คอลัมนิสต์

ปาฏิหาริย์มีจริง....?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น

 

 
          ยามนี้เเละยามหน้านั้นต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องของกกต.ในเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีพึงได้ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หรือไม่....

 

 

          หลังจากที่มีกระเเสข่าวว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะเล็กเสียงเเตกว่า รับหรือไม่รับไว้วินิจฉัย เเละเมื่อไม่ชัดเเจ้งในชั้นต้น  ก็ต้องรอที่ประชุมใหญ่ศาลรัฐธรรมนูญกลางสัปดาห์หน้าว่าจะดำเนินการเช่นใด...
 

          “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก” อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะรับเรื่องหรือไม่นั้น ต้องมาดูกันว่ามีประเด็นอย่างน้อย 1 ใน 2 ประเด็นหรือไม่ โดยประเด็นที่ 1 คือกฎหมายในลำดับรอง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.ในการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ มีอะไรที่องค์กรอิสระไม่เข้าใจ หรือคิดว่าเป็นประเด็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
 

          แต่ถ้าหากถามถึงเรื่องของการคำนวณสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ น่าจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดความลำบากใจ เนื่องจากว่าไม่เข้าข่ายใน 2 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้น่าจะพอเข้าข่ายในประเด็นที่ 2 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ทาง กกต.ได้ถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยกกต.จะต้องชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้อย่างไร และที่สำคัญคือตามมาตรา 128 วรรคท้าย ได้ระบุเอาไว้ว่า ในการคำนวณตามอนุ 1 ถึงอนุ 8 ของมาตรา 128 จะต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ"
 



          เมื่อมองในสิ่งที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีเดียวกันไว้ว่า “ถ้าศาลไม่รับเรื่อง กกต.ต้องชี้แจงรายละเอียดเอง ถ้าชี้แจงแล้วมีใครไม่เห็นด้วยก็ต้องไปร้องต่อศาล เรื่องนี้ต้องรอดูว่าศาลจะว่าอย่างไร ถ้ารับเรื่องเอาไว้ก็หมดเรื่อง เมื่อรับแล้วจะพิจารณาช้าหรือเร็วต้องว่ากันไป ซึ่งตนคิดว่าศาลต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ตามที่กกต.ระบุว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้เห็นว่ากกต.ควรถามเรื่องกรอบเวลาการรับรองผลไปในคราวเดียวกันด้วยว่าจะเป็น 150 วัน หลังกฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ หรือภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามสำหรับการพิจารณาใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง เป็นเรื่องส.ส.เขต ไม่เกี่ยวกับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กกต.สามารถทำควบคู่ไปได้ แต่ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วยังมาติดเรื่องใบเหลือง ใบแดง อย่างนั้นถือเป็นความบกพร่องของ กกต.”
 

          สิ่งที่ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ากกต.ประกาศรับรอง ส.ส.ไม่ทันในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ จะทำให้เกิดเดดล็อกขึ้นหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า “ไม่ทราบ ผมไม่รู้ ไว้ถึงเวลาค่อยบอกค่อยคิดกันต่อ”
 

          รวมทั้งมุมคิดของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กล่าสุดว่า “กกต.ต้องมีแผนสำรอง การฝากความหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจต้องมีแผนสำรองไว้ด้วย เพราะกว่า ที่ประชุมใหญ่ของศาลจะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับ ก็ย่างเข้าไป 24 เมษายน 2562 หากรับศาลอาจต้องใช้เวลาพิจารณาอีก 2 สัปดาห์ ก็เข้าใกล้เส้นตายที่ต้องประกาศคือ 9 พฤษภาคม เข้าทุกที และหากมีคำพิพากษาแบบกว้างๆ แบบให้ไปดำเนินการเองโดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญ นั่นแปลว่าบทเล่นทั้งหมดจะกลับไปอยู่ที่ กกต. ฝรั่งบอกว่ามีแพลน เอ ต้องมีแพลน บี นั่นแปลว่าต้องมีทางสำรองที่สองรอไว้หากแผนแรกติดขัด ส่วนใหญ่แผนหนึ่งจะเป็นแผนรุกและแผนสองคือแผนถอย แต่ต้องเป็นการถอยที่ตนเองไม่บาดเจ็บ ไพร่พลไม่ล้มตาย เรียกว่าถอยอย่างมียุทธศาสตร์ไม่ใช่ถอยกรูดแบบหมดรูป คงต้องรอดูและให้กำลังใจ กกต.ว่าจะมีแผนสองอย่างไรครับ”
 

          พินิจสิ่งที่ รศ.ดร.เจษฏ์ มองไว้นั้น อาจจะเป็นมุมบวกที่ใครบางคนน่าจะพอใจบ้าง
 

          เเต่งานที่ทำให้ใครหลายคนใจหายใจคว่ำหายใจไม่ทั่วท้องเพราะคำตอบในวรรคท้ายที่เนติบริกรกล่าวไว้นั้น คือคำตอบที่คนการเมืองหายใจไม่ท้องว่า มันจะออกหัวหรือก้อย เพราะต้นเดือนเมษายน กกต.ให้ข้อมูลกับสังคมว่า 27 พรรคการเมืองจะมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เเต่สูตรที่นักวิชาการคำนวณกันนั้นมีสิบกว่าพรรคที่จะรับโอกาสนี้ มันก็ขัดกันเองว่าจะเลือกเเบบใด เเละหากมันเป็นไปตามสิ่งที่เนติบริกรระบุไว้ว่า”...ถ้าศาลไม่รับเรื่อง กกต.ต้องชี้แจงรายละเอียดเอง ถ้าชี้แจงแล้วมีใครไม่เห็นด้วยก็ต้องไปร้องต่อศาล..” เเบบนี้มันร้องเรียนกันยุ่งขิงเป็นลิงเเก้เเหเเน่นอน
 

          เมื่อบวกกับความเห็นของ “สมชัย” ซึ่งเป็นอดีตกกต.นั้นเกี่ยวกับแพลน เอ แพลน บี ที่มันโยงใยกันเเบบตัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกไปมิได้
 

          เมื่อผนวกกับสิ่งที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” คีย์เเมนพลังประชารัฐที่กระตุ้นกกต.ให้เร่งเเจกใบสารพัดสี เพราะเหลือเวลาตามไทม์ไลน์ในการเลือกตั้งซ่อมเเค่วันที่ 28 เมษายนนั้น เนื่องจากขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งซ่อมนั้น เร็วที่สุดคือหนึ่งสัปดาห์ เเต่เมื่อไล่เรียงปฏิทินเเล้วมันหมิ่นเหม่ยิ่งนัก....ที่จะจัดการได้ทันเวลา


          สี่คนที่พูดเรื่องนี้ เเม้ประเด็นจะเเตกต่างกันบ้างเเต่องค์ประกอบหลักมันอยู่ที่เเนวทางของกกต.ว่าจะเดินทางใด  เเต่ความจริงที่สังคมรับรู้ยามนี้คือคล้ายว่า กกต.ก็ไร้ทิศทางเช่นกัน เนื่องจากกกต.ยอมรับเองว่าไม่มีสูตรใดๆ ไว้ในใจในการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คราวนี้ สามอดีต กกต.คือ “โคทม อารียา, สมชัย จึงประเสริฐ, สมชัย ศรีสุทธิยากร” ไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณสส.ปาร์ตี้ลิสต์ของกกต.ปัจจุบัน ประเด็นหลักคือ พรรคคะแนนต่ำกว่า 7.1 หมื่นเเต้มไม่ควรได้ ส.ส.หากกกต.เคาะมาในมุมตรงข้ามกับอดีตสามเสือกกต. ขั้วหนุนลุงตู่ย่อมชื่นใจ เเต่ฝ่ายที่เสียเปรียบคือขั้วต้านลุงตู่น่าจะร้องเรียนศาลโดยอ้างวิธีคิดของนักวิชาการบางเเขนงเเละอิงอดีต 3 กกต.


          เเละการที่ยังไม่มีเเววเคาะใบสารพัดสีออกมา เวลาราวๆ ยี่สิบวันเศษนั้น คนการเมืองหลายชีวิตบอกว่า "กรรมการเข้ามาตัดสินเหมือนไม่รู้กติกา เเบบนี้จะชี้ชัดได้อย่างไร....”


          จับยามสามตาเเล้วนั้นคล้ายว่า กกต.อยู่ในภาวะมืดมนยิ่งที่จะพบกับเเสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะไม่ว่าเจ็ดเสือกกต.จะเคาะไปในเเนวทางใดย่อมมีข้อร้องเรียนที่ผูกพันยาวๆ ไปกับเส้นตายประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้
 

          เกมการเมืองก็ยิ่งลากยาวไปเรื่อยๆ เเววการเดินเข้ารัฐสภาของห้าร้อยว่าที่ส.ส.ก็คงจะริบรี่ลงไปเรื่อยๆ
 

          เว้นเพียงว่า...ปาฏิหาริย์จะมีจริง?
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ