คอลัมนิสต์

จุดพลุแก้รธน.จับตาเกมนอกสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562

 

 

          พรรคการเมืองในซีกฝ่ายค้านได้แสดงเจตจำนงในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งประกาศว่าต้องการแก้ไขทั้งฉบับโดยเริ่มต้นจากเรื่องอำนาจของส.ว.และมาตรา 279 ที่รับรองอำนาจของคสช. โดยเตรียมผลักดันทุกช่องทางทั้งในสภาและนอกสภา รวมทั้งจัดเตรียมเดินสายชี้แจงรณรงค์ให้ประชาชนเห็นชอบและให้เกิดฉันทามติร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระเบิดเวลาจำเป็นต้องช่วยกันถอดสลัก ซึ่งแนวโน้มยื่นประเด็นแก้ไขก็มีแตกต่างกันไปโดยบางพรรคก็จ้องจะแก้ไขหลายหมวด หลายมาตรา และบางพรรคก็เสนอว่าควรปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก เพื่อให้อนาคตสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยให้ใช้กติกาปกติที่ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา โดยพรรคการเมืองเหล่านี้เริ่มเดินหน้าทันทีหลังมีรัฐบาลใหม่เข้าสู่การบริหารประเทศ

 

 

 

          ในส่วนขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่าต้องเริ่มจากคณะรัฐมนตรี หรือส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของส.ส.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรคือ 100 คนขึ้นไป ส่วนการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่มีส.ส.500 คน และส.ว.250 คน คือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้ ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง และวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก ส่วนการโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนเปิดเผย และต้องมีคะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาโดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองและมีส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกส.ว.

 

 

          นอกจากนี้ยังมีการล็อกไว้อีกคือ 1.หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หรือเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระต้องทำประชามติ 2.ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ ส.ส.และส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของร่างแก้รัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้จากความเห็นนักวิชาการมองว่าจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นปราบปรามทุจริต การปฏิรูปพัฒนาประเทศ มีบทลงโทษพรรคและนักการเมืองที่รุนแรง ส่วนจุดอ่อนคือถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และถ้าถามว่าประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ยังไม่มีการสำรวจผลอย่างจริงจัง

 

 

          บริบทของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ผ่านการประชามติจากประชาชนกว่า 16.8 ล้านเสียง และในระหว่างมีผลบังคับใช้มาเกือบ 2 ปียังถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องพิจารณาถึงผลกระทบรวมไปถึงข้อเด่นข้อด้อยและต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายเพื่อตกผลึกหาข้อสรุป โดยเฉพาะนักการเมืองอยู่ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่ควรชี้นำหรือรีบด่วนแก้ไข แม้จะบอกว่าเป็นพันธสัญญาหาเสียงเพราะกฎหมายนี้เกี่ยวพันกับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นเห็นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมน่าจะเริ่มจากองค์กรอิสระหรือหน่วยงานวิชาการและสถาบันที่เป็นกลางเข้ามาเป็นกลไกหลักดำเนินการเพราะลำพังพรรคการเมืองไม่สามารถหาฉันทามติจากทุกส่วนได้เนื่องจากแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายจึงต้องจับตาว่าจะเป็นหมากเกมปลุกกระแสนอกสภาเพราะในสภาจบเห่ไปแล้วหรือไม่

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ