คอลัมนิสต์

วิวาทะว่าด้วย "ไอดอล" ทางเลือกกับความรับผิดชอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิวาทะว่าด้วย "ไอดอล" ทางเลือกกับความรับผิดชอบ : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...   อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

          วิวาทะบนปรากฏการณ์ของ “ไอดอล” อย่าง “เฌอปราง อารีย์กุล” หรือ “กัปตันเฌอปราง” แห่งวง BNK48 ได้ขยายวงกว้างเป็นประเด็นถก


          เถียงว่า ผู้ที่ถูก “อนุมาน” ว่าเป็นคนของประชาชนทำอะไรได้บ้างและขอบเขตอยู่ที่ไหน

          แรกเริ่ม “เฌอปราง” ถูกมองเป็นไอดอลตัวจริง เพราะนอกจากจะมีหน้าตาที่น่ารัก และมิติทางวงการบันเทิงที่น่าติดตาม ในอีกมุมหนึ่งเธอถูกยกย่องไม่น้อยจากปูมหลังที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ จากสาขาที่เธอกำลังศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดได้ถูกตอกย้ำผ่านกระบวนการสร้าง เธอจึงดูครบเครื่องสำหรับคนรุ่นใหม่ไม่น้อย

          เส้นทางไอดอลของเธอเรียกได้ว่ามีแต่ขาขึ้น โดยไม่ต้องประสบกับปัญหาหลายๆ อย่างเช่นที่ดาราหรือไอดอลคนอื่นเคยเจอ นั่นเพราะต้นสังกัดของเธอประคบประหงมเป็นอย่างดี การเข้าถึงเธอและกลุ่มของเธอนั้นถูกจำกัดพอสมควร เพราะนั่นหมายถึงขุมทรัพย์มหาศาลจากอุตสาหกรรมบันเทิง จวบจนกระทั่งเส้นทางของเธอมาบรรจบกับวงการการเมืองจากการถูกเชิญให้มาร่วมรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่หากว่ากันไปแบบไม่อ้อมค้อมนี่คือรายการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาลช่วงทุกหกโมงเย็น

          รายการดังกล่าวถือว่าเป็นรายการที่คนเบือนหน้าหนีลำดับต้นๆ และไม่ว่าจะปรับรูปแบบอย่างไรความสนใจก็ยังไม่กระเตื้อง หลายคนอาจตีโจทย์ว่าเป็นเพราะรูปแบบรายการ รูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา แต่หากว่ากันตามจริงแล้ว ลักษณะและจุดประสงค์ของรายการเองที่ทำให้คนไม่ใส่ใจที่จะสนใจ

          ที่สุดจึงมีใครบางคนหวังจะแก้เกมและดึงเรตติ้ง โดยอาศัยดาราระดับแม่เหล็กมาเป็นจุดสนใจ หวังว่าแฟนคลับจะหันมาสนใจดูรายการบ้าง แม้จะดูแค่ตัวพรีเซนเตอร์เป็นหลักก็ยังดี เพราะอย่างน้อยก็เอาตัวเลขไปโชว์กับผู้มีอำนาจได้บ้าง เพราะใครเล่าจะสนใจเนื้อหา

          ดาราเบอร์ใหญ่หลายๆ คนจึงถูกติดต่อเข้ามาให้ร่วมรายการ ไม่ว่าจะเป็น เฌอปราง อารีย์กุล, ณเดชน์ คูกิมิยะ, “โป๊ป" ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, “มิว" นิษฐา จิรยั่งยืน, “เต้ย" พงศกร เมตตาริกานนท์ ซึ่งทั้งหมดก็ตบเท้ากันเข้ามาร่วมรายการอย่างพร้อมหน้า ว่ากันว่าถ้าเทียบกับภาพยนตร์คนที่เชิญดาราระดับนี้ได้ก็มีแต่ “ท่านมุ้ย" ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เท่านั้น

          แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก และเอาเข้าจริงตัวดาราอาจไม่มีสิทธิเลือกด้วยซ้ำไปว่าอยากมาหรือไม่อยากมา ในสภาพเช่นนี้ใครกันเล่าจะกล้าปฏิเสธข้อเสนอเช่นว่า การที่รัฐบาลเสนอให้มาร่วมงานด้วย หากตอบรับย่อมหมายถึงช่องทางทำมาหากินในอนาคตที่จะเปิดกว้างมากขึ้น  แต่หากปฏิเสธก็ไม่สามารถมีใครบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  เหล่าผู้จัด ต้นสังกัดของดาราไอดอลเหล่านั้นจึงคล้ายได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เมื่อต้นสังกัดสั่งมา พวกเขาจะมีทางเลือกอันใดเล่านอกจากต้องทำตาม

          หากในสภาวะทางการเมืองที่แหลมคมและมีการปะทะทางความคิดเช่นนี้ ผู้จัด ต้นสังกัด และไอดอลเองก็ใช่ว่าจะมีแต่ทางได้จากรัฐบาลอย่างเดียว  พวกเขาก็ต้องมีจุดที่เสี่ยงเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าสภาพสังคมเช่นนี้ย่อมมีผู้ที่เห็นแตกต่าง และไม่พึงใจกับการที่ศิลปินซึ่งเป็นผู้ที่ถือกำเนิดและหากินจากความนิยมของประชาชนไปกระทำการทีคล้ายสนับสนุนผู้ที่พวกเขาเห็นว่ากำลังทำไม่ถูกต้อง 

          แน่นอนว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ดำรงอยู่ตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมาบนความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีทั้งดาราที่จำต้องทำตามต้นสังกัด และดาราที่เลือกข้างด้วยตนเอง ซึ่งทุกอย่างที่ทำล้วนเป็นสิทธิของแต่ละคนโดยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเลือกด้วยความ “เต็มใจ” หรือเลือกด้วยความ “จำใจ” แต่เมื่อเลือกและรับงานแล้วฟีดแบ็กที่ได้มาก็ย่อมเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องรับด้วยเช่นกัน

          ต้องไม่ลืมว่า ดารา นักร้อง ไอดอล  หรือคนในวงการบันเทิง เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถือกำเนิด และทำมาหากินบนความนิยมของประชาชน การดำรงอยู่ของพวกเขาขึ้นกับความนิยมของประชาชน ส่วนหนึ่งของพวกเขาจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ที่นิยมในตัวพวกเขา หรือที่เรียกว่า “ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ” และแน่นอนว่าผู้ที่นิยมในตัวพวกเขามิอาจเรียกร้องให้ตัวไอดอลทำอะไรตามใจที่ต้องการ สิ่งที่ผู้สนับสนุนทำได้คือหากพวกเขาทำถูกใจก็นิยมชมชอบและติดตามต่อ แต่หากเป็นไปในทางตรงข้าม ก็หมายถึงการเลิกนิยมเลิกติดตาม

          วิถีเช่นว่า ก็เกิดขึ้นกับอาชีพอื่นเช่นกัน อาทิ นักการเมือง ที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกหรือไม่เลือก ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเขา ว่ามีจุดยืนอย่างไร  หากมีจุดยืนที่ยืนออกห่างจากประชาชน ก็เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะไม่มีคะแนนในการเลือกตั้ง  ส่วนดาราหากออกจากฐานความนิยม พวกเขาก็เรตติ้งตก งานหดหาย ทุกอย่างเป็นตัวพิสูจน์ทราบได้จากการกระทำ  

          ดังนั้นเมื่อพวกเขาเลือก พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เลือก

          และมิได้หมายถึงดารา นักร้อง ไอดอล หรือนักการเมืองเท่านั้น หากยังหมายรวมถึง “สื่อมวลชน” ด้วยเช่นกัน ที่ทำมาหากินกับประชาชน หากมีจุดยืนอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคหรือประชาชนจะรับรู้รับทราบหรือพิสูจน์ได้ และเลือกที่จะเสพสื่อสำนักนั้นๆ หรือไม่ 

          ทุกการกระทำของเขาเหล่านี้ จึงต้องรับผิดชอบต่อผู้มีพระคุณของพวกเขา เพราะสุดท้ายผู้ที่ชี้ชะตาคือผู้มีพระคุณ ซึ่งทั้งหมดก็ย้อนกลับมาว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นตอบสนองต่อผู้ให้ความนิยมมากน้อยเพียงใด

          วิวาทะบนกรณี “เฌอปราง” จึงเป็นตัวสะท้อนได้อย่างดีว่า ทุกการกระทำย่อมมีผลสองด้าน และเป็นพวกเขาที่ต้องรับผิดชอบกับการเลือกด้วยตัวเอง  ขึ้นกับว่าพวกเขากำลังมองว่า ใครเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของพวกเขาก็เท่านั้นเอง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ