คอลัมนิสต์

"ธนาธร" ตามรอยทักษิณ..รุ่งหรือร่วง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธนาธร" ตามรอยทักษิณ..รุ่งหรือร่วง? : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง 

 

          ปรากฏการณ์ “ธนาธร” ที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่กลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบทุนสามานย์ ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย

          จะว่าไปแล้ว “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กับพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่ต่างจาก “ทักษิณ ชินวัตร” กับพรรคไทยรักไทย เมื่อ 17 ปีที่แล้ว

          ยุคสมัยแห่งโซเชียลมีเดีย อาวุธใหม่อย่างเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ทำให้ทายาทไทยซัมมิท มีกระแสตอบรับเร็ว ไม่ใช้เวลาถึง 2 ปี 5 เดือน เหมือน “ทักษิณ” สร้างแบรนด์ “ไทยรักไทย”

          ยกตัวอย่างพรรคไทยรักไทย ติดตั้งป้ายฟิวเจอร์บอร์ดหลายหมื่นแผ่นกลางหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนการเลือกตั้งปีเศษ ชาวบ้านจึงได้ซึมซับนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” “กองทุนหมู่บ้าน” และ “30 บาทรักษาทุกโรค” 

          พรรคอนาคตใหม่ เกิดขึ้นในยุค คสช. มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ทีมงานคนรุ่นใหม่ ได้ใช้โซเชียลมีเดียยิงตรงถึงคนทุกกลุ่ม ทั้งในเมืองและชนบท 

          ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ อาจระมัดระวังในการขับเคลื่อนนโยบายหาเสียง แต่ธนาธรออกเดินสายไปทั่วประเทศ พบกับผู้คนทุกหมู่เหล่า เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ก่อนจะประกาศนโยบายของพรรคในเดือนตุลาคมนี้

          จริงๆ แล้ว แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก๊อบปี้วิธีการสร้าง “พรรคปีกซ้าย” ในยุโรป ที่มีกลยุทธ์การจัดการแบบใหม่ เน้นใช้ศักยภาพของโซเชียลเน็ตเวิร์กในทุกระดับ ทั้งกระบวนการจัดการภายใน การทำนโยบาย การรณรงค์หาเสียง และการระดมทุน

          ต่างจากทักษิณที่ใช้ทุนและเวลาสร้างแบรนด์ไทยรักไทย ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ เกษตร การศึกษา สาธารณสุข ยาเสพติด การต่างประเทศ ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งนักคิด นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมให้ความเห็น

          ก่อนจะมีการจัดประชุมใหญ่ตัวแทนสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศ เพื่อประกาศ 11 วาระแห่งชาติ ที่ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

          สิ่งที่เหมือนกันของธนาธรกับทักษิณ คือการบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ในการวางแผนเลือกตั้ง และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีเข้ามาทำงานการเมือง มีทั้งนักวิชาการ แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ และผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน

          เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทักษิณนำทัพไทยรักไทย สู้กับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ ซึ่งเป็นพรรคที่ยังยึดโยงอยู่กับวิธีคิดแบบ “นักเลือกตั้ง” จึงเอาชนะได้ไม่ยาก 

          ในความสำเร็จของทักษิณ ก็มีความล้มเหลวซุกซ่อนอยู่ นัั่นคือ “วัฒนธรรมการเมืองอุปถัมภ์” โดยองค์ประกอบของ ส.ส.ไทยรักไทยยุคแรก มี ส.ส.หน้าใหม่แค่ 20% นอกนั้นเป็น ส.ส.ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น

          ยิ่งทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ยิ่งทำให้นักเลือกตั้งหน้าเก่าแห่เข้ามาพึ่งใบบุญ และตามมาด้วยการเกิดขึ้นของกลุ่มก๊วนภายในพรรคมากกว่า 10 กลุ่ม

          บรรดานักคิด นักฝันจำนวนหนึ่งที่ร่วมก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทยมาแต่แรกเริ่ม ก็ถอยห่าง เนื่องจากนักเลือกตั้งจอมเก๋าเข้าประชิดทักษิณ

          อำนาจและวัฒนธรรมการเมืองอุปถัมภ์ ได้นำทักษิณไปสู่การถูกยึดอำนาจโดยคณะทหาร ซึ่งทักษิณก็ยังไม่เข้าใจเหตุปัจจัย ปล่อยให้น้องสาวคนหนึ่ง ละเลิงอำนาจในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงได้เกิดการยึดอำนาจรอบสอง

          สำหรับ “ธนาธร” จะต่างจากทักษิณ ตรงที่เขาเชื่อใน “วัฒนธรรมการเมืองก้าวหน้า” และการเติบโตของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ในยุโรป กลายเป็นความฝันของธนาธรและเพื่อนพ้อง

          ธนาธรกำลังจะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่จุดแตกหักทางอุดมการณ์ ด้วยวัฒนธรรมการเมืองก้าวหน้า และการเผชิญหน้ารอบใหม่อาจรุนแรงกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ