คอลัมนิสต์

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น


  
 
          เมื่อการเมือง เรื่องวันเลือกตั้งยังไม่ทราบแน่ชัดในตอนนี้ว่าจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะปรับลงล็อกวันที่ไหนกันแน่


          แต่ความแน่นอนในตอนนี้ “คนการเมือง” ต่างพร้อมที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งแล้ว โดยประเด็นสำคัญที่ถูกไฮไลท์จากสังคมวันนี้ คือ พรรคการเมือง จะมีนโยบายที่สอดรับความต้องการของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่

 

 

          และในจำนวนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ว่านั้น กลุ่มที่ถูกพุ่งเป้ามากที่สุด คือ “กลุ่มนิวโหวตเตอร์” ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 ที่อายุระหว่าง 18-26 ปี กว่า 8.3 ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้นสิ่งที่จะนำไปสู่การตัดสินใจออกไปเลือกตั้งคือ “นโยบายของพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับตัวเอง”
 

          ด้วยความสำคัญต่อนโยบายของพรรคการเมืองกับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “เปิดวิสัยทัศน์พรรคการเมืองไทย จะทำอะไรเพื่อสื่อของเด็ก” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนพรรคการเมือง นำเสนอ ประเด็น-นโยบายที่เกี่ยวข้อง
 

          ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่
          ระบบการศึกษากับทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ไม่ควรทำเฉพาะเด็กเท่านั้น เพราะผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กถือเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะครูผู้สอน เพื่อทำหน้าที่บูรณาการ การรู้เท่าทันสื่อภายในห้องเรียน ที่ครูผู้สอนต้องรู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ รวมถึงผู้ปกครอง ที่ต้องรู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ ผ่านการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่ออกคำสั่งหรือบังคับเด็ก
 

 

          สิ่งที่อยากเห็นคือการสร้างพื้นที่ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ให้เด็กสามารถฝึกใช้สื่อได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นองค์กรสื่อทุกระดับควรให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการผลิตสื่อ ที่มีคุณภาพและหลากหลาย ส่วนสื่อกระแสหลักควรจัดสรรช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง


 

 

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

“องค์กรสื่อทุกระดับควรให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการผลิตสื่อที่มีคุณภาพและหลากหลาย ส่วนสื่อกระแสหลักควรจัดสรรช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง”  

"กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ" 


 

          ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์
          สิ่งที่ต้องทำเกี่ยวกับ “สื่อเพื่อเด็ก” คือ การเพิ่มคุณภาพและปริมาณสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนโดยรัฐไม่แทรกแซงและมีมาตรการปกป้องเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสื่อ ทั้งฐานะผู้ชม หรือผู้ร่วมผลิต


          สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ตั้ง 7 เป้าหมายสำหรับการพัฒนาเด็ก แต่โลกความเป็นจริงพบว่ามีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะด้านความน่าสนใจ และตอบโจทย์การเรียนรู้ของเยาวชน ทั้งนี้ยอมรับปัจจุบันมีรายการเนื้อหาที่ดีทางโทรทัศน์และวิทยุ แต่ได้รับความสนใจจากเยาวชนน้อย เมื่อเทียบกับสื่อในโซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์ ดังนั้นสิ่งที่แก้ไขได้ คือรัฐต้องปรับบทบาทจากการควบคุม แทรกแซงหรือปิดกั้น ไปเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีความเสรีด้านผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ
 

 

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

“ควรปรับกติกาและรายละเอียดให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์โดยเฉพาะกรรมการกองทุนที่มีสัดส่วนภาครัฐเป็นส่วนใหญ่”  

"พริษฐ์ วัชรสินธุ"

 

          สำหรับนโยบายที่อาจผลักดันได้ คือ การปรับกติกาและรายละเอียด ว่าด้วย กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกรรมการกองทุนที่มีสัดส่วนภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นควรปรับให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม นอกจากนั้นควรกำหนดมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตอบโจทย์และตรงเป้าหมายเพื่อสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ขณะที่การคุ้มครองเด็กและเยาวชนฐานะคนดู ควรสร้างมาตรฐานกับการจัดเรตติ้ง ขณะที่เยาวชนฐานะผู้ร่วมผลิตสื่อต้องให้ความคุ้มครอง เช่น ให้นักจิตวิทยาเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการแสดงบทบาทหรือแสดงอารมณ์ในบทบาทการแสดง เพราะที่ผ่านมาพบว่าเมื่อต้องการให้เด็กร้องไห้ ต้องใช้การหลอกเพื่อให้รู้สึกเศร้าและร้องไห้ตามบทบาทการแสดง เป็นต้น
 

          ต้อย-ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย
          ยอมรับว่าปัจจุบันสังคมไทยล้มเหลว เรื่องสื่อสร้างสรรค์และสื่อที่ดี เพราะมีจุดเริ่มจากการทำนโยบายที่ผิดพลาดของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม” หรือ กสทช. ที่เน้นการแข่งขัน การประมูลคลื่นความถี่ราคาสูง มากกว่าการสร้างพื้นที่สื่อที่สร้างสรรค์ เพราะบทสรุปที่ได้จากนโยบายที่ผิดพลาด คือสื่อไม่สามารถอยู่ได้และล้มหายตายจาก นอกจากนั้นในการสร้างพื้นที่สื่อเพื่อสังคมได้จริง พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอให้ “รัฐ” เข้ามากำกับเพื่อลดการผูกขาดกลุ่มผู้สนับสนุน-ซื้อโฆษณาบนพื้นที่สื่อ
 

          ขณะที่ปัญหาของการผลิตสื่อเพื่อเยาวชน ส่วนตัวมองว่ามาจากจิตสำนึกของ สื่อ ผู้ผลิตสื่อ และผู้สนับสนุนสื่อ ที่คำนึงเฉพาะกำไรและผลประโยชน์มากกว่า การผลิตรายการเพื่อพัฒนาเด็ก เพราะยอมรับว่ารายการเพื่อเด็กนั้นอาจสร้างรายได้ให้สื่อได้น้อย ทั้งนี้จะเปลี่ยนจิตสำนึกเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องยาก เพราะไม้แก่ดัดยาก

 

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

"ในการสร้างพื้นที่สื่อเพื่อสังคมได้จริง พรรคเพื่อไทย มีข้อเสนอให้รัฐเข้ามากำกับ เพื่อลดการผูกขาดกลุ่มผู้สนับสนุน-ซื้อโฆษณาบนพื้นที่สื่อ  

"ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์"

 


          ดังนั้นสิ่งที่เป็นตัวช่วยได้คือใช้มาตรการทางกฎหมายและบังคับใช้อย่างเข้มงวด หากพบการฝ่าฝืนต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ขณะที่สื่อรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังใหม่ ควรเน้นสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมด้านการผลิต เพื่อประโยชน์ของเด็ก และที่สำคัญคือ การส่งเสริมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้สิทธิของประชาชนได้รับการเคารพ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน
 

 

          มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ
          การแก้ปัญหาของ “สื่อ” สำหรับเด็ก ต้องใช้การแก้ไขแบบองค์รวมตั้งแต่ภาครัฐ หน่วยงานรัฐ รวมถึงเอกชน โดยจุดเริ่มต้นคือการสร้างจุดร่วมที่จะสร้างสื่อที่มีความน่าสนใจสำหรับเด็ก รัฐบาลเป็นแกนนำจัดตั้งกองทุน รวบรวมเครือข่ายทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มสื่อของภาคเอกชน ที่ได้รับงบประมาณเพื่อผลิตสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก แทนการนำงบประมาณเพื่อใช้สำหรับโครงการซีเอสอาร์ด้านสังคมเท่านั้น
 

 

 

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

“หากมีกองทุนที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนและมีนโยบายชัดเจนเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการปลูกจิตสำนึกของผู้ผลิตสื่อที่มีจริยธรรมและมีคุณธรรมได้”  

"วทันยา วงษ์โอภาสี"

 

 

          “ยอมรับว่าระบบทุนนิยม วังวนเรตติ้ง ทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ ไม่สามารถปลีกตัวไปทำรายการที่ไม่สร้างกำไรได้ อย่างไรก็ดีหากมีกองทุนที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนและมีนโยบายชัดเจน เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ ต่อการปลูกจิตสำนึกของผู้ผลิตสื่อที่มีจริยธรรมและมีคุณธรรมได้ นอกจากนั้นสื่อสำหรับเยาวชนที่นอกเหนือจากสื่อกระแสหลัก ควรสนับสนุนสื่อนิทรรศการที่เป็นคลังความรู้ให้แก่เด็ก ปัจจุบันพบว่าหอจัดนิทรรศการต้องปิดตัวลง ดังนั้นภาครัฐต้องผลักดันด้านกฎหมาย หรือกติกา ที่สนับสนุนหอจัดนิทรรศการด้วย ส่วนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ควรให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชน”
 

 

 

          ดร.โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย
          ภาพรวมของปัญหาสื่อสำหรับเด็ก คือภาครัฐมีอำนาจมากเกินไป ดังนั้นต้องลดอำนาจรัฐต่อการกำกับหรือผลิต และเพิ่มอำนาจประชาชนให้ประชาชนมีบทบาทเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของอนาคต
 

          “ที่ผ่านมารัฐเข้ามากำกับมากเกินไป การผลิตรายการเด็ก คือให้เด็กมีเวทีแสดง ให้เด็กมาโชว์ แต่ผมว่าต้องเปลี่ยนแปลง เพราะจากแนวคิดของประเทศญี่ปุ่นใช้การ์ตูนสอนเด็ก แต่ในประเทศไทยผู้ปกครองมองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ผู้ปกครองกลับดูละครหลังข่าว ดังนั้นหากจะทำสื่อสอนเด็กอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำสื่อสอนผู้ปกครองด้วย เพราะจากประสบการณ์พบว่าเด็กต้องการดูละครหลังข่าวที่จัดเรตติ้งว่าต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง แต่ปัจจุบันเด็กไม่ต้องการคำแนะนำเนื่องจากดูรายการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นผู้ปกครองต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากการกำกับ เป็นการส่งเสริม”

 

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

"เด็กดูละครหลังข่าวที่จัดเรตติ้งว่าต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง แต่ปัจจุบันเด็กไม่ต้องการคำแนะนำ เนื่องจากดูผ่านโทรศัพท์มือถือ ผู้ปกครองต้องรู้เท่าทัน เปลี่ยนจากการกำกับ เป็นส่งเสริม”  

"สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ"


 

          สำหรับ พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายที่เกี่ยวกับแชริ่ง ยูนิเวอร์ซิตี้ เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทย ที่เน้นการเรียนในห้องเรียน และเรียนตามหลักสูตรที่สถาบันการศึกษาจัดให้ โดยนโยบายดังกล่าวปรับให้เข้ายุคสมัยใหม่ ให้ประชาชนมีทางเลือกเรียนตามความสนใจและเรียนได้ทุกที่
 

 

          แซน-ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ
          หากโจทย์เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน คือให้เป็นประชากรโลกที่มีทักษะรู้ทัน เท่าเทียมเพราะในศตวรรษที่ 21 ประชากรต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี มีภูมิต้านทาน รวมถึงมีทักษะ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ว่าสื่อไหนดีหรือไม่ดีได้ด้วยด้วยตนเอง ดังนั้นการพัฒนาเด็กผ่านสื่อควรปรับสื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กตามช่วงวัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัยช่วงอายุ 0-3 ขวบ และ 3-8 ขวบ
 

          “สิ่งที่ต้องเน้นในด้านพัฒนาสื่อ ต้องเน้นการพัฒนาผู้ปกครองเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ สิ่งที่อยากเห็น คือกระทรวงศึกษาธิการต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อดูแลเด็กปฐมวัย จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด รวมถึงใช้การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในทศวรรษที่ 21 หรือโลกดิจิทัล ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความเสี่ยง”

 

 

เปิดวิสัยทัศน์-นโยบาย "6พรรคการเมือง" เพื่อ "เยาวชน"

"ต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในทศวรรษที่ 21 หรือโลกดิจิทัล ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความเสี่ยง”  

"ชยิกา วงศ์นภาจันทร์"

 


          สำหรับข้อเสนอจากตัวแทน “ไทยรักษาชาติ” คืองดใช้แท็บเล็ตในเด็กอนุบาล ขณะที่เด็กวัย 8-12 ปี ต้องให้เตรียมความพร้อมเป็นพลเมืองดิจิทัลของโลก โดยใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขณะที่ “รัฐ” ต้องส่งเสริมและพัฒนารายการสำหรับเด็กในสถานีโทรทัศน์และวิทยุรวมถึงอุดหนุนด้านงบประมาณ เพื่อไม่ให้รายการสำหรับเด็กถูกผูกติดเฉพาะเรตติ้งเท่านั้น และที่สำคัญ “รัฐ” ไม่ควรปิดกั้น หรือใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุม เพราะเชื่อว่าจะเป็นอุปสรรคในด้านการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
 

          อย่างไรก็ดีในเวทีเปิดวิสัยทัศน์ของ “ฝ่ายการเมือง” ยังมีเสียงสะท้อนจากสมาคมวิทยุและสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ที่ส่งผ่านตัวแทน 6 พรรคการเมือง เพื่อการสร้างสรรค์สื่อที่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย โดยไฮไลท์สำคัญของข้อเรียกร้องคือ รัฐ องค์กรด้านสื่อ ผู้ประกอบการสื่อและผู้ผลิตสื่อ ให้ความสำคัญต่อการสร้างสื่อเพื่อเยาวชนที่หลากหลายและมีคุณภาพ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์


         

 


         


         


         


         
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ