คอลัมนิสต์

"24 มี.ค." เลือกตั้ง ชัวร์?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(ขยายปมร้อน) "24 มี.ค." เลือกตั้ง ชัวร์?

 

                  ชัดเจนแล้วว่า “วันเลือกตั้ง” ที่จะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่แทนวันเดิม 24 กุมภาพันธ์ คือ วันที่ 24 มีนาคม ขยับออกไป 1 เดือน แต่ยังมีคำถามต่อ มั่นใจหรือไม่ว่า “24 มีนาคม” จะมีการเลือกตั้ง ?

                  ไล่ดูขั้นตอนและเหตุปัจจัยต่างๆ นับจากนี้ไป

                  ตอนนี้สิ่งที่จะทำให้มีการเริ่มนับหนึ่งไปสู่การเลือกตั้งอย่างจริงจัง คือ “พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง” ซึ่งฝ่ายรัฐบาลบอกว่าน่าจะมีการประกาศได้สัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันพฤหัสบดีที่ 24 หรือวันศุกร์ที่ 25 มกราคมนี้

                  จากนั้น กกต.จะประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง

                  นับจากวันประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และวันที่ กกต.ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะเป็นสัปดาห์ถัดไป วันเลือกตั้งที่เหมาะสมก็น่าจะเป็น “24 มีนาคม” ตามที่ฝ่ายรัฐบาล คือ “วิษณุ เครืองาม” เห็นว่าเหมาะสมจริงๆ

                  เพราะหากเป็นวันที่ 10 มีนาคม อย่างที่ กกต.อยากได้ก่อนหน้านี้ก็จะมีเวลาในการหาเสียงแค่ประมาณ 40 วัน และหากขยับไปเป็นวันที่ 17 มีนาคม ก็ตรงกับวันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบทีแคสของเด็ก ม.6

                  หากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งออกมาตามนี้จริงๆ ก็น่าจะชัดเจนว่า จะมีการเลือกตั้งแน่ๆ

                  แต่จากที่เคยมีการเลื่อนเลือกตั้งมาแล้วถึง 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 บวกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความไม่แน่ใจ

 

"24 มี.ค." เลือกตั้ง ชัวร์?

(อ่านต่อ...เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!)

 

                  การออกมาชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จริงๆ แล้วไม่น่ามีอะไรต้องกังวล เพราะน่าจะเป็นเพียงการคอยกระตุกรัฐบาลว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเท่านั้น และในเนื้อหาข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเองก็มีการถอยร่นไปเป็นระยะๆ

                  จากเดิมบอกต้องมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายใน 18 มกราคม เพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม ล่าสุดก็ถอยไปเป็นให้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายใน 24 มกราคม เพื่อให้เลือกตั้งได้ในวันที่ 24 มีนาคม

                  แต่จุดที่น่ากังวลคือการออกมาของ “อีกฝ่าย” มากกว่า

                  เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จากเดิมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จู่ๆ ก็มี “กลุ่มสามัคคีก่อนเลือกตั้ง” เกิดขึ้นและนัดชุมนุมบริเวณดังกล่าวเหมือนกัน ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงย้ายไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                  กลุ่มสามัคคีก่อนเลือกตั้งชูป้าย “ไม่สงบ ไม่มีเลือกตั้ง” และเรียกร้องให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเลิกชุมนุมและอดทนรอไปก่อน

                  บรรยากาศเช่นนี้ก่อให้เกิดความกังวลขึ้นมาว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายจนทำให้ไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่ หลังจาก ผบ.ทบ. “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” เพิ่งออกมาปราม “อย่าล้ำเส้น” และมีการตีความคำพูดของ ผบ.ทบ.ไปต่างๆ นานา

                  อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า คสช.จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ คือ สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้ถูกมองว่า “ไม่น่าจะรุ่ง”

                  อย่างไรก็ตามปมพรรคพลังประชารัฐไม่รุ่งนี้ ล่าสุดกระแสที่วิเคราะห์กันว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจจะไม่มาอยู่ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐแล้ว มีมากขึ้น

                  โดยเฉพาะเมื่อดูจากอากัปกริยาของ “บิ๊กตู่” ที่ล่าสุดออกมากระตุกการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องทำ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็น “โฉนดทองคำ” จากที่เคยปรามดังๆ ว่าอย่าเอาชื่อไปหาเสียง หลัง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เอาชื่อ “บิ๊กตู่” ไปประกาศหาเสียงชัดๆ บนเวที

                  ช่องทางที่ “บิ๊กตู่” ไม่ต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ พรรคพลังประชารัฐก็ได้ แล้วไปลุ้น “ก๊อกสอง” อันนี้จะเป็นปัจจัยผ่อนคลายสถานการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐเป็นรองได้

                  ถามว่าหากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและมีการกำหนดวันเลือกตั้งออกมาแล้วจะมีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งได้อีก

                  เบื้องต้นมี 2 ปัจจัย คือ เกิดสถานการณ์วุ่นวายหรือเหตุสุดวิสัยจนไม่สามารถมีการเลือกตั้งได้ กรณีนี้ กกต.สามารถประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้

                  อีกปัจจัยคือ “ปฏิวัติซ้อน”

                  หากมองข้ามช็อตไปหลังเลือกตั้ง ก็ต้องบอกว่า ฝ่าย คสช.ยังมี “หมาก” ให้เล่นได้อีกหลายตัว ที่ไม่จำเป็นถึงขนาดจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง

                  การที่รัฐธรรมนูญไม่กำหนดกรอบในการเลือกนายกฯ เป็นหนึ่งช่องทางหายใจ เพราะหากยังรวมเสียงเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากไม่ได้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องตั้งรัฐบาล แต่ให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ต่อไปก่อนพร้อม “มาตรา 44” ที่เป็นเหมือน “ไม้เท้ากายสิทธิ์” เงื่อนไขมีแค่รวมเสียงไว้ให้ได้ 126 เสียง เพื่อล็อกไม่ให้อีกฝ่ายตั้งรัฐบาลได้

                  การร้องเรียนที่จะนำไปสู่การแจกใบเหลืองใบแดงก่อนประกาศรับรองผล จะมีจำนวนมากแน่นอน

                  รวมไปถึง “การยุบพรรค” ก็อาจจะเป็นหมากอีกตัวหนึ่ง

                  ส่วนเรื่องกรอบเวลาเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ที่ล่าสุด กกต.แสดงท่าทีว่าหากเลือกตั้ง 24 มีนาคม ก็จะประกาศภายในวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อไม่ให้เกินกรอบ 150 วันนับจาก 11 ธันวาคม 2561 ที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลโดย “วิษณุ เครืองาม” แสดงท่าทีไม่ค่อยพอใจเท่าไรนักนั้น ล่าสุดก็เหมือนจะมีทางออกแล้ว

                  นั่นคือการหาทางยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้ กกต.ไปประกาศรับรองผลในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมได้

                  เรื่องวันประกาศผลเลือกตั้งไม่น่าจะเป็นปัญหามาก แต่ที่เป็นปัญหากว่าคือ 24 มีนาคม ให้มีเลือกตั้งก่อน

 

"24 มี.ค." เลือกตั้ง ชัวร์?

                  เบื้องต้นลุ้นปลายสัปดาห์นี้ “พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง” จะมาตามนัดหรือไม่ !!

===================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ