คอลัมนิสต์

บิ๊กไบค์ "จรวดคู่ใจ"หรือ"มัจจุราชติดล้อ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุบัติเหตุรถบิ๊กไบค์ชนประสานงากับมอเตอร์ไซค์รุ่นเล็กบนสะพานพระพุทธยอดฟ้า เมื่อตีสามวันที่ 18 กันยายน 2561 มีคนตาย 2 คน เป็นคนขับทั้งคู่ 

 

          เช้าวันรุ่งขึ้น ทีวี เฟซบุ๊ก และสื่อโซเชียลทุกค่ายจั่วหัวเป็นข่าวใหญ่ เพราะสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทธรรมดา แต่เกิดจากความโลดโผน คึกคะนองของคนขี่บิ๊กไบค์ที่มีอายุแค่เพียง 19 ปี แถมมีดีกรีเป็นนักแสดงตัวประกอบภาพยนตร์แนวตลกเรื่อง “หลวงพี่แจ๊ส 4G” พ่วงท้าย

          ในโซเชียล ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการสื่อสารแบบสองทาง การวิพากษ์วิจารณ์จึงดุเด็ดเผ็ดร้อนมากกว่าสื่อกระแสหลัก ดังนั้นหลายความเห็นที่นอกเหนือจากการร่วมแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของครอบครัวทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงพุ่งประเด็นไปที่ “ฐิติวัสส์” หรือ “ชาย ธีรภาพ” นักแสดงตัวประกอบหนัง “หลวงพี่แจ๊ส 4G” ว่า เป็นต้นเหตุของความตาย? 

          เพราะเมื่อดูจากคลิปวิดีโอในกล้องวงจรปิดจะเห็นว่า เขาขี่บิ๊กไบค์ “คาวาซากิ Z 900” ในลักษณะ “ยกล้อ” ก่อนวิ่งกินเลนไปชนประสานงากับรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ “ยามาฮ่า นูโว” จนกระเด็นไปถูกรถเมล์ทับตายคาที่ ส่วนตัวเขาก็ไม่รอดด้วยเช่นกัน

          แต่ถึงกระนั้น ประเด็นนอกเหนือจากการโทษกันไปมาว่าใครผิดใครถูก กลับมีแง่คิดดีๆ ที่มีการพูดถึงกันมากคือเรื่อง “ความแรงของบิ๊กไบค์กับอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม” 

 

บิ๊กไบค์ "จรวดคู่ใจ"หรือ"มัจจุราชติดล้อ"

 

          สาระของประเด็นนี้อยู่ที่ว่า การขับขี่รถบิ๊กไบค์ไม่ใช่ว่าใครมีเงินหาซื้อก็มาขี่ได้ทุกคน แต่การขี่รถบิ๊กไบค์นั้นต้องมีประสบการณ์และทักษะในการขี่รถจักรยานยนต์เป็นอย่างดี เพราะด้วย ซีซี หรือขนาดของเครื่องยนต์ที่มีความแรงกว่ามอเตอร์ไซค์ตลาด แถมน้ำหนักและขนาดของตัวรถก็สูงใหญ่กว่ามาก ฉะนั้นผู้ขับขี่นอกจากจะต้องมีความแข็งแรงแล้ว ยังต้องมี “ไหวพริบ” ไม่เช่นนั้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินอาจควบคุมรถไม่อยู่ เช่นกรณีของ “ฐิติวัสส์” และอีกหลายๆ กรณีที่เคยเป็นข่าว 

          ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบิ๊กไบค์บนท้องถนน ไม่ว่าจะเกิดกับผู้ขับขี่เองหรือเป็นต้นเหตุสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น ที่ระยะหลังปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งนี่เองทำให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม จำต้องหาแนวทางป้องกันด้วยการแยกใบขับขี่บิ๊กไบค์กับมอเตอร์ไซค์ตลาดเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

          ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพิ่งมีมติเห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบกปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการขอต่ออายุ และการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2548 ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า


          “การปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นการควบคุมตัวรถในแต่ละขนาดกำลัง ซีซี ของเครื่องยนต์ รวมถึงการกำหนดวุฒิภาวะในการรับผิดชอบของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บนท้องถนน”

          สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก แจกแจงเหตุผลที่ต้องแยกสอบใบขับขี่รถบิ๊กไบค์กับมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก โดยรถบิ๊กไบค์ที่ว่านี้จะต้องมีขนาดกำลังเครื่องยนต์เกิน 400 ซีซีขึ้นไป ขณะที่ผู้ขับขี่ที่จะขอสอบใบอนุญาตจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายจราจร และมีทักษะในการขับรถบิ๊กไบค์

          การแก้กฎหมายแยกใบขับขี่บิ๊กไบค์ ในสายตาสิงห์มอเตอร์ไซค์ ตอนนี้ดูเหมือนไม่แฮปปี้เอาเสียเลย แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ในเมื่อมีตังค์อยากขี่บิ๊กไบค์ และถ้าเห็นว่าฝีมือถึงขั้น การอัพเกรดสอบใบขับขี่ใหม่ก็ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว  ในขณะที่ชมรมหรือสมาคมบิ๊กไบค์ที่ชื่นชมความแรงและรักการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถขนาดใหญ่หลายๆ กลุ่ม ต่างขานรับกับมาตรการนี้เป็นอย่างดี เพราะการแยกใบขับขี่บิ๊กไบค์ ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนท้องถนน ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของบิ๊กไบค์คนเดียว

 

บิ๊กไบค์ "จรวดคู่ใจ"หรือ"มัจจุราชติดล้อ"

 

          อธิบดีกรมการขนส่งทางบก บอกว่า การแก้กฎหมายก็เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนกรณีผู้ขับขี่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์เดิมแล้วมีรถบิ๊กไบค์ ก็ต้องเข้ามาฝึกอบรมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพิ่มเติมเช่นกัน ก่อนที่จะได้รับใบขับขี่ใหม่และถือใบเดียวเท่านั้น ไม่ต้องมี 2 ใบ

          สำหรับหลักสูตรการอบรมจะมีการเพิ่มชั่วโมงการอบรมมากขึ้น มีการปรับข้อสอบข้อเขียนที่เพิ่มเกี่ยวกับกฎหมายจราจร กฎหมายรถยนต์ กฎหมายขนส่ง การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ และเครื่องหมายจราจร ซึ่งปัจจุบันผู้มาขอรับใบขับขี่ต้องสอบข้อเขียน 50 ข้อ และต้องสอบผ่าน 45 ข้อ ส่วนอายุต้องมีเกณฑ์ 18 ปีขึ้นไป เพราะรถมีขนาดใหญ่ขึ้น ต่างจากเดิมผู้ขอรับใบขับขี่รถจักรยานยนต์อายุ 15 ปี ก็สามารถมาทำใบขับขี่ได้แล้ว

          อย่างไรก็ดี ช่วงที่การแยกใบขับขี่บิ๊กไบค์ยังไม่มีผลบังคับใช้ บนท้องถนน ณ เวลานี้ ก็ถือว่ายังมีผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์ที่ยังไม่มีความชำนาญอยู่มากพอสมควร แต่จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่บิ๊กไบค์ พบว่าเว็บไซต์หลายๆ แห่งมีการนำเสนอข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนซิ่งที่ต่างกันไป

          อย่างเว็บไซต์ GreatBiker.com และ rideapart.com แนะนำเทคนิคการขับขี่บิ๊กไบค์ในเมืองอย่างปลอดภัย เริ่มจาก

          1.ทำให้รถคันอื่นบนท้องถนนมองเห็นคุณชัดๆ ด้วยการสวมชุดที่มีสีสะท้อนแสง หรือตกแต่งรถด้วยสติกเกอร์สะท้อนแสงบางชิ้น เพราะถ้าใส่ชุดหนังสีดำเข้มทั้งตัว รวมไปถึงรถก็สีดำดุ ไม่เว้นแม้กระทั่งหมวก ตามที่นิยมกัน เวลาพลบค่ำหรือตอนกลางคืนจะทำให้รถคันอื่นมองไม่เห็นและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า

          2.พยายามขับขี่ให้อยู่ในที่โล่งเท่าที่จะทำได้ โดยเวลาขับขี่เราไม่ควรพาตัวเองซอกแซกไปตามช่องของรถยนต์มาเกินไป เพราะเวลาที่เราจะโผล่ออกมาจากช่องแต่ละทีอาจมีโอกาสที่รถอีกฝั่งมองไม่เห็น ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกขับขี่ในโซนที่เปิด หรือโล่งกว่า เพื่อให้ทั้งมุมมองของเราเองหรือจากรถคันอื่นนั้นเห็นชัดเจนที่สุด

          3.มอบรอบคัน การมองให้รอบคันเวลาขับขี่บิ๊กไบค์อย่ามองไปแค่ข้างหน้าอย่างเดียว ให้มองรอบๆ ด้านเท่าที่จะทำได้ คือนอกจากด้านหน้าแล้วก็เหลือบมองกระจกหลังบ้าง เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรอยู่รอบๆ ตัวเรา มีใครกำลังจี้ก้น หรือพยายามกำลังจะแซงออกมาหรือเปล่า

          4.พยายามมองหาช่องในการหลบหลีกเสมอ ในการขับขี่ในเมืองนั้น มีช่อง มีซอย ที่เป็นมุมอับสายตาจากการถูกรถด้านหน้าบดบัง เมื่อมีรถสวนมาในระยะกระชั้นชิดจะหลบไม่ทัน ดังนั้นการมองหาช่องทางในการหลบหลีกเสมอจะช่วยให้มีโอกาสเบี่ยงรถหลบได้ทัน

 

บิ๊กไบค์ "จรวดคู่ใจ"หรือ"มัจจุราชติดล้อ"

 

          5.ระวังจุดอับสายตาจากรถคันอื่น หมายความว่า เวลาที่กำลังจะแซงรถยนต์ด้านหน้า อย่าตั้งสมมุติฐานว่าเขาจะมองเห็นเราทุกครั้งไป เพราะว่ารถยนต์โดยปกติจะมีมุมอับสายตาอยู่มุมหนึ่ง ที่ไม่สามารถมองเห็นรถที่ตามหลังมาจากทั้งกระจกหลังและกระจกข้างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถมอเตอร์ไซค์ที่คันไม่ใหญ่เท่ารถยนต์ด้วยแล้ว ดังนั้นควรเผื่อให้เหลือในจังหวะนี้ไว้ด้วย

          6.ระมัดระวังเวลาออกตัวจากสี่แยก การออกตัวจากไฟแดงเร็วที่สุดไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยที่สุด หากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นอย่างเช่นมีรถฝ่าไฟแดงมาเรามีโอกาสถูกชนเป็นคันแรกสูงมาก ดังนั้นควรดูให้แน่ใจก่อนว่ารถจากอีกฝั่งที่เพิ่งติดไฟแดงไปนั้นจอดสนิทกันหมดทุกคันแล้วหรือเปล่า ก่อนที่จะออกตัว

          7.เลือกวิ่งในเลนที่เหมาะสม ในกรณีขี่รถบนถนนหลวง หรือต่างจังหวัดที่มีการใช้ความเร็วค่อนข้างสูง หรือมีรถบรรทุกเยอะ  เราอาจมองไม่เห็นว่าข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถตามหลังรถบรรทุก และทางที่ดีควรแซงให้ขาดไปเลยจะดีกว่า หรือว่าหลีกเลี่ยงการวิ่งแทรกกลางระหว่างรถยนต์สองคัน เพราะการทำแบบนั้นจะไม่เหลือที่ให้เราหลบหลีกได้เลย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ