คอลัมนิสต์

"อย่าเพิ่งถามถึงอนาคต ควรถามว่าวันพรุ่งนี้ประชาชนต้องการอะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สัมภาษณ์​ ภูมิธรรม เลขาฯ พรรคพท."อย่าเพิ่งถามถึงอนาคต ควรถามว่าวันพรุ่งนี้ประชาชนต้องการอะไร"

 
          22 พฤษภาคม 2557 คือวันยึดอำนาจ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศ อดีตรมว.กลาโหมผู้หญิงคนเเรกของประเทศ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลขหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เวลา 49 วันในการหาเสียงเป็นผู้บริหารประเทศ  เเม้ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาไปเมื่อ 9 ธันวาคม 2556 ก็ตามเเต่ปรากฏการณ์การเมืองยุคนารีขี่ม้าขาวกลับกลายเป็นประวัติศาสตร์หลากมุมที่บังเกิดขึ้น....

          เเละเเล้ว 24 กุมภาพันธ์ 2562 คือปลายทางของการเปิดศักราชการเมืองไทยผ่านการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
 
          พรรคเพื่อไทยที่เเปรสภาพมาจากพรรคพลังประชาชนเเละพรรคไทยรักไทย (สองพรรคนี้ถูกยุบพรรคเพราะถูกวินิจฉัยว่า กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายจนส่งผลให้ต้องยุบพรรค) การหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา นโยบายประชานิยมผ่านโครงการต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้ เช่นโครงการกองทุนหมู่บ้านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และบ้านเอื้ออาทร แต่หลายโครงการมีปัญหาในการดำเนินการและมีคำถามเรื่องความโปร่งใส และความพร้อมตรวจสอบ  รวมทั้งโครงการจำนำข้าวที่เป็นมหากาพย์ความเสียหายรุนเเรงครั้งหนึ่งของประเทศเเม้จะมีผู้ต้องกระทำความผิดชดใช้ความผิดไปเเล้วก็ตาม....
 
          เเต่ในฐานะพรรคที่ผ่านการเลือกตั้งมาโดยตลอดในช่วงเกือบยี่สิบปีมานี้ เเม้จะชนะเเละได้เป็นเเกนนำจัดตั้งรัฐบาลใช่ว่าจะสะดวกโยธินไปเสมอ...เเละยิ่งเจอกฎเหล็กที่คสช.ดีไซน์ไว้เยี่ยงนี้ เเม้ล่าสุดการคลายล็อกจะเกิดขึ้นเเล้ว เเต่มันก็ยังไม่สุด

          ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย สะท้อนมุมมองหลังการคลายล็อกในคราวนี้รวมถึงอนาคตของพรรคในช่วงนับจากนี้

          สถานการณ์หลังคลายล็อกการเมืองเเล้วจะเป็นอย่างไร
          “ถามว่าช่วงเกือบห้าปีที่รัฐบาลเเละคสช.เข้ามา รัฐบาลเเละคสช.ทำงานเเละสื่อสารกับประชาชนเพียงด้านเดียว คุมกำเนิดพรรคการเมืองมาในช่วงเวลานั้น ฉะนั้นเมื่อมีการใช้ ม.44 (คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) เเละพ.ร.ป.สองฉบับเเล้ว (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2561 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561) พรรคขอไปพบประชาชนบ้างเพื่อสอบถามความต้องการจะได้กำหนดเป็นนโยบายพรรคในช่วงหาเสียง อย่ากลัวความจริง อย่ากังวลว่าประชาชนจะไขว้เขวเพราะนักการเมือง
 
          ขอถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าคสช.รวมทั้ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กลัวอะไรเพราะทำงานมาในช่วงเวลาดังกล่าว หากเชื่อว่ามีผลงานเเละประชาชนยอมรับก็ไม่ควรกังวลใดๆ วันนี้ถึงเวลากลับสู่ภาวะปกติ ต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับหาเสียงเเละเลือกตั้งที่ต้อง FREE and FAIR เเละเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจอนาคตของตัวเอง  หากพล.อ.ประยุทธ์มั่นใจในสิ่งที่ดำเนินการ ควรเลือกตั้งตามกำหนด เเละหากประชาชนไว้วางใจให้กลับมาทำงานผ่านการเลือกตั้งตรงนี้คือเกียรติภูมิที่ประชาชนมอบให้พล.อ.ประยุทธ์ นานาชาติก็ยอมรับ ตรงนี้คือเหตุผลที่ไม่ควรดึงเวลาเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไป

          การเมืองควรเปิดให้ทุกฝ่ายพบประชาชนเเละเเสดงความเห็น ไม่ควรใช้โอกาสฝ่ายเดียว สังคมจะได้มีโอกาสถกเถียงเพื่ออนาคตอย่างเต็มที่ ระบบการเมืองไม่ควรรับใช้ฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว เพราะอำนาจคือหัวโขน  หากกกต.หรือคสช.เรียกพรรคต่างๆ ไปพบเพื่อชี้เเจง พรรคพร้อมทันทีเเละหากได้รับอนุญาตจะไปพบประชาชนเร็วที่สุด

          ที่ผ่านมาเราอยู่ในช่วงว่างเว้นประชาธิปไตย ประเทศอยู่ในภาวะความไม่ชัดเจน ปัญหาการลงทุนเเละความร่วมมือจากนานาชาติระงับไปเพราะไม่มั่นใจ เเต่เมื่อมีการประกาศชัดเเล้วว่าปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ดัชนีในตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นทันที ตรงนี้คือสิ่งชี้ว่านานาชาติอยากเห็นเมืองไทยมีการเลือกตั้ง สังคมไทยที่ผ่านมามีปัญหาคือความไม่เเน่นอน ตอนนี้อยู่ในช่วงสุดท้ายของภาวะไม่ปกติเเล้ว ถามว่าวันนี้เป็นต้นไประบบของบ้านเมืองจะเดินไปในเเนวทางใด เมื่อมีการปลดล็อกหรือคลายล็อกเเล้ว ควรปล่อยให้องคาพยพต่างๆ เดินหน้า   เเต่ไม่มั่นใจว่าตอนนี้คสช.เเละรัฐบาลกังวลหรือกลัวอะไรกับความไม่สงบหรือต้องการประโยชน์จากตรงนี้ เพราะเมื่อรัฐบาลมั่นใจในผลงาน เช่น ตัวเลขจีดีพีที่สูงสุด เเสดงว่าสังคม บ้านเมือง เศรษฐกิจมันดีขึ้น เมื่อจีดีพีออกมาเเบบนี้เเล้วจะกังวลอะไรกับความไม่สงบ ตรงนี้มันย้อนเเย้งกันเองกับตัวเลขจีดีพีที่รัฐบาลบอกไว้ เพราะหากสถานการณ์ไม่สงบ คสช.ก็ยังต้องอยู่ทำหน้าที่เเละออกจากอำนาจไม่ได้ เวลาที่เหลือราวเเปดเดือนที่เหลือควรปลดล็อกเพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ

          หากประชาชนไว้ใจรัฐบาลชุดนี้เเละเห็นผลงาน เลือกตั้งครั้งหน้าคือสิ่งพิสูจน์ สิ่งใดที่คสช.ทำไว้ดี รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็เสริมต่ออยู่เเล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาก็ต้องเเก้ไข เพราะทุกอย่างประชาชนคือคนตัดสินใจเลือกอนาคตของตัวเองด้วยการเลือกตั้ง”

          โรดเเม็พเเละยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีที่คสช.วางไว้นั้น คาดว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการอย่างไร
           “รัฐธรรมนูญ โรดเเม็พเเละยุทธศาสตร์ชาตินั้น มองว่าบางจุดยังไม่มีความชัดเจน บางจุดยากที่จะปฏิบัติได้ในความเป็นจริง สิ่งที่คสช.ร่างขึ้นมานั้นประเทศเดินหน้าได้ยากเเละไม่ทันกับโลกวันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เเม้ผ่านฉันทามติเเต่ก็มีปัญหา เพราะเป็นการรณรงค์โดยคสช.ฝ่ายเดียวเเต่เมื่อเป็นกติกาสูงสุดของบ้านเมืองก็ต้องยอมรับ

          ทันทีที่พรรคได้รับโอกาสจากประชาชนจะเเก้ไขรัฐธรรมนูญเเม้บางเงื่อนไขจะกระทำได้ยาก

          ส่วนยุทธศาสตร์ชาตินั้น มันเสมือนเครื่องเหนี่ยวรั้งพรรคการเมือง เพราะเเทบจะทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งนี้ต้องไม่ทำให้ขัดข้องในการทำงาน เพราะทุกอย่างต้องทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี

          ยอมรับว่าหนทางเเก้ไขมันยากเพราะคนที่มีส่วนยกร่างเเละนำพาประเทศในช่วงที่ผ่านมาก่อให้เกิดปัญหานี้ ขอเรียนว่าทุกอย่างนั้น ทุกฝ่ายควรมีความเห็นต่างกันได้เเละควรยอมรับฟังกัน หากสังคมมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาก็  เเสดงว่ามองในมุมเดียวกับพรรค เเม้มันยากที่จะเเก้ไข เเต่ตนกับพรรคยังมองเห็นความหวังในเรื่องนี้”
 
          หัวหน้าพรรคคนใหม่คือใคร
          “เร็วไปที่จะตอบ เพราะยังไม่มีการประชุมพรรคเลย”

          กังวลกับการหาเสียงหรือไม่ว่า จะใช้นโยบายใดหาเสียงเเละกังวลหรือไม่ว่าบางฝ่ายอาจโจมตีนโยบายพรรคเพื่อไทยที่สร้างความเสียหายกับงบประมาณ (โครงการรับจำนำข้าว ในช่วงสองปีเศษสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามคำตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท)
 
          “วันนี้ยังทำอะไรไม่ได้เพราะการประชุมพรรคยังไม่เกิดขึ้น ปัญหาในวันนี้ยังไม่ควรถามพรรคการเมือง ควรถามฝ่ายที่มีอำนาจว่าทำไมกลับสู่ภาวะปกติช้า เพราะประชาชนยังไม่กลัวการเลือกตั้งเลย

          เรื่องนี้ใครได้ประโยชน์ ชาวนาใช่หรือไม่ เเละคนที่เกี่ยวข้องนั้นกระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการเเล้ว

          การเลือกตั้งคือบทพิสูจน์ว่าประชาชนจะวางใจให้ใครเเละพรรคใดทำงาน เเละจะได้รู้ว่าใครทำถูก ใครทำผิด”

          การเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ในการทำงานได้หรือไม่(ร่วมตั้งรัฐบาล/ร่วมกันเป็นฝ่ายค้าน)
 
          “ขอย้ำว่า วันนี้ทุกพรรคย้ำตรงกันคือให้กลับสู่ภาวะปกติ อย่าเพิ่งถามถึงอนาคต ควรถามว่าวันพรุ่งนี้ประชาชนต้องการอะไร หากพอใจกับห้าปีในผลงานของคสช.หรือต้องการสิ่งที่ดีกว่าในวันนี้ ควรสอบถามประชาชนมากกว่า เพราะเวลาที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนเเปลงชีวิตหรือพอใจกับห้าปีที่ผ่านมา”

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป  2554 มีจำนวนส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน ซึ่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 (ยุบสภาวันที่ 9 ธันวาคม2556)  พรรคเพื่อไทยได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 61 คน กทม. 9 คน ภาคกลาง 47 คน ภาคเหนือ 35คน ภาคอีสาน 104 คน ภาคตะวันตก 2 คน ภาคตะวันออก 6 คน รวม 264 คน

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2550 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปหลังการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎร 480 คน โดยเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบสัดส่วน 80 คน  พรรคพลังประชาชนได้ส.ส.ระบบเขต 199 คน เเบบสัดส่วน 34 คน รวม 233 คน

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป  2548 มีขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 หลังพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลครบวาระสี่ปี (เป็นครั้งเเรกในประวัติศาสตร์ที่พรรคการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งอยู่ครบวาระ)

          พรรคไทยรักไทยได้ส.ส.จากระบบเขตเเละบัญชีรายชื่อรวม 375 เสียง เเละเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งเเรกในประวัติศาสตร์

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2544 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 เป็นการเลือกตั้งส.ส. ครั้งแรกในระบบใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน  พรรคไทยรักไทยในตอนนั้นมีส.ส.รวม 250 คนเเบ่งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ 48 คน ส.ส.เขต 202 คน (จากนั้นมีการยุบรวมพรรคต่างๆ รวมทั้งดึงส.ส.จากบางพรรคเข้ารวมกับพรรคไทยรักไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2548)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ