าน Siam Coin & Antiques "ร้านกษาปณ์เมืองสยาม" หรือ "ร้าน Siamcoin" และเลขานุการสมาคมเหรียญที่ระลึกไทย บอกว่า เหรียญแรกของไทย คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในรัชสมัยพระองค์มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถึง ๒ ครั้งคือครั้งแรกในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๑๑ ขณะมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษาและคราวที่ ๒ ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๑๖ หลังจากครบ ๒๐ พรรษา
 
          ทั้งนี้มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่านใน "สมาคมเหรียญที่ระลึกไทย" ว่า เหรียญพระเกี้ยวที่จารึกพระนามแรกที่ใช้ในคราวพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกที่เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว" นั้นจะเป็นเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคราวแรกเมื่อปี ๒๔๑๑ซึ่งเหรียญนี้เป็นตรา "พระเกี้ยว" หรือตรา "จุลมงกุฎ"  มีความกว้างใกล้เคียงกับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์คือราว ๕๖ มิลลิเมตรเป็นรูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมีประดิษฐานบนพานทอง ๒ ชั้นเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์" ที่มีความหมายว่า "เครื่องประดับศีรษะ" หรือ "จุลมงกุฎ" เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้มีด้วยกัน ๓ ชนิดคือเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และทองแดง
 
          นอกจากนี้ยังพบเหรียญต้นแบบลองพิมพ์ที่ผลิตด้วยเนื้อดีบุกอีกด้วยเป็นเหรียญที่ระลึกรุ่นเดียวในยุค รัชกาลที่๕ ที่ไม่มีอักษรจารึกระบุปีที่สร้างจึงเป็นเหตุให้เกิดความสับสนว่าสร้างมาเพื่องานใดกันแน่ แต่เป็นที่แน่นอนว่ามีการพระราชทานเหรียญตราพระเกี้ยวชนิดเนื้อทองคำในปี ๒๔๑๒ ซึ่งเหรียญนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญแสดงว่าเหรียญนี้ไม่ได้ผลิตในปี ๒๔๑๕ แน่นอน
 
          หลังจากงานคราวแรกมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ที่จัดในปี ๒๔๑๖ (ตรงกับปีจุลศักราช ๑๒๓๕) ในคราวนี้พระองค์พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้วไม่ต้องมี "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"  อีกต่อไปหลังจากได้ทรงออกผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน ณ วัดพระแก้วทรงประทับอยู่ที่พุทธรัตนสถานมนทิรารามบริเวณพระบรมหาราชวังในวโรกาสการนี้เองพระองค์ก็โปรดให้สร้างเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ นี้ขึ้นโดยในวงการนักสะสมจะเรียกกันว่าเหรียญ "จจจ"  ตามแบบของหน้าเหรียญที่มีอักษร "จจจ"  วงกรอบนอกมีข้อความว่า "การบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระจุฬจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปีรกาเบญจศกศักราช ๑๒๓๕" ด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน  "ตราอาร์ม"
 
          เหรียญรุ่นนี้เข้าใจว่าได้มีการสั่งผลิตจากประเทศอังกฤษ มี ๒ ชนิดคือเนื้อเงินและเนื้อทองแดงเป็นเหรียญที่มีขนาดใหญ่กว้าง ๖๖ มิลลิเมตรเหรียญเงินมีน้ำหนักเงิน ๘ บาทหรือสองตำลึงเป็นเหรียญที่ค่อนข้างหายากและเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มของนายทหารที่เชื่อกันว่า "ทำให้ชีวิตราชการเจริญรุ่งเรือง"
 
          ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ นี้รัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนพระนามเป็น "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือข้อความในเหรียญที่ระลึก "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" พระปรมาภิไธยบนเหรียญจะไม่จารึกคำว่า "พระบาท" นำหน้าพระนาม "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งจะเป็นไปตามพระราชประเพณีที่ได้วางเอาไว้ว่าจะใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้าได้ต่อเมื่อได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปแล้วเช่น รัชกาลที่ ๘ จะใช้พระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล"  ในประกาศราชกิจจานุเบกษา
 
          ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้ผลิตเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นมีด้วยกัน ๒ ครั้งคือครั้งแรกในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๙  มี ๓ ชั้นคือทองคำลงยา, ทองคำล้วนและเนื้อเงินเป็นรูปเสมาขอบหยักเป็นรูปกระหนกด้านบนมีห่วงแต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างไว้ทุกข์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๒ ธันวาคม ร.ศ.๑๓๐ โดยในครั้งที่ ๒ นี้ก็ได้มีเหรียญที่ระลึกออกมาอีก ๒ แบบอีกด้วย
 
          แบบแรกเป็นเหรียญใหญ่ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ ด้านหลังเป็นรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์มีขนาด ๕๑ มิลลิเมตรมีด้วยกัน ๓ ชนิดคือทองคำ เงินและทองแดงเป็นเหรียญที่สร้างน้อยหายากมาก
 
          แบบที่ ๒ เป็นเหรียญเงินแต่อย่างเดียวด้านหน้าเป็นตราวชิราวุธมีดอกพิกุล ๑๖ ดอกล้อมรอบด้านหลัง มีข้อความ "ที่ระฤกในการพระบรมราชาภิเษก ร,ศ,๑๓๐พุทธศักราช ๒๔๕๔" มีขนาด ๒๙ มิลลิเมตร นอกจากเหรียญที่ระลึกแล้วยังมีการผลิตแพรแถบที่ระลึกสำหรับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้อีกด้วย
 
 
เหรียญที่ระลึกบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗
 
          ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี ๒๔๖๘ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ เป็นรูปเสมาขอบเรียบด้านบนเจาะรูใส่ห่วงด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๗  ผินพระพักตร์เบื้องซ้ายด้านหลังมีข้อความว่า "ทีระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๔๖๘"  เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้เป็นเหรียญที่หายากมากๆ เหรียญหนึ่งเนื่องจากมีจำนวนการสร้างที่น้อยอาจเป็นเพราะในตอนนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะย่ำแย่รวมทั้งของไทยเหรียญรุ่นนี้มีด้วยกัน ๔ ชนิด คือ
 
          ๑.เนื้อทองคำมีจำนวน ๓๗ เหรียญโดยพระราชทานฝ่ายใน ๒๐ เหรียญ และฝ่ายหน้า ๑๗ เหรียญ  ๒.เนื้อเงินกะไหล่ทองทั้งหมด ๘๖ เหรียญพระราชทานฝ่ายใน ๑ เหรียญและฝ่ายหน้า ๘๕ เหรียญ  ๓. เนื้อเงินพระราชทานฝ่ายหน้าจำนวน ๕๙ เหรียญ
 
          ๔.เนื้อทองแดง ผลิต ๕๗๗  เหรียญได้มีการพระราชทานให้แก่ฝ่ายใน ๒๑ เหรียญและฝ่ายหน้า ๑๘๒ เหรียญที่เหลือมิได้พระราชทานแก่ใครอีกซึ่งนับเป็นเหรียญที่หายากมากเมื่อ ๓๓ ปีก่อน ที่ทำหนังสือเหรียญที่ระลึกโดยกรมธนารักษ์ในปี ๒๕๒๕  ตอนนั้นเองก็ไม่มีใครทราบว่าเหรียญรุ่นนี้มีการผลิตเนื้อทองคำเช่นกัน
 
 
เหรียญที่ระลึกกาญจณาภิเษกครองราชย์ ๕๐ ปี
 
          สำหรับรัชกาลปัจจุบันพระราชพิธีฉัตรมงคลจัดในวันที่ ๕ พฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันที่ในหลวงทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี ๒๔๙๓  จนในปี ๒๕๓๙ ในหลวงทรงครองราชย์ครบ ๕๐ปี เต็มคราวนั้นกรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติรวม ๓ แบบ
 
          โดยมีความพิเศษกว่าการจัดทำเหรียญที่ระลึกในโอกาสอื่นๆ ที่ผ่านมา คือได้จัดทำเหรียญขัดเงาชนิดพิเศษเป็นโลหะสองสีทำด้วยทองคำร้อยละ  ๙๙.๙ และทองคำขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐ มิลลิเมตรเพื่อสื่อความหมายถึงจำนวน ๕๐ ปีที่ทรงครองราชสมบัติและเป็นเหรียญที่มีมูลค่าสูงมากถึง ๕ แสนบาท เหรียญมีน้ำหนัก ๑๑๕ กรัมจำนวนผลิตเพียง ๑๔๕ เหรียญโดยสีเงินด้านนอกเป็นทองคำขาวด้านในเป็นทองคำเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญขัดเงาเป็นเหรียญที่สวยงามและหาชมได้ยากยิ่งนัก
 
 
 
 
 
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ