ข่าว

กลยุทธ์ดึง Expert สู่อีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

....

ในระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ “ทุนทางปัญญา” ซึ่งได้แก่การวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อต่อยอดผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมในประเทศให้มีความสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนเอง

หากด้วยที่ผ่านมาไทยรับบทบาทเป็นผู้รับจ้างผลิตมาโดยตลอด ทำให้ไม่ได้มีการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มวันนี้หากไทยยังคงใช้กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีแบบเดิม อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงความพยายามที่จะก้าวข้ามให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง

เพื่อปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่การผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลกและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

หากแต่ในระยะเบื้องต้นเพื่อให้ทันต่อการพัฒนาประเทศไทยมีความจำเป็นต้องอาศัยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วนนำมาสู่หลากหลายมาตรการจูงใจผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนนักวิจัย อาทิ การสร้างกลไกการเชื่อมโยงผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ ระหว่างหน่วยงานวิจัยของไทยกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศรวมทั้งนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจากต่างประเทศ

การพัฒนาเขตเทคโนโลยีระดับโลกของประเทศไทย 2 แห่ง ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และเขตนวัตกรรมดิจิตอลตะวันออก (EECd) ซึ่งจะประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลก เขตส่งเสริมอุตสากกรรมไฮเทคเฉพาะด้าน ศูนย์ฝึกอบรมและสิ่งอำนวยความสะดวกสากล เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชั้นนำของโลกทั้งไทยและต่างประเทศมาทำงาน และประกอบธุรกิจไฮเทคที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้และการสะสมเทคโนโลยีชั้นนำประเทศไทย

รวมไปถึงมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี จากอัตราก้าวหน้า 35% เหลือเพียง 17% ของเงินได้พึงประเมิน อีกทั้งเงื่อนไขลดภาษีนิติบุคคล 15 ปี หรือ ภาษีรายได้ส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มนักวิจัย ที่จัดเก็บ 15% เป็นต้น

นอกจากนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมจะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ ตามรูปแบบที่กำหนด เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยมีการมอบสิทธิประโยชน์และปรับปรุงเงื่อนไขในการส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ อาทิ กรณีลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่นเมืองการบินภาคตะวันออก  หรือในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปี) และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น

ในด้านมาตรการพัฒนากำลังคนดิจิตอลด้วยการพัฒนาเขตนวัตกรรมดิจิตอล (EECd)ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการขอวีซ่าผู้เชี่ยวชาญ (Tech Visa) ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุมัติ สมาร์ทวีซ่า 4 ปี โดยไม่ต้องขอ Work permit และสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมถึงการส่งเสริมให้ Digital Park Thailand เป็นศูนย์กลางด้านกำลังคนดิจิตอลที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนด้วยการดึงดูดให้เกิดชุมชน Digital Nomad และ Digital Expat ที่เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Digital Tech Startup ในอาเซียน รวมไปถึงการสร้างอีโคซิสเต็มใหม่ โดยพื้นที่ต้องได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งที่พักอาศัยการจัดการสิ่งแวดล้อม สถานศึกษา ซึ่งจะทำให้พื้นที่ใกล้เคียงและคนในพื้นที่จะถูกพัฒนาไปในเวลาเดียวกัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ