คอลัมนิสต์

ระวังคดี 98 ศพ ปลุกกระแสเกลียดชัง เล็งผลการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระวังคดี 98 ศพ ปลุกกระแสเกลียดชัง เล็งผลการเมือง : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...   ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย


 

          ยังคงมีแรงกระเพื่อมเป็นระยะจากความขัดแย้งทางการเมืองในยุคแบ่งแยกสีเสื้อ แม้จะนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้แล้วก็ตาม แต่หนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบมาถล่มใส่ช่วงปลายรัฐบาล คสช. คือ “คดีการเสียชีวิตของประชาชนและทหารรวม 98 ศพ จากเหตุการณ์การชุมนุมในปี 53” ซึ่งคดีส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในหลายกรรมหลายวาระ

 

 

          เมื่อเผือกร้อนลูกเก่าจากกลุ่มคนหน้าเดิมถูกโยนใส่เข้าอีกครั้ง จึงเป็นหน้าที่ของ “อัยการ” และ “ดีเอสไอ” ในฐานะด่านหน้า ที่จะต้องออกมาสร้างความเข้าใจต่อสังคม ก่อนที่รัฐบาลทหารจะเสียรังวัดต่อเนื่อง ต้องไม่ลืมว่า คดีนี้หากกระแสปลุกขึ้นเช่นเดียวกับความพยายามรื้อฟื้นหมู่บ้านเสื้อแดง หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะดีเอสไอก็คงยากสร้างความเข้าใจทั้งกับคนที่ยังฝังใจกับกีฬาเสื้อสี ขณะเดียวกันก็อาจถูกบีบจากรัฐบาลจนหน้าเขียวได้


          แม้ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอได้ออกมาชี้แจงผลการสอบสวนคดีการชุมนุมก่อความไม่สงบของกลุ่มคนเสื้อแดงแล้วว่า คณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ กคพ. ได้มีมติให้รับไว้สอบสวนตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2553 โดยให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงความผิดที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน เป็นคดีพิเศษ


          ในยุคที่ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” เป็นอธิบดีดีเอสไอ ได้รับสอบสวนคดีอาญา ทั้งสิ้น 371 คดี แบ่งเป็น 4 กลุ่มคดี ประกอบด้วย คดีเกี่ยวกับการก่อการร้าย จำนวน 155 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว, คดีเกี่ยวกับการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ จำนวน 25 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว, คดีเกี่ยวกับการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 169 คดี สอบสวนเสร็จ 154 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 15 คดี และคดีเกี่ยวกับการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ จำนวน 21 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว




          กล่าวคือ คดีอาญามากกว่า 300 สำนวนอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลและอัยการ คงค้างอยู่กับดีเอสไอ 15 สำนวน ซึ่งเป็นคดีในกลุ่มที่ 3 เกี่ยวพันกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชน หรือคดีที่ต้องมีการไต่สวนสาเหตุการตาย 98 ศพ ซึ่งยังเป็นคำถามคาใจเพราะไม่สามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุทั้งจากฝ่ายชายชุดดำและเจ้าหน้าที่ทหาร


          โดยคดีที่ดีเอสไอยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ในความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น จากการสั่งการให้สลายการชุมนุมฯ ซึ่งเป็นเจตนาเล็งเห็นผล ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องไปเมื่อปี 2560 เนื่องจากฐานความผิดที่ยื่นฟ้องเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนส่งผลให้อัยการต้องคืนสำนวนให้ดีเอสไอ เพื่อส่งต่อไปให้ ป.ป.ช.รับไปดำเนินการ

 

          ต่อมา ป.ป.ช.มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล อีกทั้งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก็มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ มีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล

 

          แต่สำหรับตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ หากในภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จะเป็น “ความรับผิดเฉพาะตัว” ดีเอสไอจึงมีหน้าที่ต้องสอบสวนให้ได้ตัวผู้ก่อเหตุ


          กระทั่งประมาณเดือนกรกฎาคม 2561 สำนวนคดีถูกส่งมาให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติม ในประเด็นผู้ลงมือกระทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ โดยให้ดีเอสไอแยกสำนวนการสอบสวนตามจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 15 คดี แบ่งตามสถานที่เกิดเหตุ 4 จุดใหญ่ ประกอบด้วย ราชปรารภ ราชประสงค์ ดินสอ และพระราม 4


          เนื่องจากอัยการเห็นว่า แม้ผู้ตายและผู้บาดเจ็บจะอยู่ในที่เกิดเหตุหรือเหตุการณ์เดียวกัน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า การบาดเจ็บ-ล้มตาย เกิดจากการลั่นไกยิงของมือปืนคนเดียวกันทั้งหมด ในบางสำนวนที่เกิดเหตุชุลมุนไม่สามารถยืนยันได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทิศทางใด ดีเอสไอและอัยการก็เห็นตรงกันให้ยุติการสอบสวนไว้จนกว่าจะพบพยานหลักฐานใหม่


          ส่วนคดีที่เกิดขึ้นบริเวณวัดปทุมวนาราม ยังจบไม่ลง เพราะที่ผ่านมาผลการสอบสวนบ่งชี้ไปในทิศทางว่า วิถีกระสุนถูกยิงออกมาจากฝั่งทหารที่ประจำจุดอยู่บนทางเดินสกายวอล์ก และบริเวณดังกล่าวมีทหารประจำจุดอยู่เพียงหลักสิบนาย จึงน่าจะพอมีความเป็นไปได้ในการสอบสวนให้ได้ตัวผู้ก่อเหตุ


          แต่...จนถึงขณะนี้ยังมองไม่ออกว่า ผลการสอบสวนจะเป็นลักษณะใด อาจเป็นการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งฝ่ายผู้ปฏิบัติสามารถอ้างเหตุใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวตามอำนาจหน้าที่และได้รับความคุ้มครองจากการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าผลออกมุมนี้สำนวนคดีต้องปรากฏหลักฐานถึงการใช้อาวุธสงครามยิงต่อสู้ หรือผลการสอบสวนจะปรากฏข้อมูลว่า บนสกายวอล์กไม่ได้มีเพียงทหารเท่านั้น แต่อาจมีชายชุดดำติดอาวุธแฝงตัวขึ้นไปด้วยหรือไม่ รวมถึงวิถีกระสุนซึ่งอาจจะมาจากทิศทางหรือตำแหน่งอื่นใดได้อีกหรือไม่

 

          ไม่ว่าผลคดี 6 ศพวัดปทุมวนารามจะออกมาอย่างไร จึงคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม และไม่ควรลืมว่ายังมีคดียิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มทหารบนถนนดินสอ จน พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต คดียิงเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมสีลมที่รวมตัวขับไล่ม็อบเสื้อแดง รวมถึงคดีม็อบกปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง โดยที่แกนนำม็อบโดนข้อหากบฏ หนักหนาสาหัสไม่ต่างจากแกนนำ นปช.


          คดีอาญาทุกเรื่องควรจบด้วยกฎหมาย ว่ากันไปตามพยานหลักฐานบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ในฐานะพลเมืองก็ควรติดตามเพื่อสร้างชุดความรู้เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นองเลือดเกิดซ้ำ และต้องพึงระวังไม่ให้ความเกลียดชังถูกปลุกขึ้นมาเพื่อนำไปใช้สร้างประโยชน์กับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ