คอลัมนิสต์

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากไม่มีเลื่อนการเลือกตั้งอีกแล้ว จะเหลืออีก 94 วันถึงวันเลือกตั้งคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562

 

                ช่วงเวลานับจากนี้ไปจะได้เห็นลีลากระบวนยุทธ์ของแต่ละฝ่ายที่จะถูกนำมาใช้เพื่อให้ฝ่ายตัวเองไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

                สำรวจกระดานการเมืองขณะนี้ ภาพใหญ่ยังคงเป็นการต่อสู้กันของ 2 ขั้วเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะเปลี่ยนไปจากเดิมคือ “ฝ่ายทักษิณ” และ ฝ่ายไม่เอาทักษิณ ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหอก วันนี้ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายคสช. และไม่เอา คสช. ซึ่งแน่นอนฝ่ายไม่เอา คสช.ก็มีฝ่ายทักษิณเป็นหลัก

                ถึงแม้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังไม่เปิดหน้าออกมาชัดๆ โดยล่าสุดบอกว่ายังไม่มีพรรคใดมาเชิญให้ไปอยู่ในบัญชีนายกฯ และยังมีเวลาเหลืออยู่ แต่การที่ “ผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา โดยมีรัฐมนตรีใน “ครม.บิ๊กตู่” มาเป็นหัวหน้าและเลขาธิการพรรค และมีการพูดกันนับครั้งไม่ถ้วนว่าพรรคนี้จะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง บวกกับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านๆ มา ก็ชัดเจน

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ...รับเสนอชื่อเป็น "นายกฯ" หรือไม่ ยังมีเวลา)

 

                ฝ่ายทักษิณ เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” และพยายามสร้างวาทกรรมว่านี่คือการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายพยายามบอกว่านี่คือการต่อสู้กันในระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง

                การต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะต่างไปจากเดิม โดยนอกจากจะเป็นการแข่งขันภายใต้กติกาใหม่ คือ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่มีส.ส.2 ระบบ” ที่จะมีขึ้นในประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกแล้ว การฟอร์มรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ต่างไปจากเคยด้วย คือจะเป็นครั้งแรกที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย ดังนั้นการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะไม่ได้อยู่ที่เสียง ส.ส.500 เสียงเท่านั้น แต่จะมี ส.ว.อีก 250 คนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

                พรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงในสภาได้เกินครึ่งคือ 251 เสียง อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะเสียงเลือกนายกฯ ครั้งนี้ต้องใช้มากถึง 376 เสียง

                ย้อนกลับไปดูที่มา ส.ว.250 เสียงกันอีกครั้ง

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ...เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ "บิ๊กตู่")

 

                ส.ว.ชุดนี้ถูก “ดีไซน์” มาเป็นพิเศษ คือจากปกติที่ส.ว.จะมี 200 คน แต่มีการกำหนดให้ส.ว.ชุดแรกมี 250 คน เป็นครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด และเปลี่ยนที่มา ส.ว.จากเลือกกันเองจากแต่ละกลุ่มอาชีพ มาเป็นคสช.เป็นคนเลือก

                แม้จะมี 50 คน ที่มาจากกระบวนการคัดเลือกกันเองด้วย แต่ในขั้นตอนสุดท้าย คสช.จะเป็นผู้เลือก

                ที่มาชัดเจนขนาดนี้คงไม่ต้องถามว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ หรืออาจจะทั้งหมดจะเลือก “ฝ่ายไหน” มาเป็นนายกฯ

                ถ้ามองให้ละเอียดลงไปอีก จะพบว่าในการต่อสู้ของ 2 ขั้วการเมือง แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “3 ก๊ก”

  

                **ก๊กที่ 1 : ฝ่าย คสช. 

                พรรคหลักคือ “พรรค ส.ว.” 250 คน รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และพรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน”

                สำหรับพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของ “พลังดูด” ดูดทั้งอดีต ส.ส.ของพรรคต่างๆ ที่สำคัญคืออดีต ส.ส.ของขั้วตรงข้าม อดีตผู้สมัคร ส.ส. และบรรดานักการเมืองท้องถิ่น ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการต่อรองในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการต่อรองผลประโยชน์และการใช้อำนาจในมือ “บีบ” ให้ต้องยอมจำนน

                พรรคพลังประชารัฐมี “กลุ่มสามมิตร” ของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นหัวเรือใหญ่ในการไปรวบรวมอดีตส.ส.เข้ามา โดยนายสุริยะ เคยบอกชัดๆ ว่าที่เขามาช่วยพรรคนี้เพราะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจของครม.บิ๊กตู่ ขอให้มาช่วย ดังนั้นแม้สมคิดจะพยายามตีตัวออกห่างพรรคนี้อย่างไรคนที่ติดตามการเมืองมาตลอดก็จะรู้ดี

                จากธีมสีในการเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐจึงขอเรียกฝ่ายนี้ได้ว่า “มุมน้ำเงิน”

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ..."สามมิตร" ผนึก "พปชร." สู้ศึกเลือกตั้ง)

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ...สแกน พปชร."100 อดีต ส.ส."ดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์เพียบ!)

 

                ตัวเลขเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐ คือเป็นพรรคอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย นั่นหมายถึงจะต้องชิงกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอนนี้ก็มีเป้าหมายไม่ให้เป็นพรรคต่ำร้อย

                ตัวเลขที่มีการประกาศออกมาคือ 150 แต่ตัวเลขที่คนในพรรคประเมินจะอยู่ที่ประมาณ 100 แต่ถ้าถามนักวิเคราะห์ บอกพรรคนี้น่าจะได้น้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ตัวเลขจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80 ที่นั่ง โดยคาดว่าจะเป็น ส.ส.เขตไม่น้อยกว่าครึ่ง

                ตัวเลขสุดท้ายของพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไรต้องรอดูกระแสอีกครั้งหลังเปิดตัว “บิ๊กตู่” อย่างเป็นทางการ หากกระแสบิ๊กตู่แรงพอ ตัวเลข ส.ส.ของพรรคอาจจะเพิ่มขึ้น

                สำหรับพรรคสุเทพ ดูจากกระแสที่ผ่านมานับตั้งแต่สุเทพประกาศตั้งพรรค ต้องบอกว่ากระแสโดยรวมติดลบ ต่ำกว่าคาด แม้ “ลุงกำนัน” จะลงทุนเดินคารวะประชาชนไปทั่วแผ่นดิน แต่เสียงสนับสนุนยังไม่สามารถกลบเสียงคัดค้านได้

                จากเดิมที่พรรคนี้หวังจะได้ส.ส.30-50 ที่นั่ง เวลานี้นักวิเคราะห์มองว่าได้สัก 10 ที่นั่งก็เก่งแล้ว โดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นการสะสมคะแนนจากทั่วประเทศมาเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

                ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 52 ล้านคน หากคิดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เท่ากับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 คือ 75 เปอร์เซ็นต์ ลบจำนวนบัตรเสียและบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน เมื่อนำมาหารด้วยจำนวนส.ส.500 คน คะแนนต่อส.ส.1 คน จะอยู่ที่ประมาณ 75,000 คะแนน

                หากพรรคสุเทพจะได้ส.ส.ถึง 10 คน จะต้องได้คะแนนรวมทั่วประเทศอย่างน้อยประมาณ 7 แสนห้าหมื่นคะแนน

                ส่วนพรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” นั้น เจ้าตัวเชื่อว่าจะเก็บสะสมคะแนนทั่วประเทศได้ไม่น้อย เพราะอาจมีบางคนที่อยากสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่อยากเลือกพรรคพลังประชารัฐที่มีภาพ “การเมืองแบบเก่า” และไม่อยากเลือกพรรคสุเทพ พรรคประชาชนปฏิรูปก็อาจจะเป็นคำตอบให้คนกลุ่มนี้ แต่ในมุมนักวิเคราะห์มองว่าพรรคนี้มีโอกาสที่จะไม่ได้ส.ส. สักคน

                รวมเบ็ดเสร็จตัวเลข ส.ส.ที่กลุ่มนี้คาดว่าจะได้จะอยู่ที่ประมาณ 91 เสียง บวกกับส.ว.อีก 250 เป็น 341 เสียง (ดูกราฟฟิกประกอบ) ยังไม่พอสำหรับการโหวตเลือกนายกฯ

  

                **ก๊กที่ 2 ฝ่ายไม่เอา คสช.

                หลักๆ คือพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมที่เกิดจากการแตกออกมาเป็นพรรคย่อย ขอเรียกว่า "ฝ่ายแดง"

                ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะเน้นการส่งส.ส.เขตเป็นหลัก จะส่งเฉพาะเขตที่มั่นใจว่าจะชนะ เพื่อไม่ให้ “คะแนนตกน้ำ” เพราะจากสถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ชนะการเลือกตั้งเขตจะได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 หมื่น หากหว่านส่งผู้สมัครทั้ง 350 เขต กว่าจะนำคะแนนไปคำนวณเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ ก็ต้องเอาไปเติมส่วนที่ส.ส.เขตขาดไปให้ครบก่อน เท่ากับเอาคะแนนไปทิ้งน้ำเปล่าๆ

                โดยจะดันผู้สมัครในเขตที่น่าจะไม่ชนะเลือกตั้งไปลง “พรรคไทยรักษาชาติ” เพราะถ้าหากไม่ชนะเลือกตั้งก็สามารถรวมคะแนนมาคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้เต็มที่

                ทฤษฎีนี้หมายถึงเพื่อไทยจะไม่หวังส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากการที่อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในระดับแกนนำของพรรคอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง” รวมทั้งแกนนำเสื้อแดงต้องย้ายไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ...ยกบ้าน-ยกก๊วนซบ"ไทยรักษาชาติ"ป้องกันสืบทอดอำนาจ)

 

                แต่นี่ก็คือแนวคิด เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงจะง่ายแบบนี้หรือไม่ ยังต้องรอดู

                ความยากอีกอย่างของพรรคเพื่อไทย คือยังมีทั้งพรรคเพื่อชาติของ “จตุพร พรหมพันธุ์” พรรคเสรีรวมไทยของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” และพรรคอนาคตใหม่ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มาแย่งคะแนน ถึงแม้ว่าปลายทางทั้งสามพรรคข้างต้นจะมีจุดยืนอยู่คนละฝั่งกับคสช. เหมือนกัน

                อีกพรรคของ “ฝ่ายแดง” คือพรรคประชาชาติของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่มีฐานเสียงสำคัญอยู่ที่ชายแดนภาคใต้ การที่ “วันนอร์” มี “ทวี สอดส่อง” อดีตอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค น่าจะช่วยดึงคะแนนได้พอสมควร

                ตัวเลขส.ส.ของฝ่ายแดงที่มีการตั้งเป้าไว้ยึดตามที่ “จาตุรนต์” บอกล่าสุดคือ 251 ที่นั่ง เกินครึ่งของส.ส.ในสภา

                ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยมีส.ส.เขต 204 ที่นั่ง ครั้งนี้ถูกดูดอดีตส.ส.บางส่วนไป อดีตส.ส.บางคนย้ายไปพรรคไทยรักษาชาติและพรรคแนวร่วม บวกกับจำนวนเขตเลือกตั้งที่ลดลงจาก 375 เหลือ 350 เขต โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.เท่าเดิมน่าจะเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นสถานการณ์การเมืองพลิกผันและพรรคเพื่อไทยชนะมาถล่มทลาย

                ตัวเลขเบื้องต้นที่วิเคราะห์กันว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ครั้งนี้คือ 160 ที่นั่ง เป็นพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ คาดว่าจะได้ส.ส.รวมกันประมาณ 40 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

                ส่วนพรรคแนวร่วมอื่น พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย น่าจะได้ ส.ส.ไล่เรี่ยกันคือประมาณ 10 ที่นั่ง เท่าๆ กับพรรคสุเทพ

                สำหรับพรรคอนาคตใหม่ของธนาธร ซึ่งประกาศชัดเจนว่าไม่เอา คสช. คะแนนที่ได้น่าจะดึงมาจากทั้งคนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย คนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่พรรคนี้พยายามสร้างกระแสหาเสียง มีการวิเคราะห์ตัวเลข ส.ส.ขั้นต้นที่พรรคน่าจะได้อยู่ที่ประมาณ 20 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 

                แต่เนื่องจากพรรคนี้มากับกระแส ดังนั้นจึงต้องดูกระแสช่วงใกล้เลือกตั้งอีกครั้งรวมถึงจำนวน “นิวโหวตเตอร์” คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกประมาณ 7 ล้านคน ที่ “ธนาธร” หวังไว้ ว่าจะออกมามากน้อยแค่ไหน

                รวมแล้วตัวเลขเบื้องต้นของฝ่ายนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 250 เสียง อาจจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการเลือกนายกฯ ที่ต้องใช้ถึง 376 เสียง

  

                **ก๊กที่ 3 : พรรคตัวแปร

                กลุ่มนี้เองที่ทั้งสองก๊กแรกต้องการได้ไปเป็นพวก ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา

                สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถึงแม้ว่าวันนี้มักจะแสดงจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายคสช. แต่ถึงนาทีสุดท้าย นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าโอกาสที่พรรคนี้จะยกมือสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” มีมากกว่าการไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย

                การเลือกตั้งปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.เขต 115 คน 

                การเกิดขึ้นของพรรคสุเทพ และพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กระทบพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง

                จากจำนวนส.ส.ภาคใต้ที่ครั้งที่แล้วได้มา 50 จากทั้งหมด 53 ที่นั่ง รอบนี้จะลดลงไปแน่นอน ทั้งจากอดีตส.ส.ที่ย้ายไปอยู่กับสุเทพ และการตั้งพรรคของวันนอร์ การลุยพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงครั้งนี้ ส.ส.ภาคใต้ลดลงจาก 53 เหลือ 50 ที่นั่ง

                ฐานที่มั่นเดิมอีก 2 แห่งของประชาธิปัตย์คือ ภาคกลาง และกทม. วันนี้ก็ถูกกระเทือน

                เป้าหมาย 100 ที่นั่ง เพื่อลบคำสบประมาท “พรรคต่ำร้อย” คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องกัดฟันทำให้ได้

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ...อนาคต ปชป. : "นิวอภิสิทธิ์" หรือ เหล้าเก่าในขวดเก่า ??)

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ..."ถาวร" เปิดบ้านรับ "สุเทพ" ปฏิบัติการบีบ "อภิสิทธิ์)

 

                สำหรับพรรคภูมิใจไทย ครั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่าน่าจะเป็น “ยุคเฟื่องฟู”

                ครั้งที่แล้วพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.34 คน จากส.ส.เขต 29 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 15 คน ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยได้อดีตส.ส.มาไม่น้อย หลักๆ คือที่ออกมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ทั้ง “ชาดา ไทยเศรษฐ์” จากอุทัยธานี “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” จากศรีสะเกษ อดีตว่าที่เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนาที่ย้ายออกมาหลัง “รุ่นใหญ่” กลับมายึดพรรค และตระกูลปริศนานันทกุล จากอ่างทอง

                และหากย้อนกลับไปดูคะแนนการเลือกตั้งปี 2554 จะพบว่าในภาคอีสาน ผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทยมาเป็นอันดับสองจำนวนมาก 

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

(อ่านต่อ..."ภูมิใจไทย" เนื้อหอม...)

 

                พรรคชาติไทยพัฒนา เสียอดีตส.ส.ส่วนหนึ่งให้พรรคภูมิใจไทย และตระกูล “ประเสริฐสุวรรณ” ตระกูลเก่าแก่ที่สุพรรณย้ายออกไปพรรคเพื่อไทยเพราะปัญหาขัดแย้งเรื่องพื้นที่ แต่ก็ได้อดีตส.ส.ส่วนอื่นมาเติม เช่นตระกูลสะสมทรัพย์ จำนวนส.ส.ของพรรคนี้จึงน่าจะเท่าๆ กับ ส.ส.เขตครั้งที่แล้ว คือ 15 ที่นั่ง

                สุดท้ายพรรคชาติพัฒนาที่ยังคงมีฐานที่มั่นอยู่ที่ “โคราช” ครั้งนี้น่าจะเป็นการรักษาจำนวนที่นั่งเดิมที่เคยมี ส.ส.เขต 5 คน

                รวมตัวเลขพรรคตัวแปรจะอยู่ที่ประมาณ 159 เสียง

 

"สูตรรัฐบาล" การเมือง 2 ขั้ว 3 ก๊ก

 

              **สูตรรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

                จากตัวเลขประมาณการของพรรคในก๊กต่างๆ หากนำมาคิดเป็นสูตรรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะได้เป็น 3 สูตร

                สูตรแรก ฝ่ายน้ำเงินบวกกลุ่มตัวแปรทั้งหมด สูตรนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งแน่นอน แต่ปัญหาคืออาจต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งตัวเลข ส.ส.เบื้องต้นของ 2 กลุ่มนี้รวมกัน จะอยู่ที่ประมาณ 250 ที่นั่ง

                สูตรสอง พรรคฝ่ายแดงรวมกับพรรคกลุ่มตัวแปรทั้งหมด จากตัวเลขเบื้องต้นสูตรนี้จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงมากถึง 409 เสียง คนที่อยู่ในข่ายจะเป็นนายกฯ ตามสูตรนี้ คือ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่คาดว่าจะไปเป็นเบอร์หนึ่งของบัญชีนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติ “อนุทิน ชาญวีกุล” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

                แต่ถ้าถามความเป็นไปได้ของสูตรนี้ก็ต้องบอกว่ามีน้อยมาก ประชาธิปัตย์ตั้งเงื่อนไขจะยอมไปจับมือกับเพื่อไทยก็ต่อเมื่อยอมให้คนของประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ

               ถ้ามีสูตรนี้จริง “อนุทิน” อาจจะเป็น “ตาอยู่”

                สูตรสาม ฝ่ายแดงรวมกับพรรคตัวแปรยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ สูตรนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมได้เสียงมาถล่มทลาย คือต้องได้มากกว่า 300 เสียงตามที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เคยพูดไว้ เพื่อไปรวมกับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา แล้วได้เสียงเกิน 375

                คนที่มีโอกาสเป็นนายกฯ ได้ตามสูตรนี้มี สุดารัตน์ จาตุรนต์ และอนุทิน 

                แม้ความเป็นไปได้ที่อนุทินจะได้เป็นนายกฯ ตามสูตรนี้จะมีน้อยแต่เนื่องจากการตัดสินใจของอนุทินซึ่งมีข่าวว่าจะแพ็กแน่นกับพรรคชาติไทยพัฒนาจะอยู่บนความเป็นความตายของพรรคเพื่อไทยและแนวร่วม ฝ่ายแดงก็อาจต้องยอม

                นี่เป็นแค่การวิเคราะห์จำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคจากสถานการณ์ปัจจุบัน และสูตรรัฐบาลจากตัวเลขส.ส.เท่านั้น ถึงเวลาจริงการเจรจาต่อรองตั้งรัฐบาลยังมีอีกหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ “ผลประโยชน์ลงตัว” !!

====================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ