คอลัมนิสต์

ไม่มีของดีราคาถูก..!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย    โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 


          ทุกๆ ปี หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กรมศุลกากร จะนำทรัพย์สินของกลางที่ยึดอายัดมาจากการกระทำผิดต่างๆ มาประมูลขายทอดตลาด ยิ่งแล้วเป็นรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ ล้วนแล้วแต่เป็นรถหรูคันงาม แน่นอนว่าราคาที่ประมูลได้ถูกกว่าการซื้อขายปกติหลายเท่าตัว ชนิดที่เรียกว่า “ถูกเหมือนได้ฟรี” แต่ถ้าดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายการครอบครองรถกับกรมขนส่งทางบกแล้ว ไม่แน่ใจว่า “ของดีราคาถูก” ที่ว่านี้จะคุ้มค่ากับการตั้งหน้าประมูลมาหรือไม่ 

 

 

 

ไม่มีของดีราคาถูก..!!

 

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจให้บรรดาคนที่รอประมูลรถเหล่านี้ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจว่า “คุ้มที่จะเสี่ยง” หรือเปล่า โดยผู้ที่ให้ความรู้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรถที่กระทำผิดกฎหมาย อย่าง พ.ต.อ.อรรถพร สุริยเลิศ ผกก.ฝอ.บก.ภ.จว.อุทัยธานี “อดีตมือปราบโจรลักรถ” ที่ได้โพสต์ข้อมูลให้ความรู้เรื่องดังกล่าวผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “อาจารย์ อรรถ”


          พ.ต.อ.อรรถพร เปิดประเด็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีเอฟซี สอบถามขอความรู้เกี่ยวกับการประมูลรถที่มีการขายทอดตลาดของส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ที่ชำรุดเสื่อมสภาพ ใช้ราชการมานาน รถตรวจยึดของกลางตามพ.ร.บ.ต่างๆ รถลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร รถที่ต้องจำหน่าย แล้วต้องนำไปดำเนินการจดทะเบียนนั้น ขอเรียนว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่มีของดีราคาถูก บางคันประมูลหลักร้อย หลักพัน เมื่อนำไปจดทะเบียนแล้ว ทางกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถรับจดทะเบียนได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ซื้อโดยสุจริต ทำให้เกิดปัญหาโต้แย้งระหว่างประชาชนและหน่วยงานรัฐที่ขายทอดตลอดและรับจดทะเบียนขออนุญาต 

 

 

 

ไม่มีของดีราคาถูก..!!

 

 

          อดีตมือปราบโจรลักรถ อธิบายว่า การประมูลรถที่จะนำไปจดทะเบียนมี 2 กรณี คือ รถที่เคยจดทะเบียนไว้แล้ว กับรถที่ไม่เคยจดทะเบียน สำหรับ กรณีแรก รถที่เคยจดทะเบียนไว้แล้ว หน่วยงานที่จะขายจัดทำบัญชีรายละเอียดรถ ได้แก่ หมายเลขทะเบียน หมายเลขตัวรถ ให้กรมการขนส่งตรวจสอบข้อมูล ภายใน 30 วัน ถ้าถูกต้องก็ขายทอดตลาดได้ และมอบเอกสารประกอบการจดทะเบียนให้ผู้ประมูลไป ส่วน กรณีที่สอง รถที่ยังไม่เคยจดทะเบียน หน่วยงานประมูลจัดทำบัญชีรถพร้อมรายละเอียดรถแต่ละคัน ส่งไปตรวจสอบกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กองพิสูจน์หลักฐาน กองทะเบียนประวัติ กองการต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และ ตัวแทนจำหน่ายรถยี่ห้อนั้นๆ ซึ่งแต่ละหน่วยต้องแจ้งผลตรวจสอบภายใน 30 วัน 


 

 

ไม่มีของดีราคาถูก..!!

 

 


          “กรณีเป็นรถที่อยู่ในข่ายดำเนินการทางทะเบียนได้ก็ดำเนินการขายทอดตลาด ส่วนกรณีผลการตรวจสอบไม่ครบ หรือข้อมูลตรวจสอบไม่ตรงกัน ไม่ตัดสิทธิการขายทอดตลาดของหน่วยงาน แต่ไม่ผูกพันกรมการขนส่งที่จะต้องดำเนินการทางทะเบียน หากรถนั้นไม่สามารถยืนยันความถูกต้องหรือที่มาของรถได้ กรมการขนส่งทางบกจะไม่รับดำเนินการทางทะเบียน ในกรณี เช่น 1.รถที่จดประกอบจากชิ้นส่วนเก่าใช้แล้วนำเข้าจากต่างประเทศ 2.รถสวมทะเบียน 3.รถถูกโจรกรรม 4.รถที่ชำรุดในสาระสำคัญ/ซากรถ 5.รถที่ไม่มีใบอนุญาตให้นำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ 6.รถที่ใช้แล้วนำเข้าจากต่างประเทศโดยผ่านพิธีการศุลกากรตามประกาศถ่ายลำผ่านแดน โดยไม่ได้นำออกไปนอกราชอาณาจักรจริง หรือเป็นการถ่ายลำผ่านแดนเทียม และ 7.รถที่ใช้แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก จึงอยากฝาก เพื่อน พี่ น้อง ที่จะขายทอดตลาดรถให้ดำเนินการตามระเบียบ และแนวทางปฏิบัติการขายทอดตลาด กระทรวงคมนาคม เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลัง” พ.ต.อ.อรรถพร อธิบายเสริม 

 

 

 

ไม่มีของดีราคาถูก..!!

 


          สิ่งที่ควรทำคือศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจประมูลรถจำพวกนี้มาเป็นเจ้าของเพราะสุดท้ายแล้วของดีราคาถูกมักไม่มีอยู่จริง..!!

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ